วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

6.ออกบวชเป็นพระฝ่ายธรรมยุต - ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

ออกบวชเป็นพระฝ่ายธรรมยุต

ข้าพเจ้าได้มาบวชฝ่ายธรรมยุต  เมื่อวันที่  24  มีนาคม  พ.ศ.2486  เวลา 17.00 น. ณ  พัทธสีมา  วัดป่าสำราญนิเวศน์  ตำบลบ้านบุ่ง  อำเภออำนาจเจริญ  จังหวัดอุบลราชธานี  โดยมี  ท่านพระครูทัศนวิสุทธิ ( มหาดุสิต  เทวิโร )  เป็นพระอุปัชฌายะท่านเป็นหลานท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ( จันทร์  สิริจนฺโท )  เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส  ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ  ได้นำหลานคนนี้ไปอุปการะตั้งแต่เล็กจนบวชเรียนที่วัดบรมนิวาสและเจริญรุ่งเรืองต่อมาในพระพุทธศาสนา  ต่อมาได้เป็นเจ้าคณะอำเภออำนาจเจริญ  พอได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปัชฌาย์ได้เพียง  5  วัน  ก็มาอุปสมบทข้าพเจ้าเป็นนาคแรก  นับว่าข้าพเจ้าเป็นนาคแรกที่สุดของท่าน  ท่านจึงได้ตั้งฉายาให้ข้าพเจ้าว่า  “กุลเชฏฺโฐ “  แปลว่า  พี่ชายคนใหญ่ที่สุดของหมู่ของพวกในวงศ์ตระกูลนี้  องค์ที่สองน้องชายคือท่านอาจารย์สิงห์ทอง  ธมฺมวโร  แห่งวัดป่าแก้วบ้านชุมพล  ซึ่งข้าพเจ้าได้ไปนั่งหัตถบาส  อยู่ด้วย


ศาลาและโบสถ์วัดป่าสำราญนิเวศน์ ต.บ้านป่า อ.อำนาจเจริญ
เป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์บวชเป็นธนนมยุตและมาท่องปาฎิโมกข์และเจ็ดตำนานที่นี่

พระกัมมวาจารย์ของข้าพเจ้าคือ  พระอาจารย์เกิ่ง  อธิมุตฺโต  ท่านอาจารย์ได้สั่งกำชับให้ข้าพเจ้าท่องปาฏิโมกข์ให้ได้หมดภายใน  1 เดือน  ทั้งสั่งให้ท่องเจ็ดตำนานให้ได้  พร้อมกันในเวลาเดียวกันด้วย

ท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺโต


ข้าพเจ้าได้ใช้ความอุตสาหะพยายาม  ตะเกียกตะกายอย่างเต็มที่เพื่อท่องปาฏิโมกข์  และเจ็ดตำนานให้ได้ทันกำหนดภายใน  1  เดือน  ตามที่ท่านอาจารย์สั่ง  การท่องส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างจากการปฏิบัติธรรมในตอนกลางวันและเวลากลางคืนอันเป็นเวลาสงัดโดยใช้ตะเกียงกระป๋องนมไส้ด้ายจุดไฟ  มีแสงสว่างริบหรี่  พออ่านออกเห็นตัวหนังสือเท่านั้น  ท่านให้น้ำมันก๊าด  1  ขวดแม่โขง  บอกว่าให้ใช้เท่านั้นแหละข้าพเจ้าก็จำกัดใช้เพียงแค่นั้นจริง ๆ  วันที่ท่านเริ่มสั่งให้ท่องนั้น   คือวันขึ้น  1  ค่ำ  เดือน  5  บอกว่าครบ  1  เดือน  คือเดือน  6  ขึ้น  1  ค่ำ  ให้มาสอบนะ  ให้มาสวดให้ฟังนะ

ข้าพเจ้าก็รีบเร่งท่องเป็นการใหญ่  ภายในเวลาจำกัด  1  เดือนนั้น  พอถึงขึ้น  1 ค่ำ  เดือน  6  ท่านก็เรียกข้าพเจ้าให้ไปทดสอบ  โดยให้ท่องให้ท่านฟังทั้งปาฏิโมกข์และเจ็ดตำนาน  ปรากฏว่าข้าพเจ้าสามารถสวดให้ท่านฟังได้อย่างคล่องแคล่ว  แม้เจ็ดตำนานก็ได้  แม้ปาฏิโมกข์ก็ได้ ท่านจึงออกปากชมว่า  “ แหม  ผมไม่นึกเลยว่า  จะท่องได้ถึงเพียงนี้  แต่ตัวผมเอง  ก็ยังทำไม่ได้เร็วขนาดนี้เลย  ผมพูดไปเช่นนั้น   ก็เพื่อลองเชิงดูต่างหาก “ 

ดังนั้นภายในเดือนที่สองนั้นเอง  ข้าพเจ้าก็สามารถแสดงปาฏิโมกข์ได้อย่างเรียบร้อย  โดยใช้เวลาสวดเพียง  40  หรือ  45  นาทีเป็นอย่างช้า  การแสดงปฏิโมกข์นี้ข้าพเจ้าได้สวดตลอดมา – ตั้งแต่บวชพรรษาที่  1 จนถึงพรรษาที่  20 จึงได้ลดละลงบ้าง

ท่านพระอาจารย์เกิ่ง  อธิมุตฺโต  ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในทางธุดงค์ปฏิบัติมาก  ท่านสอนว่า  พระบวชใหม่นี่ต้องเดินจงกรมมาก ๆ นะ  นั่งมาก ๆ นะ  นอนไม่ได้นะ – ท่านกำชับอย่างเด็ดขาด  และอย่าไปกินให้อิ่มนะ

ข้าพเจ้าจึงพยายามปฏิบัติตามคำสอนของท่านอาจารย์   ตั้งใจทำความเพียรอย่างขะมักเขม้น  กล่าวคือเดินมาก  นั่งมาก  ฉันน้อย บางวันก็ฉัน  บางวันก็ไม่ฉันสลับกันไป  จนกระทั่งวันหนึ่งท่านอาจารย์คงเห็นว่าข้าพเจ้าชักจะซูบผอมเกินไป  ท่านจึงทักว่า – พระบวชใหม่  อย่าไปอดข้าวมากนักซี  ....... ธาตุมันจะเสีย  ธาตุมันจะพิการ  ให้ฉันข้าวเสียบ้าง

ท่านสั่งเช่นนั้น  ข้าพเจ้าจึงต้องผ่อนฉันอาหารบ้าง  พอให้ได้เยียวยาธาตุขันธ์จำได้
ว่า  ปีที่ข้าพเจ้าอุปสมบทนั้น  เป็นปีที่มีการประชุมเพลิงท่านพระอาจารย์เสาร์  กันตสีโลนั่นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น