วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

11.พรรษาที่ 4 พ.ศ. 2489 อยู่ด้วยท่านพระอาจารย์มั่น - ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ




พรรษาที่  4  พ.ศ.  2489
อยู่ด้วยท่านพระอาจารย์มั่น
ณ  วัดป่าบ้านหนองผือ   อำเภอพรรณานิคม

      ดังได้กล่าวมาแล้ว  ว่าพอออกพรรษาที่  3  ได้เพียง  5  วัน  ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารก็มารับข้าพเจ้านำไปฝากให้อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  ที่วัดป่า  บ้านหนองผือ  อำเภอพรรณานิคม  จังหวัดสกลนคร  ข้าพเจ้าได้มีโอกาสศึกษาอบรมอยู่กับท่านได้ฟังโอวาทของท่าน  ตลอดฤดูแล้ง  จนกระทั่งถึงเวลาเข้าพรรษาของปีใหม่  และได้อธิษฐานพรรษาอยู่กับท่านจนตลอดพรรษาที่  4
 
     โอวาทของท่านส่วนใหญ่  ล้วนแต่แนะนำให้ประพฤติปฏิบัติทางวินัยและธุดงค์ให้เคร่งครัด  การภาวนา  ท่านก็ให้พิจารณากายเป็นใหญ่  คือ กายาคตานุสติ  ให้มีสติน้อมเข้ามาพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งตามที่ถูกกับจริตนิสัยของตน  หรือถ้าหากจิตมันไม่สงบ  มีความฟุ้งซ่าน  ท่านก็ให้น้อมนึกด้วยความมีสติ  ระลึกคำบริกรรมภาวนาว่า  พุทโธ – พุทโธ  เมื่อจิตสงบแล้วท่านก็ให้พักพุทโธ ไว้ให้อยู่ด้วยความสงบแต่ก็ต้องให้มีสติ

     ทำให้ชำนิชำนาญ  เมื่อชำนาญด้วยการบริกรรม  หรือ  ชำนาญด้วยความสงบแล้ว  ท่านก็ให้มีสติ  น้อมเข้ามาพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งที่ถูกจริตนิสัยของตนด้วยความมีสติ  เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้วก็ให้สงบ  เมื่อสงบพอสมควรแล้วก็ให้พิจารณาด้วยความมีสติทุกระยะ  มิให้พลั้งเผลอเมื่อจิตมันรวม  ก็ให้มีสติระลึกรู้ว่าจิตของเรารวม  อยู่เพราะจิตหรืออิงอามิสคืออิงกรรมฐาน  หรืออิงอารมณ์อันใดอันหนึ่งก็ให้มีสติรู้  และอย่าบังคับจิตให้รวม  เป็นแต่ให้มีสติรู้อยู่ว่าจิตรวม  เมื่อจิตรวมอยู่ก็ให้มีสติรู้  และอย่าถอนจิตที่รวมอยู่  ให้จิตถอนออกเอง

     พอจิตถอน  ให้มีสติน้อมเข้ามาพิจารณากายส่วนใดส่วนหนึ่งที่ตนเคยพิจารณาที่ถูกกับจริตนิสัยของตนนั้น ๆ อยู่เรื่อยไปด้วยความมีสติ  มิให้พลั้งเผลอ  ส่วนนิมิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นนิมิตแสดงภาพภายนอกก็ตาม  หรือเป็นนิมิตภายในซึ่งเป็นธรรมะผุดขึ้น  ก็ให้น้อมเข้ามาเป็นอุบายของกรรมฐาน  ของวิปัสสนา  คือ  น้อมเข้ามาให้สู่ไตรลักษณ์  ให้เห็นเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ด้วยกันทั้งหมด  คือให้เห็นว่า  สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความคิดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งทั้งปวงก็ย่อมมีความดับเป็นธรรมดา  ดังนี้  ด้วยความมีสติอยู่เสมอ ๆ อย่าพลั้งเผลอหรือเพลิดเพลินลุ่มหลงไปตามนิมิตภายนอกที่แสดงภาพมา  หรือนิมิตภายในที่ปรากฏผุดขึ้น  เป็นอุบายเป็นธรรมะก็ดี  อย่าเพลิดเพลินไปตาม  แล้วให้มีสติน้อมเข้ามาพิจารณากายให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม  ให้เห็นเป็นไตรลักษณ์  คือ  ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  มิใช่ตน  มิใช่ของตน  มิใช่ของแห่งตน  ด้วยความมีสติอยู่อย่างนั้น
   
      เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้วก็ให้พักสงบ  เมื่อสงบพอสมควรแล้วก็ให้พิจารณาด้วยความมีสติ  อยู่อย่างนี้  

      นี้เป็นโอวาทคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นโดยมากท่านแนะนำโดยวิธีนี้  แล้วข้าพเจ้าก็ตั้งอกตั้งในทำความพากความเพียรไปตามคำแนะนำของท่าน

     การอยู่ใกล้ผู้ใหญ่  ทำให้มีสติระมัดระวังตัว  ไม่กล้าพลั้งเผลอ  โดยเฉพาะการอยู่ใกล้ผู้ใหญ่อย่างท่านพระอาจารย์มั่น


อันที่จริง  สมควรจะเล่าถึงความน่าขายหน้าของพระผู้น้อยผู้หนึ่งไว้ให้เป็นอนุสรณ์  ณ  ที่นี้ด้วยจะได้ทำให้เข้าใจได้ง่ายเข้าว่า  พระที่เข้ารับการอบรมกับท่านอาจารย์ใหญ่มั่นนั้น  ควรจะต้องยิ่งสำรวมกาย  สำรวมใจ  ตั้งสติระมัดระวังมิให้พลั้งเผลอเพิ่มขึ้นเพียงไร

       เมื่อพระน้อยองค์นั้นไปอยู่วัดป่าบ้านหนองผือใหม่ ๆ ใจก็คิดตามประสาปุถุชนไม่ได้ว่า  เขาเล่าลือกันว่า  ท่านอาจารย์ของเราเป็นพระอรหันต์เราก็ไม่ทราบว่า  จริงหรือไม่  ถ้าเป็นอรหันต์จริงคืนนี้ก็ให้มีปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏด้วย

     ในคืนวันนั้นเอง  พอพระน้อยผู้นั้นภาวนา  ก็ปรากฏนิมิตเห็นท่านอาจารย์ใหญ่เดินจงกรมอยู่บนอากาศและแสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา  และเวลานอนหลับก็ยังฝันเห็นท่านเดินอยู่บนอากาศเช่นเดียวกัน

      พระน้อยผู้นั้นจึงยกมือไหว้ท่าน  และว่าเชื่อแล้ว

      อย่างไรก็ดี  หลังจากวันนั้น  พระน้อยก็เกิดคิดขึ้นมาอย่างคนโง่อีกว่า  เอ....เขาว่า  ท่านอาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของลูกศิษย์ทุกคน  จริงไหมหนอ ? เราน่าจะทดลองดู  ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของเรา   ขอให้ท่านอาจารย์ใหญ่มาหาเราที่กุฏิคืนวันนี้เถอะ

       พอคิดได้ประเดี๋ยวเดียว  ก็ได้ยินเสียงไม้เท้าเคาะใกล้เข้ามา  และกระแทกเปรี้ยงเข้าที่ฝากุฏิของพระน้อยองค์นั้น   พร้อมกับเสียงของท่านเอ็ดลั่นว่า “ ท่าน....ทำไมจึงไปคิดอย่างนั้น  นั่นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์  รำคาญเรานี่ “  

      คืนนั้น  แม้จะตัวสั่น  กลัวแสนกลัว  แต่ต่อมาพระน้อยองค์นั้น  ก็ยังดื้อไม่หาย  คืนหลังก็เกิดความคิดขึ้นอีก

      “ ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่  เป็นผู้รู้วาระจิตของเราเราบิณฑบาตได้อาหารมา  ขอให้ท่านรอเราทุกวัน ๆ ขออย่าเพิ่งฉันจนกว่าเราจะหย่อนบาตรท่านก่อน “

      เป็นธรรมดาที่พระทั้งหลาย  พอบิณฑบาตได้ก็จะเลือกสรรอาหารอย่างเลิศอย่างดีที่สุที่บิณฑบาตได้มา  สำหรับไปใส่บาตรพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่เคารพวันนั้นพระน้อยหัวดื้อองค์นั้นก็พยายามประวิงเวลากว่าจะนำอาหารไปใส่บาตรท่าน  ก็ออกจะล่าช้ากว่าเคย  จนกระทั่งหมู่เพื่อนใส่บาตรกันหมดแล้ว  จึงค่อย ๆ  ไปใส่บาตรต่อมาภายหลัง  ท่านอาจารย์ใหญ่ก็มักจะมีเหตุช้าไปด้วย  จนพระน้อยองค์นั้นหย่อนบาตรแล้ว  ท่านจึงเริ่มฉัน  เป็นเช่นนั้นอยู่หลายวันอยู่  และพระน้อยองค์นั้นก็ชักจะได้ใจ  มักอ้อยอิ่งอยู่ทุกวัน  จนเช้าวันหนึ่งท่านคงเหลืออดเหลือทนเต็มที่  ท่านจึงออกปาก

      “ ท่านจวน  อย่าทำอย่างนั้น  ผมรำคาญ  ให้ผมรอทุกวัน  ๆ ทีนี้ผมไม่รออีกแล้วนะ!! "

       เล่ามาแค่นี้  คงจะทราบแล้วว่า  พระน้อยหัวดื้อผู้นั้นคือใคร


ในพรรษาที่อยู่ร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นนั้นคืนหนึ่งข้าพเจ้าตั้งใจภาวนาทำความเพียรอย่างเต็มที่ตั้งแต่ปฐมยามคือยามค่ำเป็นต้นไป  หลังจากทำวัตรสวดมนต์แล้ว  ก็เข้าที่นั่งในกลด  อธิษฐานนั่งในกลดตั้งใจจะภาวนาไม่นอนตลอดคืน  พอจิตค่อยสงบลงๆ ก็เกิดนิมิตผุดขึ้นปรากฏในใจเป็นตัวอักขระบาลีอย่างชัดแจ้งว่า  “ ปททฺทา  ปททฺโท "  ข้าพเจ้าได้กำหนดจิตแปลอยู่ถึง  3  ครั้ง  จึงแปลได้ว่า  “ อย่าท้อถอยไปในทางอื่น  แล้วปรากฏว่า  กายของตนไหวไปเลย  จากนั้นจิตก็รวมลงสู่ภวังค์  ถึงจิตเดิมทีเดียว

      ความจริงขณะนั้น  ข้าพเจ้าก็ยังไม่รู้ว่า  จิตสู่ภวังค์และจิตเดิมเป็นอย่างไร  รู้แต่ว่า  เมื่อจิตรวมลง  ใสบริสุทธิ์หมดจด  หาสิ่งที่เปรียบได้ยากและแสนที่จะสบายมากที่สุด  เพราะจิตชนิดนั้นเป็นจิตที่ปราศจากอารมณ์  อยู่เฉพาะจิตล้วน ๆ ไม่มีอะไรเจือปน

      จิตรวมอยู่อย่างนั้นตลอดคืนยันยุ่ง  จนรุ่งเช้า  จิตจึงถอนออกรู้สึกเบิกบานทั้งกายและใจ  มีความปิติเหมือนกับตนลอยอยู่ในอากาศ   เวลาเดินไปเดินมา  ก็รู้สึกเบากายเบาใจที่สุด

      ในระยะที่จิตรวมลงไปพักอยู่เฉพาะจิต  ไม่มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเจือปนนั้นเป็นจิตที่ใสบริสุทธิ์  วางเวทนา  ความเจ็บปวดรวดร้าวไม่มีปรากฏแก่จิตเลย  คือจิตแยกออกจากธาตุ  ไม่เจือปนอยู่กับธาตุ  อยู่เฉพาะจิตล้วน ๆ   จึงไม่มีเวทนา  จิตรวมอยู่ตลอดทั้งคืนจนสว่าง  จึงถอนพอดีได้เวลาทำกิจวัตรในตอนเช้า  จัดเสนาสนะเตรียมเรื่องการบิณฑบาตร  แม้จิตจะถอนแล้วก็ตาม  แต่ความรู้สึกเบากาย  เบาใจ  ปลอดโปร่งโล่งสบาย  ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม   ข้าพเจ้าเดินไปมามีความรู้สึกคล้ายกับเดินอยู่บนอากาศ  เย็นกาย  เย็นใจ  เป็นอยู่อย่างนั้นหลายวัน

      ได้โอกาสวันหนึ่งตอนพลบค่ำ  พระเณรทั้งหลายทยอยกันขึ้นไปรับโอวาทท่านพระอาจารย์มั่น  ข้าพเจ้าก็เลยขอโอกาส  กราบเรียนเล่าเรื่องที่เป็นมาถวายให้ท่านฟัง  ทุกคืนจิตมันเป็นอย่างนั้น  ท่านพระอาจารย์มั่นฟังแล้วก็ทดสอบดู  โดยนั่งกำหนดจิตพิจารณาพักหนึ่งพอสมควร  คือ  ท่านจะตรวจดูจิตของข้าพเจ้าว่าจะเป็นจริงหรือไม่  พอตรวจดูพักหนึ่ง  ท่านก็เปล่งอุทานขึ้นว่า “ อ้อ...จิตท่านจวนนี่  รวมทีเดียวถึงฐีติจิตคือจิตคือจิตเดิมเลยทีเดียว “  ท่านชมเชยว่า  ดีนัก  ถ้ารวมอย่างนี้จะได้กำลังใหญ่  แต่ว่าถ้าสติตัวนี้อ่อน  กำลังก็จะไม่มีข้าพเจ้าก็เลยกราบเรียนต่อไปว่า  ก่อนจิตรวม  ได้เกิดนิมิตคาถา  “ ปททฺทา  ปททฺโท “  ขอนิมนต์ให้ท่านแปลให้ฟัง  ท่านพระอาจารย์มั่นเลยบอกว่า  “ แปลให้กันไม่ได้หรอก  สมบัติใครสมบัติมัน  คนอื่นแปลให้ไม่ได้  ต้องแปลเอาเอง “  

      ท่านว่าอย่างนั้น  ความจริงเป็นอุบายของท่านต้องการให้เราใช้ปัญญาแปลให้ได้เอง  นับว่าท่านใช้อุบายคมคายหลักแหลมมากที่สุด

ต่อจากนั้น  ท่านได้ย้อนมาพูดถึงเรื่องจิตรวมว่าก่อนที่จิตจะรวม  บางคนก็ปรากฏว่า  กายของตนหวั่นไหวสะทกสะท้านไป  บางคนก็จะมีภาพนิมิตต่าง ๆ ปรากฏขึ้น  เป็นภาพภายนอกก็มี  แสดงอุบายภายในให้ปรากฏขึ้นก็มี  แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละบุคคล  ถ้าเป็นผู้ไม่มีสติก็จะมัวเพลิดเพลินลุ่มหลงอยู่ในนิมิตภาพนั้น ๆ จิตก็จะไม่รวม  หากถอนออกเลย  ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์ไม่มีกำลัง  แต่ถ้าเป็นผู้มีสติดี  หากมีนิมิตภายนอก  หรือธรรมผุดขึ้นภายใน  ก็ให้น้อมเข้ามาเป็นอุบายของวิปัสสนากัมมัฏฐาน จิตก็จะรวมลงถึงฐีติจิต  เมื่อจิตรวมลงก็ให้มีสติรู้ว่าจิตของเรารวม  และไม่รู้ว่า  จิตของเรารวมลงอิงอามิสคือกัมมัฏฐานหรือไม่  หรืออยู่เฉพาะจิตล้วน ๆ ก็ให้รู้  อย่าไปบังคับให้จิตรวม  และจิตรวมแล้ว  อย่าบังคับให้จิตถอนขึ้นปล่อยให้จิตรวมเอง  ปล่อยให้จิตถอนเอง  และเมื่อจิตถอนหรือก่อนจะถอน  ชอบมีนิมิตแทรกขึ้นทั้งนิมิตภายนอกและนิมิตภายใน  ก็ให้มีสติรู้อยู่ว่านั้นเป็นเรื่องของนิมิตหรือเป็นเรื่องของอุบายอย่าไปตามนิมิตหรืออุบายนั้น ๆ ให้น้อมเข้ามาเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์  คือ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  แล้วก็ให้พิจารณากำหนดกัมมัฏฐานที่ตนเคยกำหนดไว้อย่าละเลย  ละทิ้งด้วยความมีสติอยู่

       ทุกระยะที่จิตรวม  จิตถอน  ถ้าหัดทำให้ได้อย่างนี้  ต่อไปจะเป็น  “ สันทิฏฐิโก “  คือเป็นผู้รู้เองเห็นเอง  แจ้งชัดขึ้นจะตัดความเคลือบแคลงสงสัยไม่สงสัยลังเลในพระรัตนตรัยต่อไป

นี่เป็นโอวาทคำแนะนำของท่านพระอาจารย์มั่น   ภูริทัตตะมหาเถระ

       เมื่อข้าพเจ้าได้รับโอวาทจากท่านเช่นนั้น  ก็ยิ่งทวีความตั้งใจทำความเพียรเด็ดเดี่ยวยิ่งขึ้น  รู้สึกเหมือนกับว่า  ได้มีผู้วิเศษมาชี้ประตูสมบัติให้เราแล้ว  ที่เราจะเปิดประตูก้าวเข้าไป  หยิบเอาสมบัติมาได้หรือไม่นั้นก็อยู่ที่ความเพียร  ความตั้งใจเอาจริงเอาจังของเราเท่านั้นตลอดเวลาหนึ่งปีเต็มที่อยู่ร่วมกับท่าน  ตั้งแต่หลังออกพรรษา  5  วันปีหนึ่ง  ไปบรรจบหลังออกพรรษาของอีกปีหนึ่ง  ข้าพเจ้าก็เร่งคำความเพียรอย่างเต็มสติกำลังของตน  เข้าใจว่าท่านพระอาจารย์มั่นก็คงจะเฝ้าดูการปฏิบัติและจิตของข้าพเจ้าอยู่เหมือนกัน  วันหนึ่งท่านก็ได้กล่าวว่า  ท่านได้กำหนดจิตดูท่านจวนแล้วได้ความเป็นธรรมว่า

กาเยนะ  วาจายะ  วะเจตะวิสุทธิยา
ท่านจวนเป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติธรรม



       เมื่อออกพรรษา  เสร็จกิจทุกอย่าง  ข้าพเจ้าก็กราบลาท่านอาจารย์ออกวิเวกธุดงค์  ท่านก็เลยแนะนำให้ไปอยู่ถ้ำยาง  บ้านลาดกะเฌอ  จังหวัดสกลนครทางสายกาฬสินธุ์  สมัยนั้นบ้านลาดกะเฌอ  ยังเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีเพียงสิบกว่าหลังคาเรือน  ชาวบ้านเป็นพวกชาวป่าชาวเขา  การคมนาคมติดต่อกับโลกภายนอก  ไม่มีทางรถ  เป็นทางเดินด้วยเท้าเท่านั้น  ข้าพเจ้ามุ่งหน้าไปสู่ถ้ำนั้น  ปรากฏว่าตัวถ้ำยางอยู่ห่างจากหมู่บ้านราว  2  กิโลเมตร  เป็นที่อับชื้น  อากาศเยือกเย็น  ปากถ้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันตก

       ข้าพเจ้าได้ปรารภความเพียรอยู่ในถ้ำนั้น  ถึง  7 วัน  7  คืน  โดยไม่ได้หลับนอนเลย  อาหารที่ฉันลงไปกลางคืนก็ถ่ายออกหมด  เพราะอากาศเย็นชื้นมาก  จิตมักจะรวมโดยง่าย  เกิดภาพนิมิตต่าง ๆ มากมาย  บางครั้งเดินจงกรมอยู่  จิตรวม  ก็หยุดเดิน  ยืนกำหนดจิตปล่อยให้รวม  เมื่อจิตถอนจากการรวมแล้ว  จึงเดินจงกรมต่อไป  ส่วนนิมิตภาพภายนอกและภายในที่ปรากฏในถ้ำนั้น  ก็มีเกิดขึ้นเสมอ  เมื่อกำหนดพิจารณาดูจิตของตนแล้ว  จึงรู้ว่า  นิมิตที่เกิดขึ้นนี้  ก็เนื่องจากพลังของจิตที่แส่ส่ายไปนั่นเอง  แม้ต่อมาออกจากถ้ำมาพักอยู่ที่วัดล่างวัดหนึ่ง  ขณะที่ภาวนาก็ปรากฏนิมิตเห็นหญิงมาเปลือยกายนั่งอยู่ที่ใต้กุฏิ  ครั้งแรกข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเปรต  ก็สวดมนตร์อุทิศส่วนบุญกุศลให้แต่ภาพนั้นก็ยังไม่หายไป  ยังคงปรากฏอยู่  เลยกำหนดจิตพิจารณาใหม่  ก็รู้ว่าเกิดจากพลังของจิตจึงพิจารณาเพ่งดูจิตของตน  ภาพนั้นก็เลยหายไป

       จึงรู้และเข้าใจว่า  ภาพต่าง ๆ  ที่แสดงทั้งภาพภายนอกและภาพภายในที่เป็นนิมิตปรากฏให้เห็นในขณะนั่งหลับตาภาวนานั้น  ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของจิตที่แสดงรัศมีหรือพลังออกไปหลอกลวงต่าง ๆ  เท่านั้น  ผู้ไม่มีสติปัญญา  ก็อาจจะลุ่มหลงไปตามภาพนิมิตนั้น ๆ เป็นตุให้พลั้งเผลอ  และที่สุดก็สำคัญตนว่า  ได้ญาณ  มีความรู้อย่างนั้น  อย่างนี้  มีหูทิพย์  ตาทิพย์เกิดขึ้น  เกิดเป็นทิฎฐิ  วิปลาสไปก็ได้  อาจจะเป็นเหตุให้ธรรมะแตกไปก็ได้

       จากถ้ำยาง  บ้านลาดกะเฌอ  ข้าพเจ้าก็ออกเดินธุดงค์ไปแถวภูพาน  จังหวัดสกลนคร  ไปพบท่านพระอาจารย์มหาทองสุข  สุจิตโต  ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาสสมัยนั้น  และได้ชวนท่านไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์กงมา  จิรปุญโญ  ซึ่งกำลังอยู่ที่บ้านห้วยหีบพักอยู่กับท่านพระอาจารย์มหาทองสุข  และท่านพระอาจารย์กงมา  ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมรับการอบรมจากท่านพอประมาณแล้ว  ข้าพเจ้าก็กราบลาท่านออกธุดงค์ต่อไป  โดยเที่ยวไปตามแถวภูพาน  พักผ่อนวิเวกไปโดยลำดับ  มุ่งหน้าไปทางจังหวัดบ้านเกิด  คืออุบลราชธานี

       ถึงอุบลราชธานีแล้ว  กลับเกิดความคิดอยากจะไปเที่ยวรุกขมูลทางภาคเหนือคือจังหวัดเชียงใหม่บ้างจึงได้เดินทางไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟอำเภอวารินชำราบ  ก่อนออกเดินทางคืนนั้นได้ไปพักที่วัดป่าวารินได้พบท่านพระอาจารย์ลี  ธมฺมธโร  จึงเข้ากราบนมัสการและฟังธรรมะจากท่านพอสมควรแล้วก็ลาท่าน  รุ่งเช้าจึงขึ้นรถไฟสายอุบลจากวารินชำราบ  มาต่อที่บ้านภาชีไปถึงจังหวัดเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น