วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

2.พบพระธุดงค์และได้หนังสือไตรสรณาคมน์ - ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ


พบพระธุดงค์และได้หนังสือไตรสรณาคมน์

ขณะที่เด็กชายจวนกำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมปีที่  5 อายุราว  14 – 15  ปี  มีพระธุดงค์กัมมัฏฐานองค์หนึ่ง  มาตั้งกลดพักอยู่ที่ทุ่งนาชายป่าใกล้บ้าน  เด็กชายจวนเห็นดังนั้นก็เกิดความคิดจะตักน้ำไปถวายท่านเพื่อให้ท่านได้อาบน้ำและฉันน้ำ  เพราะขณะนั้นเขาว่ากันว่าพระธุดงค์มักจะมีของขวัญคือตะกรุด  เครื่องรางไว้แจกเสมอ  เผื่อปะเหมาะเคราะห์ก็อาจจะได้คาถาดี ๆ ไว้คุ้มครองตัวเป็นได้  เด็กชายจวนจึงรีบไปตักน้ำบ่อ  หาบไปถวายพระธุดงค์อย่างตั้งอกตั้งใจ

ท่านรับน้ำสรงและกรองฉัน  แล้วก็ถามว่า “ หนู...เข้าโรงเรียน  เรียนหนังสือชั้นไหน ? “
เลยตอบท่านว่า “ เกล้า ฯ อยู่ชั้นประถมปีที่  5  ครับ “ 
ท่านยิ้มแล้วชมว่า  “ หนูนี่น่ารักนะ  เออ....ถ้าออกจากโรงเรียนแล้ว  เราจะเอาไปบวช  จะบวชไหม "
“ บวชครับ  ผมคิดจะบวชอยู่ครับ “ เด็กชายจวนตอบท่านโดยไม่ลังเล
ท่านเลยพูดว่า “ ถ้าไปบวชกับเรา  เราจะให้เป็นดีอย่างนี้...". ยิ่งมีใจอยากจะบวช  เพราะจะได้ “ เป็นดี “  ความจริงตอนนั้นก็ไม่รู้ว่า  ที่ว่า  “ เป็นดี “ นั้นคืออะไร  เป็นอย่างไร  แต่ก็คิดว่า  ต่อไปจะบวชละ
พระธุดงค์ก็ได้มอบหนังสือ “ ไตรสรณาคมน์ “ ของพระอาจารย์สิงห์  ขันตยาคโมแห่งวัดป่าสาละวัน  นครราชสีมา  มาให้เด็กชายจวน  1  เล่ม  แล้วท่านได้แนะนำวิธีให้ภาวนาปฏิบัติตามหนังสือนั้น

หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม วัดป่าสาละวัน นครราชสีมา 
ศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

เมื่อเด็กชายจวนได้รับหนังสือจากท่านแล้ว  ก็นำกลับบ้านไปท่องด้วยความดีใจ  ในหนังสือไตรสรณาคมน์นั้น  ได้บอกไว้ว่า   ก่อนภาวนา  จะต้องทำวัตรไหว้พรโดยย่อเสียก่อนแล้วให้แผ่เมตตาตน  เมตตาสัตว์  ระลึกถึงคุณพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  คิดถึงคุณบิดามารดา  คุณครูบาอาจารย์  หรือท่านผู้มีคุณ  แล้วต่อไปท่านให้นั่งตั้งกายให้ตรง นั่งขัดบัลลังก์ก็สมาธิ  คือ เอาขวาทับขาซ้าย  มือขวาทับมือซ้าย  ตั้งกายให้ตรงดำรงสติไว้เฉพาะหน้า  คือ  ใจ  ไม่ให้ก้มนัก  ไม่ให้เงยนัก  หลับตา  แล้วท่านให้นึกในใจ  บริกรรมว่า  “ พุทโธ   ธัมโม  สังโฆ “  ตอนนี้ต้องประณมมือไว้เพียงหัวใจเมื่อนึกว่า “ พุทโธ   ธัมโม  สังโฆ “  3 จบแล้ว  ให้เอามือลง  เอามือขวาทับมือซ้าย  แล้วตั้งกายให้ตรง  ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า  คือ  ใจ  ให้ระลึกถึงแต่  พุทโธ  เรื่อยไปไม่มีกำหนดกี่ครั้งกี่หน  ให้มีสติกำกับอยู่ด้วยพุทโธอย่างเดียวไม่ให้จิตแสส่ายฟุ้งซ่านไปจากพุทโธ

นี้ในหนังสือของท่าน  อธิบายเรื่องการภาวนาพุทโธไม่ให้จิตฟุ้งซ่านไปอื่นจาก พุทโธ  ให้มีแต่อารมณ์เดียวคือ  พุทโธอย่างเดียว  มีแต่พุทโธ  อยู่กับใจ  ให้ใจอยู่กับพุทโธ  มีสติรู้อยู่  ให้เอาสติเป็นผู้ผูกจิต  อยู่ในคำบริกรรมที่ว่า  พุทโธ – พุทโธ ให้พุทโธกับจิตเป็นอันเดียวกัน  เจือกันเป็นอันเดียวกัน  คือ  พุทโธอย่างไร  จิตก็อย่างนั้น  จิตอย่างไร  พุทโธก็อย่างนั้น  เมื่อภาวนานึกพุทโธไป  เมื่อจิตสงบลงก็ให้มีสติรู้  ตลอดถึงขณะที่บริกรรมนึกพุทโธ – พุทโธ  ก็ให้มีสติรู้อยู่กับคำบริกรรมว่า พุทโธ – พุทโธ มิให้พลั้งเผลอ  สตินี้ท่านมิให้พลั้งเผลอเป็นอันขาดทีเดียวต้องกำกับอยู่เสมอ

เด็กชายจวนเมื่อตรวจดูหนังสือแล้วก็ไปปฏิบัติตาม  จำได้ว่าหนังสือไตรสรณาคมน์ยังได้อธิบายไว้ยืดยาวอีก  เมื่อภาวนา  พุทโธ – พุทโธ  อยู่  ถ้าจิตมันสงบก็นึกพุทโธ – พุทโธ  อยู่  หรือเมื่อจิตมันรวมลงสู่ภวังค์  หมายความว่า  มันวางอารมณ์ที่บริกรรมอยู่เฉพาะจิต  ท่านว่าให้มีสติรู้และเมื่อจิตรวมลงแล้ว  ก็ให้รู้ว่า  จิตของเรารวม  จิตนั้นจะวางคำบริกรรมว่า พุทโธ – พุทโธ  ในเมื่อจิตรวมแล้ว  แต่อย่าไปรบกวนจิต  เมื่อจิตรวมอยู่  ปล่อยให้จิตรวมอยู่อย่างนั้น  เมื่อเวลาจิตถอนจากการรวม  พลิกขณะนั้น  ก็ให้มีสติระลึกบริกรรมว่า พุทโธ – พุทโธอยู่  มิให้พลั้งเผลอจากพุทโธและเมื่อจิตมันสงบรวมลง  วางคำบริกรรมพุทโธเสีย  ให้จิตรวมสงบอยู่อย่างนั้น ให้ปฏิบัติโดยวิธีนี้ไปเรื่อย ๆ นี่ในหนังสือกล่าวไว้

อนึ่ง  ท่านยังแสดงย้ำไว้อีกว่า  ในขณะที่เราบริกรรมว่า พุทโธ – พุทโธ ก่อนที่จิตจะรวม  ถ้าเกิดมีนิมิตภาพต่าง ๆ แทรกขึ้น  ก็อย่าไปคำนึงถึงนิมิตภาพเหล่านั้น  จะเป็นนิมิตภาพอย่างไหนก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นนิมิตนอกหรือนิมิตในก็ตาม

นิมิตนอก  แสดงภาพมา  มีการเห็นโน้น  เห็นนี่ขณะเรานั่งภาวนาอยู่  เห็นเหมือนเห็นด้วยตาเนื้อ  เช่น เห็นสัตว์  หรือเห็นผี  ภูตปีศาจ  เห็นเป็นรูป  เทวบุตรเทวดาหรือเห็นเป็นรูปมนุษย์ที่คุ้นเคยกัน  เห็นอะไรต่าง ๆ เช่นนั้น  ก็อย่าไปคำนึงถึงให้นึกบริกรรมมีสติอยู่เฉพาะพุทโธ – พุทโธ เท่านั้น  หรืออาจจะเห็นเป็นปีติเกิดขึ้นก็ตาม  หรือเห็นแสงสว่างอะไร  ๆ ก็ตามแทรกขึ้นระหว่างสติที่กำลังจะรวมนั้น  ก็อย่าไปคำนึงถึงนิมิตภาพที่ปรากฏขึ้นนั้นให้บริกรรมและสติอยู่กับคำพุทโธเท่านั้น  นิมิตภายนอกนี้มีหลายอย่างหลายประการ  บางทีอาจจะเห็นเป็นรูปนิมิต  บางทีจะได้ยินเสียงโน่นเสียงนี่  นี้ในหนังสือท่านมิให้คำนึงถึงนิมิต

ส่วนนิมิตใน  ที่เกิดแต่ใจนั้น  ได้แก่ธรรมารมณ์คืออารมณ์ที่มันผุดขึ้นเมื่อจิตจะรวมลง  บางทีมีอารมณ์ต่าง ๆ มีธรรมะต่าง ๆ แทรกขึ้น  ว่านี่คือมรรค  คือผลหรือความรู้ต่าง ๆ แทรกขึ้น  ก็อย่าไปมัวกังวลกับนิมิตภายในความรู้อันแทรกขึ้นนั้น  ให้มีสติ  บริกรรมแต่  พุทโธ-พุทโธ  อย่างเดียว

เพราะเหตุไฉน  จึงมิให้ไปยุ่งกับเรื่องนิมิตนอกนิมิตใน ?
ก็เพราะเหตุว่า  ในเวลานั้น  จิตของเรา  ปัญญาของเรายังอ่อน  อินทรีย์ของเรายังอ่อน
เมื่อจิตรวมกัน  วางอารมณ์  วางคำบริกรรม  ก็ให้สติรู้เมื่อจิตรวมเข้าสู่ภวังค์นั้น  เป็นจิตที่ขาดจากอารมณ์ทั้งหมด  สงบรวมลง  จมมิด  ไม่รู้สึกความเจ็บ  ปวดเมื่อย  ขบ  แต่ประการใด  ภายในอารมณ์ของใจก็ไม่มีเป็นจิตที่บริสุทธิ์  สว่างไสวอยู่อย่างนั้น  จะหา
ความสุขอะไรมาเปรียบเทียบไม่ได้เลย

เมื่อจิตมันรวมอยู่  ก็อย่าไปรบกวนจิต  ให้ถอนขึ้นเอง  เมื่อจิตถอนขึ้นแล้วก็ให้มีสติ  บริกรรมว่า  พุทโธ – พุทโธ  อยู่อย่างนั้น  เมื่อมีความชำนาญในการบริกรรมและการรวมของจิต  ต่อไปฝึกหัดให้มีสติปัญญาแก่กล้าขึ้นไปให้น้อมจิตเข้ามาพิจารณากายของเรานี้ให้เป็นของปฏิกูลพึงรังเกียจเป็นของสกปรกโสโครก

ท่านแสดงการพิจารณากายโดยย่อ ๆ ว่า  ให้พิจารณา  ผม  ขน   เล็บ  ฟัน  หนังให้เห็นเป็นของสกปรกโสโครกให้เห็นเป็นของปฏิกูล  พึงรังเกียจ  ให้เห็นเป็นซากศพ  ซากผี  ให้เป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  ให้เป็นของมิใช่ตน  มิใช่ของตน  มิใช่ของแห่งตน....ดังนี้  และต่อไปก็จะเกิดความเบื่อหน่าย  คลายเสียซึ่งความรัก  ความกำหนัด  ความยินดี  ในอัตตาภาพร่างกายของตน

ระหว่างนั้นเด็กชายจวนยังเป็นนักเรียน  ได้รับหนังสือจากพระธุดงค์กัมมัฏฐานนำไปตรวจดู  อ่านดูแล้ว  ก็เกิดความคิด  ศรัทธาอยากจะลองทำดู  จึงไปอ่านท่องทำวัตร  เมตตาตน  เมตตาสัตว์  ทดลองทดสอบตามหนังสือนั้น

วันหนึ่ง  พอรับประทานอาหารแล้วตอนกลางคืน  ก่อนเข้านอน  เด็กชายจวนก็ไหว้พระทำวัตรย่อ  แล้วระลึกเมตตาตน  เมตตาสัตว์  เสร็จแล้วก็นั่งสมาธิ  ภาวนา  บริกรรม  พุทโธ ในใจ  บางครั้ง  บางสมัย  ภาวนาพุทโธ  นั่งหลับตาอยู่  ปรากฏตัวใหญ่  และสูง....สูงขึ้น  บางครั้ง  ปรากฏตัวยุบ....ยุบลง  บางครั้ง  ปรากฏหรี่ลง....หรี่ลง  หรี่เข้าไปเหมือนกับไฟจะหมดแสงแล้วเข้าไปใสบริสุทธิ์อยู่ในใจ  บางครั้งปรากฏแสงสว่างชัดผ่านมาคล้าย ๆ มองเห็นด้วยตา  แล้วก็ผ่านเข้าไปทางใจ  บางครั้งปรากฏเหมือนผีเข้าเจ้าทรงสั่นสะเทือนไปทั้งกาย  บางครั้งปรากฏว่า  ตัวลอยขึ้นบนอากาศก็มี  แต่แล้วก็นั่งอยู่ปกติภาพตามเดิมนั่นแหละ  ไม่เห็นผิดปกติ  แต่จะมีปรากฏการณ์อย่างใดก็ตาม  เด็กชายจวนยังคงตั้งสติมั่นยึดพุทโธ – พุทโธ ไว้ในใจ  เป็นหลักเสมอ  ไม่หวั่นไหว

ในที่สุด  เมื่อสิ่งปรากฏการณ์เหล่านี้สงบลงปรากฏว่า  กายเบา  ไม่มีความเจ็บปวดเสียดแทงใด ๆ มีสติจรดจ่อต่อพุทโธ – พุทโธ  แทบจะไม่มีอารมณ์เหลืออยู่เลย  ดูจิตขาวนิ่มนวลผ่องใส  ปรากฏในขณะนั้นว่า  จิตกับกายนี้แยกกัน  ไม่เหมือนกัน  ไม่ปะปนคละเคล้ากันเลย  จิตอยู่เฉพาะจิต  กายอยู่เฉพาะกาย

มันช่างแปลกจริง ๆ .........ชอบกลมาก!

ความเจ็บปวด  อึดอัดของกายและจิตไม่มีเลย  ในขณะเป็นเช่นนั้นรู้สึกสบายมากเหมือนนั่งนอนอยู่บนอากาศอันนิ่มนวล  อ่อนและละเอียดไม่มีเวทนาใด ๆ มาปรากฏเลย  เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้ปรากฏขึ้น  ก็ไม่สามารถจะทำอะไรต่อไปได้อีกแต่อย่างใด  จึงปล่อยไว้ตามเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นนั้น  เมื่อจิตถอนจากสิ่งที่ผ่านมานั้น  ก็ภาวนานึกบริกรรม  พุทโธ – พุทโธ  เรื่อย ๆ ไป  จนกว่าจะพักผ่อนนอนหลับตามธาตุขันธุ์

เด็กชาวจวนไม่รู้จักวิธีกลไกลละเอียดแยบคายอะไรต่อไปเลย  ก็ทำได้เพียงแต่แค่นั้นเรื่อย ๆ มา  ด้วยไม่มีผู้รู้ที่จะมาสอนสั่งให้ก้าวหน้าขึ้น  แต่การที่ภาวนาเช่นนี้ ไม่ใช่จะเป็นได้ทุกวัน  เป็นไปได้ในบางคราวบางสมัยเท่านั้น  แต่ก็ชวนให้จิตใจดูดดื่มมาก  ชวนให้นึกอยากภาวนาเสมอ ๆ เพราะเห็นสบายดี  ถ้าวันไหนใจไม่สบาย  ต้องเข้าที่ภาวนา  สงบจิตใจ  ใจ  สบายดี  ไม่กระตือรือร้นสาละวนอะไรเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น