วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

22.พรรษาที่ 18–20 พ.ศ.2503–2505 จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์ - ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ





พรรษาที่  18 – 20  พ.ศ.  2503 – 2505
จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์ ( ต่อ )

       ต่อมาเมื่อใกล้จะเข้าพรรษา  มีเณรองค์หนึ่งและพ่อขาวเฒ่าคนหนึ่งซึ่งเป็นญาติของข้าพเจ้าและแม่ชีแก่คนหนึ่งมาอยู่ด้วย  ก่อนจะเข้าพรรษา  7  วัน  โยมอุปฐากซึ่งมีทั้งหมดด้วยกัน  2  ครอบครัวได้มานิมนต์ข้าพเจ้าไม่ให้จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำจันทน์  เพราะเขาเห็นว่าพวกเขาเป็นคนจน  ไม่มีข้าวกิน  กลัวจะเลี้ยงพระ  เลี้ยงเณรไม่ไหว  กลัวพระเณรจะอดข้าวตาย  เขาดำริอย่างนี้จึงมาพร้อมกันทั้ง  2  ครอบครัว  โดยแต่งหัวหน้าครอบครัวมาพูดนิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่อื่นไม่ให้จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์

       ข้าพเจ้าเลยบอกโยมทั้งสองนั้นว่า  เดี๋ยว.....วันนี้ก็จวนจะหมดเวลาแล้ว  พรุ่งนี้จึงค่อยพิจารณากัน  ขอปรึกษาเณรและผ้าขาวก่อน

       แล้วชาวบ้านทั้ง 2 คน  เขาก็ลากกลับบ้านตกพลบค่ำเวลากลางคืนข้าพเจ้าก็ประชุม  เณร  ผ้าขาวและแม่ชีว่า  ศรัทธาที่เขาอุปฐากพวกเราเขานิมนต์ให้พวกเราหนีไปจำพรรษาที่อื่น   เพราะเขาไม่มีข้าวให้พวกเราฉัน  เขากลัวพวกเราจะอดตาย  เขาอยากให้ไปอยู่ที่อื่นซึ่งคงจะอุดมสมบูรณ์กว่า  พวกเราจะว่าอย่างไร

       แม่ชีแก่ได้ยินดังนั้น  ก็พูขึ้นว่า  “ เออ...ดี  เขานิมนต์ให้หนี  ก็หนีซิ  เขาไม่มีข้าวให้กิน  เราจะอยู่ทำไม “  แม่ชีแก่ว่า  “ ตั้งแต่เขาไม่นิมนต์ก็ว่าจะหนีอยู่แล้ว  ที่นี่อดอยากแท้ ๆ

       เมื่อข้าพเจ้าถามเณร เณรก็ว่าจะไปถามผ้าขาวเฒ่าผ้าขาวเฒ่าก็ว่าจะไปทั้งนั้น  ข้าพเจ้าเลยถามว่า  จะไปวันไหน  เขาก็ว่า  จะไปวันพรุ่งนี้

       - จะไปจำพรรษาที่ไหน

       - จะไปจำพรรษาที่บ้านขี้เหล็ก ดงหม้อทอง...เขาว่า

       ข้าพเจ้าจึงว่า “เออ...พากันไปเสีย “

       ยายชีแก่จึงย้อนถามข้าพเจ้าว่า...อ้าว  อาจารย์ไม่ไปหรือ

       ข้าพเจ้าตอบว่า  สำหรับอาตมาไม่ไปแล้ว  เพราะอาตมาตั้งใจว่าจะจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำจันทน์นี้

       ยายชีแก่ว่า  “ จำพรรษาอย่างไร  เขาไม่มีข้าวให้กิน  จะกินอะไร

       ข้าพเจ้าตอบแม่ชีว่า  “ ไม่มีข้าวก็ไม่กิน  กินแต่น้ำก็ได้  เพราะว่าข้าวก็ได้เคยกินมาแล้วตั้งแต่กันเกิดจนถึงวันนี้  เมื่อกินข้าวอยู่  มันภาวนาไม่เป็น  ทีนี้  มันไม่มีข้าวกิน  ก็ไม่กินมัน  อดอยู่อย่างนั้น  กินน้ำแทนเอาก็ได้กินใบเม่าก็ได้ “  

       แม่ชีถามว่า  ใครจะเอาใบเม่ามาถวาย “

       ข้าพเจ้าบอกว่า   ถ้าไม่มีใบเม่า  ก็กินน้ำ  จะขอจำพรรษาที่นี้  ไม่ไปไหนแล้ว  ถึงจะอดข้าวไม่กินก็ยอมตาย  ในพรรษานี้จะไม่ถอยหลัง  จะประกอบแต่ความพากเพียร  คุณงามความดีเท่านั้น  จะขอตายอยู่ในคุณงามความดี  ไม่ไปเป็นเด็ดขาด  พวกเณร  แม่ขาวพ่อขาวจะไปก็ไปเถอะ  ไม่ต้องห่วงอาตมา  อาตมาไม่ไป  จะตายก็ตายเถอะ  ตายในขณะทำความพากความเพียร  จะได้เป็นเกียรติประวัติสืบต่อไปว่า  พระธุดงค์กัมมัฏฐานเป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยว  ไม่มีข้าว  ไม่มีอาหารกินก็ยอมอดข้าว  อดอาหาร  อุตส่าห์จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์ทำความพากเพียรจนตายเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่วงศ์ปฏิบัติต่อไป  เราไม่ไปแล้ว

เมื่อข้าพเจ้าประกาศเด็ดขาดเช่นนั้น  เณร  ผ้าขาวแม่ชี  ก็เลยว่า  “ ถ้าอาจารย์ไม่ไป  อาจารย์ตายก็ตายด้วย “

       รุ่งขึ้นตอนเช้าข่าสองคนนั้นได้ร้องไห้มาถวายจังหัน  ก็ถามว่า  โยมร้องไห้ทำไม  ตอบว่า  ร้องไห้เพราะเสียใจ  เมื่อคืนนี้ผมนอนไม่หลับตลอดคืนเลย  ที่นิมนต์อาจารย์หนี  ไม่ให้จำพรรษา  ผมไม่สบายใจเลยได้รับความเดือดร้อนตลอดคืน  พวกผมขอนิมนต์อาจารย์ใหม่  ขออภัยจากอาจารย์ด้วย  อย่าให้เป็นบาปเป็นกรรมต่อไป  พวกผมขอนิมนต์อาจารย์ให้จำพรรษาอยู่ที่นี่โปรดพวกผมด้วย  ถ้าหากไม่มีข้าวกิน  พวกผมจะยอมตายก่อนอาจารย์  ไม่ให้อาจารย์ตายเลย  ควายของผมมีอยู่  2  ตัว  ผมจะขายควายนี่แหละ  ซื้อข้าวเลี้ยงอาจารย์ให้ตลอดพรรษา

ข้าพเจ้าได้ฟังก็อนุโมนาในศรัทธาของเขา  แม้เขาจะเป็นคนจนยากแค้นแสนสาหัสเพียงใดแต่จิตก็ฝักใฝ่ใคร่ต่อการทำบุญ  ยอมสละแทบจะสมบัติเครื่องมือทำกินทั้งหมดที่มี  เพื่อบำเพ็ญทาน  น่าสรรเสริญในจิตใจของเขายิ่งนัก  จึงบอกปลอบใจเขาว่าไม่เป็นไรหรอกโยม  อย่าลำบากถึงกับต้องขายควายเลยทุกสิ่งทุกอย่างก็คงจะเป็นไปเอง  ดีไปเอง  ไม่ต้องกังวล

       อนุโมทนาและให้กำลังใจเขาแล้ว  โยมสองคนก็มีสีหน้าชื่นขึ้นทันที  ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจและลากลับบ้านไป

       ตกลงเลยอยู่จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์  ทำความพากเพียรด้วยกันทั้งหมด  ไม่ได้หนีไปไหน  ทำความเพียรกันด้วยความสะดวกสบายทีเดียว  เพราะเป็นที่สงบวิเวกดีมากสัตว์ป่าก็มาก  ภาวนาจิตรวมลงอย่างรวดเร็วถึงฐาน

ต่อมาข่าวที่ว่า  มีพระมาอดข้าวอดน้ำ  ชาวบ้านมานิมนตร์ให้หนีไม่ให้อยู่จำพรรษาด้วยอดอยากไม่มีข้าวจะใส่บาตรให้กิน  ก็ไม่ยอมไปนี้ได้แพร่ไปถึงชาวบ้านรอบ ๆนอกด้วย  ชาวบ้านเหล่านั้นเขาก็มาสืบดูเห็นว่าถ้ำจันทน์กันดารมากจริง  พวกหมู่บ้านไกล ๆ  โดยรอบนอก  เช่น  ที่บ้านมายก็เลยแต่งกันให้ส่งอาหาร  7  วันต่อครั้ง  7  วันต่อครั้งและข่าวนี้ได้แพร่ต่อไปถึง  อำเภอกาฬ  เวลานั้นคุณหมอประพักตร์โสฬสจินดา  เป็นหัวหน้าหมออนามัยประจำอยู่บึงกาฬทราบเรื่อง  ก็ส่งคนไปสืบดูบ้างเห็นว่าถ้ำจันทน์อยู่ลึกถึงกลางป่าและกันดารมาก  จึงรวบรวมกันช่วยส่งอาหารมาให้ฉันที่ถ้ำจันทน์ทุก  7  วันต่อครั้งด้วย  การเดินทางแม้จะลำบากมาก  ด้วยไม่มีรถ  ต้องหาบหามบุกป่ากันมาเป็นวัน ๆ จึงถึง  แต่ก็เพียรพยายามกันมานับว่ามีศรัทธาอันแรงกล้า  น่าอนุโมทนายิ่ง

คุณหมอประพักตร์ โสฬสจินดา (คนยืนขวาสุด)


       ในพรรษานั้น  จึงแทนที่จะอดอยากการขบฉันกลับค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ดี  ไม่อด  ไม่อยาก  ไม่ขาด  ไม่หิว  สะดวกสบาย  ให้โอกาสพระเณร  ชี  และผ้าขาว  ได้บำเพ็ญภาวนากันอย่างเต็มที่  ความสะดวกสบายและอุดมสมบูรณ์นั้น  คงจะเป็นอานิสงส์ของขันติความอดทนก็เป็นได้

       เมื่อออกพรรษาแล้ว  พวกเณร  ผ้าขาว  และแม่ขาวได้พากันกลับบ้านกันหมดเหลือข้าพเจ้าองค์เดียวต่อมาหลวงปู่เจ้าอาวาสวัดมีชื่อแห่งหนึ่ง  ท่านได้มาอยู่ร่วมด้วยเพราะท่านได้ข่าวว่าที่ถ้ำจันทน์ภาวนาดีท่านจึงมุ่งมาขออยู่ด้วย  โดยบอกว่า  ท่านจะมาทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์

       ระหว่างฤดูแล้ง  ขณะที่อยู่ร่วมกันกับหลวงปู่องค์นี้ถ้ำจันทน์  ตั้งแต่เดือนธันวาคม  จนถึงเดือนกรกฎาคมนั้นได้ปฏิบัติร่วมกัน  และได้สนทนาปราศรัยฝ่ายปฏิบัติธรรม  ทั้งด้านภายนอกและภายในเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นของกันและกัน  หลวงปู่ท่านได้เล่าประวัติความเป็นมาในการภาวนาปฏิบัติธรรมของท่านให้ฟังว่า

       ในสมัยที่ท่านยังอยู่ที่วัดบ้านของท่านนั้น  ท่านได้เข้านิโรธสมาบัติ  กำหนดสามวันบ้างเจ็ดวันบ้างจึงออกจากที่ภาวนา

       ข้าพเจ้าย้อนถามท่านว่า   " วิธีเข้านิโรธนั้น  เข้าอย่างไร "

       ท่านว่า   “เมื่อพิจารณาไปหรือบริกรรมไป  จิตวางอารมณ์  มันรวมอยู่เฉพาะจิตใสบริสุทธิ์หมดจดอยู่อย่างนั้น  มันวางเวทนา  ไม่มีเวทนา  ไม่ปรากฏเวทนาทางกายหรือทางธาตุขันธ์เลย  จิตออกจากธาตุอยู่เฉพาะจิตล้วน ๆ บริสุทธิ์ใสสะอาดอยู่อย่างนั้น  มีความสุขมาก “

       ข้าพเจ้าถามว่า  “ เวลาจิตถอนจากขณะ  เป็นอย่างไร “

       ท่านตอบว่า  “ เวลาจิตถอนจากขณะ  ก็เบากายเบาใจ  ทำให้กายและใจสบายดี  มีความเบิกบานกายและใจชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา “  

       ข้าพเจ้าได้เรียนถามท่านว่า  “ เวลาปกติอยู่ด้วยอะไร “  

       ท่านบอกว่า  “  เวลาปกติ  ก็อยู่ด้วยความสงบ  และมีความปิติยินดีต่อจิตของตนที่รวมลงสู่ภวังค์หรือฐีติจิตนั้น ๆ "

       เมื่อท่านว่าอย่างนั้น  ข้าพเจ้าก็เลยถามว่า   " นิโรธะ แปลว่า   ดับทุกข์  ตัวนี้หรือ  คือ  ตัวดับทุกข์ "

       ท่านก็รับว่า  “ ใช่ – ตัวนี้แหละ  ตัวดับทุกข์  เพราะเวลาเข้าไป  ไม่มีทุกขเวทนาอะไร  ความเจ็บปวดรวดร้าวแม้แต่นิดหน่อยก็ไม่ปรากฏในขณะนั้น “

ท่านอธิบายเรื่องนิโรธเช่นนั้น  ข้าพเจ้าเลยย้อนถามอีกว่า  “เมื่อเป็นเช่นนี้  นิโรธะ  ท่านแปลว่า  ผู้ดับทุกข์คือไม่มีทุกข์  ก็แปลว่า  ดับหมด  ก็เป็นพระนิพพานเท่านั้นตัวนี้หรือคือ  ตัวพระนิพพาน   นิโรธ  นี้หรือ ? "

       ท่านก็ตอบว่า  " ใช่   เป็นนิพพาน "

       ข้าพเจ้าก็เลยยุติเรื่องนี้ไว้ก่อน  ต่อจากนั้นก็ชวนท่านสนทนาแลกเปลี่ยน ความรู้ในทางภาวนาด้านอื่นต่อไป

       ข้าพเจ้าไม่เคยเข้านิโรธชนิดนี้สักครั้งเดียวในสมบัติของข้าพเจ้าก็ไม่มีอะไร  เมื่อสนทนากันแล้วก็เลิกกันไป  และข้าพเจ้าก็เลยลองนำการเข้านิโรธของหลวงปู่ไปพิจารณาดู  วันหนึ่ง  พอพิจารณาไป  จิตก็ค่อยสงบลง  สงบลงจิตหนึ่งเลยพูดขึ้นว่า....นิโรธนี้ยังเป็นสังขารอยู่  ทำไมจึงเป็นสังขาร  - ข้าพเจ้าซักดูเพราะเหตุว่า  นิโรธ  นี้ยังมีการเกิดและการดับ  คือมีการเข้าและการออกไม่ขาดจากเหตุและปัจจัยอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์คือตัวสังโยชน์  ตัวสมุทัย  ตัวตัณหา  ตัวอาสวะ  และตัวกิเลส  เพราะจิตชนิดนี้  ถ้าเข้าไปรวมแล้วก็เหมือนกับว่าไม่มีกิเลส  แต่เมื่อถอนออกมาก็เป็นจิตธรรมดา  เป็นนิโรธที่ไว้ใจไม่ได้


       ข้าพเจ้าจึงมาคำนึงถึงโอวาทที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตตะมหาเถระได้เคยเล่าเรื่องการเข้านิโรธของพระอาจารย์ลูกศิษย์ท่านองค์หนึ่งให้ฟัง  ขณะที่ข้าพเจ้าอยู่จำพรรษาร่วมกับท่านท่านได้ประกาศให้บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายทราบทุก ๆ องค์ว่า  ในสมัยหนึ่ง  ท่านอาจารย์องค์นั้นได้เข้าไปนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น  ท่านได้ถามท่านอาจารย์องค์นั้นว่า

       “  ท่าน.....จากกันไปนาน  การภาวนาเป็นอย่างไรบ้าง  ดีหรือไม่ “

       ท่านอาจารย์องค์นั้นตอบถวายท่านพระอาจารย์มั่นว่า  “ กระผมเข้านิโรธอยู่เสมอ  ๆ

       “ เข้าอย่างไร ? "

       "น้อมจิต  เข้าสู่นิโรธ"  

       ท่านพระอาจารย์มั่น  ย้อนถามว่า  น้อมจิตเข้านิโรธ  น้อมจิตอย่างไร “

       ก็ตอบว่า  “  น้อมจิตเข้านิโรธ  ก็คือ  ทำจิตให้สงบแล้วนิ่งอยู่  โดยไม่ให้จิตนั้นนึกคิดไปอย่างไร  ให้สงบและทรงอยู่อย่างนั้น "

       "แล้วเป็นอย่างไร  เข้าไปแล้วเป็นยังไง"  ท่านพระอาจารย์มั่นซักถาม

       “ มันสบาย  ไม่มีทุกขเวทนา “

       ท่านพระอาจารย์มั่นถามว่า " เวลาถอนเป็นอย่างไร "

       ท่านอาจารย์องค์นั้นตอบว่า   “ เวลาถอนก็สบายทำให้กายและจิตเบา “

       “ กิเลสเป็นอย่างไร “

       " กิเลสก็สงบอยู่เป็นธรรมดา  แต่บางครั้งก็มีกำเริบขึ้น "

       พอถึงตอนนี้  ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้ประกาศเรื่องนิโรธให้บรรดาสานุศิษย์ทราบทั่วกันว่า

       “ นิโรธแบบนี้  นิโรธสมมติ  นิโรธบัญญติ  เพราะเป็นนิโรธที่น้อมเข้าเอง  ไม่มีตัวอย่างว่าพระอริยเจ้าน้อมจิตเข้านิโรธได้  ใครจะไปน้อมจิตเข้าได้  เมื่อจิตยังหยาบอยู่จะไปน้อมจิตเข้าไปสู่นิโรธที่ละเอียดไม่ได้เหมือนกับบุคคลที่ไล่ช้างเข้ารูปู  ใครเล่าจะไล่เข้าได้  รูปูมันรูเล็ก ๆ หรือเหมือนกับบุคคลที่เอาเชือกเส้นใหญ่จะไปแหย่ร้อยเข้ารูเข็ม  มันจะรอยเข้าไปได้ไหม  เพราะนิโรธเป็นของที่ละเอียด  จิตที่ยังหยาบอยู่จะไปน้อมเข้าสู่นิโรธไม่ได้  เป็นแต่นิโรธน้อม  นิโรธสมมติ  นิโรธบัญญติ  นิโรธสังขาร  นิโรธหลง..."

       แล้วท่านก็เลยอธิบาย   เรื่องนิโรธ  ต่อไปว่า

       “ นิโรธะ  แปลว่า  ความดับ  คือ  ดับทุกข์  ดับเหตุ  ดับปัจจัย  ซึ่งเป็นเหตุ  เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ทั้งหลายดับอวิชชา  ดับตัณหานั่นเอง  จึงเรียกว่า  เป็นนิโรธอย่าไปถือเอาว่าจิตที่ไปรวมลงสู่ภวังค์หรือฐีติจิต  จิตเดิม  เป็นนิโรธ  มันใช้ไม่ได้ – ท่านว่า – จิตชนิดนั้นถ้าขาดสติปัญญาพิจารณาทางวิปัสสนาแล้ว  ก็ยังไม่ขาดจากสังโยชน์  ยังมีสังโยชน์ครอบคลุมอยู่  เมื่อถอนออกมาก็เป็นจิตธรรมดา  เมื่อกระทบกับอารมณ์ต่าง ๆ นานเข้า  ก็เป็นจิตที่ฟุ้งซ่านและเสื่อมจากความสงบหรือความรวมชนิดนั้น "

       ท่านพระอาจารย์มั่นได้ประกาศให้ทราบว่า

        “ ผมก็เลยไปพิจารณาดูนิโรธของพระอริยเจ้าดูแล้วได้ความว่า  นิโรธะ  แปลว่า  ความดับ  ดับเหตุ  ดับปัจจัย  ที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งหลาย  คือ  ทำตัณหาให้สิ้นไป  ดับตัณหาโดยไม่ให้เหลือ  ความละตัณหาความวางตัณหา  ความปล่อยตัณหา  ความสละ  สลัดตัด  ขาด  จากตัณหา  นี้  จึงเรียกว่า  " นิโรธ “

       นี่เป็นนิโรธ  ของพระอริยเจ้า ...... ท่านว่า  นี่เป็นนิโรธ  ของพระอริยเจ้า.... ท่านว่า

       นิโรธของพระอริยเจ้านั้นเป็น  “ อกาลิโก “ ความเป็นนิโรธ  การดับทุกข์อยู่ตลอดเวลา  ไม่อ้างกาล  ไม่อ้างเวลา  ไม่เหมือน “ นิโรธ ”  ของพวกฤๅษีไพรภายนอกศาสนา  ส่วนนิโรธของพวกฤาษีไพรภายนอกศาสนานั้น  มีความมุ่งหมายเฉพาะ  อยากแต่จะให้จิตของตนรวมอย่างเดียว  สงบอยู่อย่างเดียว  วางอารมณ์อย่างเดียว  เมื่อจิตถอนจากอารมณ์แล้ว  ก็ไม่นึกน้อมเข้ามาพิจารณาให้รู้เห็นสัจจธรรม  คือให้รู้ทุกข์  รู้เขตให้เกิดทุกข์  ธรรมเป็นที่ดับทุกข์  ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์ยินดีเฉพาะแต่จิตที่สงบหรือรวมอยู่เท่านั้น  ว่าเป็นที่สุดของทุกข์เมื่อจิตถอนก็ยินดี  เอื้อเฟื้อ  อาลัย  ในจิตที่รวมแล้วก็เลยส่งจิตของตนให้ยึดในเรื่องอดีตบ้าง  อนาคตบ้างปัจจุบันบ้าง  ส่วนกิเลส  ตัณหานั้นยังมีอยู่ยังเป็นอาสวะนอนนิ่งอยู่ภายในหัวใจ

       ท่านเลยอธิบายถึงนิโรธของพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าต่อไปว่า

       นิโรธ  คือ  ความดับทุกข์  ของพระอริยเจ้านั้น  ต้องเดินตาม  มัชฌิมปฏิปทา  ทางสายกลาง  คือ  ความเห็นชอบ ดำริชอบ  วาจาชอบ  การงานชอบ  เลี้ยงชีพชอบ  เพียรชอบ  ระลึกชอบ  ตั้งใจไว้ชอบ  นี่จึงจะถึงนิโรธคือความดับทุกข์  ดับเหตุให้เกิดทุกข์  นิโรธของพระอริยเจ้านั้น  เป็นนิโรธอยู่ตลอดกาลเวลา  ไม่อ้างกาล  ไม่อ้างเวลา  ไม่อ้างกาลนั้นจึงจะเข้านิโรธ  กาลนี้จึงจะออกนิโรธ  ไม่เหมือนนิโรธของพวกฤาษีชีไพรภายนอกพระพุทธศาสนา

       นี่เป็นคำสอนของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น  ภูริทัตตะมหาเถระ  ที่ได้แสดงไว้  ข้าพเจ้าจำความนั้นได้

        เมื่ออยู่ร่วมกับหลวงปู่องค์นั้น  ได้สนทนาธรรมะแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นซึ่งกันและกันอย่างเป็นที่พอใจ  อยู่มาวันหนึ่ง  หลวงปู่ท่านก็เข้านิโรธอีก  ท่านเข้าอยู่  3  วัน  แล้วจึงออกบิณฑบาตร  ข้าพเจ้าเรียนถามท่านว่า  เข้านิโรธเป็นอย่างไรบ้าง  

       ท่านก็ตอบว่า  สบายดี  จิตมันรวมดี  ไม่มีความเจ็บปวดใด ๆ ร่างกายจิตใจสบายดี  ข้าพเจ้าถามต่อว่าเวลาถอนจากนิโรธ  เป็นอย่างไร  ท่านตอบว่า  จิตว่าสบาย  ใจก็สบาย  กายก็สบาย  จิตเบา  กายเบา  สบายดี

       อยู่มาข้าพเจ้าได้นิมิตเกี่ยวกับท่านว่า  ในนิมิตของข้าพเจ้านั้น  ปรากฏเห็นหลวงปู่ท่านนั่งอยู่ในกลด ในมุ้ง  นั่งภาวนาหลับตานิ่งอยู่  ข้าพเจ้าก็เลยเข้าไปหาท่านเปิดมุ้งออก  แล้วทักท่านว่า   หลวงพ่อดีแต่นั่งสงบอยู่อย่างเดียว  ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ  เดี๋ยวเป็นง่อย  เป็นโรคเหน็บชา  หรืออัมพาตตาย  ต้องออกไปเดินจงกรมเปลี่ยนอิริยาบถและพิจารณาบ้างซีครับ  ในนิมิตนั้น  พอท่านได้ยินข้าพเจ้าทัก  ท่านก็ลุกจากที่  เปลี่ยนไปเดินจงกรมทันที

ข้าพเจ้าจึงมาพิจารณานิมิตนี้  ได้ความเป็น  2  นัยคือ  นัยหนึ่ง  ถ้าหลวงปู่เกิดป่วยไข้  ไม่สบาย  ก็จะป่วยหนักจนแทบประดาตาย  แต่ไม่ถึงตาย  นัยที่สอง  ถ้าภาวนาก็จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นที่พอใจ  หายสงสัยทีเดียว

       รุ่งเช้าพอออกไปบิณฑบาตรด้วยกัน  ข้าพเจ้าก็เล่าให้ท่านฟังว่า  เมื่อคืนนี้ข้าพเจ้าได้นิมิตถึงหลวงพ่อท่านก็ถามว่า  นิมิตอะไร ข้าพเจ้าก็เล่าว่า  นิมิตได้เห็นหลวงพ่อนั่งภาวนาอยู่ในกลด  หลับตานั่งนิ่งอยู่อย่างเดียว  ผมได้ไปหาท่านและบอกท่านว่า  หลวงพ่ออย่านั่งมาก  สงบมาก   ให้ออกเดินจงกรมบ้างเดี๋ยวจะเป็นโรคเหน็บชา  อัมพาต  ให้ออกเดินจงกรมเสียบ้างให้พิจารณาบ้าง  พอหลวงพ่อได้ยินผมทักดังนั้นหลวงพ่อก็ออกไปเดินจงกรมกับผม

       หลวงปู่ได้ถามว่า  “  ท่านพิจารณานิมิตแล้ว  ได้ความว่าอย่างไร "

       ข้าพเจ้าเลยเรียนท่านว่า  “ พิจารณาได้ความเป็น 2  นัย  นัยแรกถ้าหลวงพ่อป่วย  ก็จะป่วยมาก  แทบประดาตาย  แต่ไม่ตาย  นัยที่สอง  ถ้าหลวงพ่อภาวนาต่อไป  จะได้บรรลุธรรมจนเป็นที่พอใจ  อาจจะถึงที่สุดหายสงสัย "

       หลังจากที่สนทนากันนั้นสามวัน  หลวงปู่ก็มีอาการเจ็บป่วยขึ้น  เมื่อท่านไม่สบายท่านก็เข้านิโรธอีก  เพื่อระงับอาการป่วยนั้นให้หายไป  ท่านเข้าอยู่  3  วัน  จึงออกจากนิโรธเมื่อออกจากนิโรธเมื่อออกจากนิโรธ  อาการเจ็บป่วยก็ยังไม่หาย  ข้าพเจ้าเลยเข้าไปเรียนถามท่านว่า

       “ เป็นอย่างไรบ้างครับ หลวงพ่อ  อาการป่วยไข้ “

       ท่านก็ตอบว่า " เวลาจิตมันรวม  อาการป่วยไข้ก็ไม่มี  อยู่สบาย  แต่เวลาจิตมันถอนออกมาจากการรวมโรคภัยไข้เจ็บก็ยังอยู่อย่างเก่า  ไม่ลดละจากธาตุขันธ์เลย "

       ข้าพเจ้าเรียนถามว่า  " เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะทำอย่างไรล่ะครับ  "

       ท่านตอบว่า  " ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ต้องเข้านิโรธบ่อย ๆ เพื่อดับเวทนา "

       ข้าพเจ้าก็เลยย้อนเตือนสติท่าน   " นิโรธอย่างนี้  ก็เป็นนิโรธหลบหลีเวทนา  ไม่ใช่นิโรธที่พิจารณาดับเวทนาเลยน่ะซีครับ "

       ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันในขณะนั้น

       อยู่มาวันหลัง  ท่านว่า   " เมื่อคืนนี้ผมได้นิมิต  พิจารณาแล้วเห็นว่า  อายุร่างกายเจ็บป่วยคราวนี้  เห็นทีจะดับเสียแล้ว  ชีวิตของผมคงมาถึงเพียงแค่นี้  ผมอาจจะตายในคราวนี้  "

       ข้าพเจ้าเลยย้อนถามท่านว่า  จริงหรือ

       ท่านก็ว่า  จริง

      ข้าพเจ้าจึงอธิบายเรื่องความตายถวายท่านว่า

       ความตายมี  2  ชนิด  คือ  หนึ่ง  ธาตุขันธ์มันตาย  ขาดจากลมหายใจ – สองกิเลสมันตาย  ถามท่านว่า  ท่านหมายเอาความตายแบบไหน  

       ท่านก็บอกว่า  “ตายแบบที่หนึ่ง  ธาตุขันธ์มันตายขาดจากลมหายใจ “

       ถามท่านว่า  “ เหตุไฉนหลวงพ่อจึงทราบ

       “  ทราบซิ  เวลาผมเข้านิโรธสมาบัติ  จิตถอนออกมาพิจารณาชีวิตสังขารของตนเห็นว่าจะดับนี่นา  ท่านตอบตามความเห็นของท่าน

       " แล้วหลวงพ่อ  เคยเชื่อไหม - ? "

       "  เคยเชื่อ " ท่านว่า  “ ผมเคยพิจารณาอย่างนี้  ได้ผลและรู้เห็นตามเป็นจริงมาทุกราย

       เลยย้อนถามท่านอีก   " เวลาหลวงพ่อเข้านิโรธครั้งนี้เป็นอย่างไร "

        " มันสบาย  ......สบาย "  ท่านว่า " ไม่มีทุกข์เวทนาเวลาออกมามีแต่ทุกข์มีแต่ร้อน  ผมไม่อยากออกเลยอยากเข้านิโรธอยู่อย่างนั้นตลอดไป "

ข้าพเจ้าท้วงท่านว่า " นิโรธที่หลวงพ่อเข้านั้น  เป็นนิโรธที่ดับเวทนาไม่ได้  ดับได้แต่เวลามันเข้าไป  แต่เวลาที่มันไปรวมอยู่นั้น  ถ้าพิจารณาโดยละเอียด  มิใช่เป็นการดับแต่เป็นการหลบหลีกไป  ไม่สู้เวทนาต่างหากนิโรธแบบนี้เป็นนิโรธที่ขาดสติขาดปัญญา "  ข้าพเจ้าอธิบายให้ท่านฟัง  แล้วก็ยกนิมิตที่เคยเรียนให้ท่านฟังสมัยไปบิณฑบาตรด้วยกันว่า  “ สำหรับผมนี้  ยังไม่เห็นด้วยว่า  หลวงพ่อจะตายในครั้งนี้  ผมได้กราบเรียนนิมิตให้หลวงพ่อฟังแล้วและได้กราบเรียนการพิจารณานิมิตให้ท่านฟังแล้วเป็น  2  นัย  นัยหนึ่ง  หลวงพ่อป่วยหนักแต่ไม่ถึงแก่ความตาย  นัยที่สอง  ทางด้านภาวนา  หลวงพ่อจะได้บรรลุคุณธรรมสูง  อาจจะสูงสุดด้วย  ที่เคยเรียนถวายเมื่อตอนบิณฑบาตรด้วยกัน  หลวงพ่อจำได้ไหมครับ...? "

       ท่านก็ว่า  จำได้ครับ  

       ข้าพเจ้าจึงว่า  “ ผมว่า  ไม่เป็นไรครับ  ไม่ตาย  แต่หลวงพ่อจะป่วยหนักเท่านั้น  ไม่ตาย  กิเลสมันจะตายต่างหาก  อย่าวิตกวิจารณ์เลยครับ “

       อย่างไรก็ตาม  เห็นหลวงปู่ยังลังเลอยู่  ข้าพเจ้าก็ขอให้ท่านพิจารณาของท่านเองอีกครั้งในคืนวันนี้สนทนากันแล้ว  ข้าพเจ้าก็ลาจากมา  วันหลังเมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเยี่ยมท่านอีก  ท่านก็ว่า – พิจารณาซ้ำแล้ว  ปรากฏผลอย่างเก่าที่บอกไว้  คือถึงที่สุดสังขารแล้ว  แน่นอนทีเดียวต้องตายแน่ ๆ

       เมื่อท่านตัดสินใจว่าจะต้องตายแน่นอน  ก็ได้ขอให้ข้าพเจ้าและชาวบ้านช่วยกันทำหีบศพมาให้ท่าน  และท่านขอให้แจ้งข่าวไปถึงท่านอาจารย์และญาติโยมของท่านที่จังหวัดของท่าน  ให้ทราบด้วยว่า  ท่านได้ปลงชนมายุสังขารแล้ว  ข้าพเจ้าจำต้องส่งข่าวไปตามที่ท่านขอร้อง  เรื่องหีบศพก็เช่นกัน  ข้าพเจ้าไม่อยากจะทำเลยแต่ท่านก็เคี่ยวเข็ญขอร้องอยู่นั่นแล้ว  เกรงใจกันว่า  ท่านเป็นผู้มีอายุ  และเจ็บไข้  ก็จำต้องยอมทำตามคำของท่าน  เมื่อทำเสร็จแล้วเอามาไว้ข้างเคียงท่าน  ให้ท่านดู....ตามใจท่าน  ท่านก็พิจารณาความตายไป  อาการป่วยของท่านก็ค่อยทุเลาลงเรื่อย ๆ จนหายขาด

       ครั้นหายขาดแล้ว  ท่านก็มาพิจารณาเรื่องนิมิตที่ท่านปลงสังขารร่างกายแล้วบ่นพึมพำว่า  สังขารมันว่าจะตาย  ทำไมไม่ตาย  มันเป็นอย่างไร  ทำไมมันหลอกลวง  ญาณเป็นอย่างไรเสื่อมไปแล้วไว้ใจไม่ได้แล้ว  ข้าพเจ้าได้โอกาสจึงเข้าไปสนทนากับท่าน และให้อุบายท่านว่า  อย่างนี้ละ  โบราณท่านว่า  ฟานหรือเก้ง  มันตื่นขี้ของมัน  คือ  เก้งมันขี้แล้วพอขี้มันหลุดออกจากตัว  มันก็ตื่นขี้ของมัน  เข้าใจว่า  มนุษย์ขว้างดินใส่มัน  มันจึงตกใจร้อง  กระโดดโลดเต้นวิ่งหนีไป

       “ หลวงพ่อตื่นนิมิตของหลวงพ่อ  ผมได้เรียนให้ทราบแล้วว่า  ถ้าป่วย  ก็ป่วยหนัก  แต่ก็ไม่ตาย  นี่เป็นฝ่ายป่วยถ้าเป็นฝ่ายภาวนา  ทางด้านธรรมะก็จะบรรลุธรรมอย่างเป็นที่พอใจ  หายสงสัยเพราะในขณะผมนิมิตเห็นหลวงพ่อนั่งในกลดมีแต่ภาวนาอย่างเดียวนี้หมายความว่าหลวงพ่อมีแต่พักความสงบอย่างเดียว  ใช้แต่ความสงบอย่างเดียว  อยู่ด้วยความสงบอย่างเดียว  ชมแต่ความสงบอย่างเดียวแล้วบังคับหรือบริกรรมให้แต่จิตรวมอย่างเดียว  เมื่อจิตรวมก็มัวชมเชย  ยินดีในจิตรวม  เมื่อจิตถอน  ก็ไปยึดถือเอาจิตที่รวมนั้นเป็นอารมณ์  อยู่อย่างนั้น  ไปยึดถือเรื่องอดีต  อนาคต  ไม่เห็นปรากฏว่า จิตของหลวงพ่อตัดสังโยชน์ตอนไหน  แล้วถือว่าจิตรวม  นั้นแลเป็นนิโรธ  ถ้าหลวงทำอย่างนี้  มันก็อยู่ในสังขารนั่นเองมันไม่พ้นไปจากทุกข์  เวลาจิตถอนขึ้นมาก็โดนทุกข์อยู่นั่นแหละ  เพราะละไม่ได้แล้วจะมาปลงสังขาร  ปลงชีวิตว่าจะตายเท่านั้นเอง "

       " ส่วนนิโรธของพระอริยเจ้านั้น  หาเป็นเช่นนั้นไม่  เมื่อจิตของท่านลงสู่ฐีติจิต  ถอนจากฐีติจิตแล้วท่านก็พิจารณา  สาวหาเหตุ  หาปัจจัยของธรรมทั้งหลาย  พิจารณาทุกข์พิจารณาเหตุให้เกิดทุกข์  แล้วมันก็รู้เรื่องกันเท่านั้น  ท่านก็ดับทุกข์  ดับเหตุให้เกิดทุกข์ได้เท่านั้น  นี่เป็นนิโรธของพระอริยเจ้า.....นี่แหละครับ  ผมได้ฟังโอวาทของท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตะเถระ  ขณะที่ได้จำพรรษาร่วมกับท่าน  ท่านได้เล่าเรื่องนิโรธสมาบัติให้ฟัง  โดยเหตุที่มีศิษย์ของท่านองค์หนึ่งเล่าเรื่องเข้านิโรธถวายให้ท่านฟัง "

       แล้วข้าพเจ้าก็เล่าเรื่องนิโรธที่ท่านพระอาจารย์มั่น  สั่งสอนสานุศิษย์ให้หลวงปู่บัวทราบโดยละเอียดและเสริมว่า  

        " ท่านย้ำว่า  นิโรธของพระอริยเจ้านั้น  เป็นนิโรธอยู่ตลอดเวลา  ไม่อ้างกาล  อ้างเวลา  ไม่ใช่กาลนั้นจึงจะเข้านิโรธ กาลนี้จึงจะออกนิโรธ  เป็นความดับทุกข์อยู่ตลอดกาล  ตลอดเวลา  เป็นนิโรธที่ดับสังขาร  ไม่มีสังขารแล้วพ้นจากทุกข์  ท่านพระอาจารย์มั่นท่านว่าจะเรียกนิพพานก็ได้  วิสุทธิธรรมก็ได้  อมตธรรมก็ได้  เป็นธรรมที่ไม่ม้วยมรณ์  คือไม่ตาย  เป็นธรรมที่อยู่เหนือโลก  พ้นโลก  หมดสมมติ  หมดบัญญัติ  หมดกริยา  เป็นอกริยา  ไม่มีการไปการมานี้เรียกว่า  นิโรธ...สมกับที่ว่า  พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่  เห็นอยู่  ปรากฏอยู่  ซึ่งธรรมทั้งหลายแก่พราหมณ์ทั้งหลายผู้มีความเพียรเพ่งอยู่  ด้วยสติปัญญาอันละเอียดเช่นนี้  รู้ว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ  ย่อมรู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย  และรู้ความสิ้นไปแห่งเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายนั้น  พราหมณ์ทั้งหลายนั้นย่อมหายจากความสงสัย  ย่อมเป็นผู้มีสติปัญญาสว่างโร่อยู่อย่างนั้น  ย่อมกำจัดมารและเสนามาร  คือ  มาร  และเสนามาร  ได้แก่กิเลสมารย่อมดำรงอยู่ไม่ได้   ดุจพระอาทิตย์ที่อุทัยขึ้นย่อมกำจัดมืดให้อากาศสว่างฉะนั้น  ไม่มีความสงสัยเลย "

        นิโรธะ คือเป็นผู้ดับเหตุ  ดับปัจจัย  ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์  ทำเหตุทำปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งหลายให้สิ้นไป  ดับเหตุ  ดับปัจจัย  ละเหตุ  ละปัจจัย  วางเหตุ  วางปัจจัย  ปล่อยปัจจัย  สละเหตุ  สละปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือ  ตัณหานั้น  พราหมณ์นั้นเป็นผู้มีความเพียรเพ่งอยู่อย่างนี้ด้วยความมีสติ  ด้วยความมีปัญญา  มากำหนดรู้ชัดว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุและปัจจัยแล้วก็ทำเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายที่เป็นตัวสังขาร  เป็นตัววัฏฏเป็นตัวสังขารจักร  ให้เสื่อมไปให้สิ้นไป  ให้หมดไปโดยไม่เหลือนั้นเทียว  ดับเหตุ  ดับปัจจัย  โดยไม่ให้เหลือ  ละเหตุละปัจจัย  โดยไม่ให้เหลือ  วางเหตุวางปัจจัยโดยไม่ให้เหลือ  ปล่อยเหตุ  ปล่อยปัจจัย  โดยไม่ให้เหลือ  สละเหตุ  สละปัจจัย  แห่งธรรมทั้งหลายที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นโดยไม่ให้เหลือนั้น  นั้นเทียว

       นี้เรียกว่า  นิโรธ

       จะไปน้อมจิตเข้าสู่นิโรธนั้น.... ท่านอาจารย์ใหญ่มั่นท่านว่า – จะทำได้อย่างไร  เมื่อไม่มีปัญญารู้ชัด  เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายแล้ว  มันก็เป็นนิโรธที่เดาที่สมมติบัญญัติเท่านั้น  ผิดจากหลักสัจจธรรม

       เมื่อได้สนทนาปราศรัยกันไป  เป็นการแลกเปลี่ยนอุบายและความรู้  หูตาปัญญาของกันและกันแล้ว  ต่อแต่นั้น  ท่านหลวงปู่ก็นำไปพิจารณา  ภายหลังได้ทราบข่าวว่า  ท่านก็ได้รู้ดี   เห็นดี  และมีความหายสงสัยในเรื่องธรรมทั้งหลาย

       ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำจันทน์  มีเรื่องประหลาดเกิดขึ้น  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้  กล่าวคือ  มีพวกข้าราชการและพระฝ่ายตรงกันข้าม  พยายามยุแหย่ติฉินนินทาและใส่ร้ายป้ายสีว่า  ข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์หรือเป็นหัวหน้าคอมมิวนิสต์  เป็นพระก่อการร้าย  เมื่อทราบข่าวเช่นนั้น   ประชาชนก็ตื่นเต้นกันไป

       วันหนึ่งข้าพเจ้าออกเดินทางจากถ้ำจันทน์  จะไปวิเวกที่ภูวัว  ได้มีการสั่งการจากอุดรธานี  วิทยุสั่งให้พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาชายแดน  ประจำอำเภอบึงกาฬให้สกัดติดตามข้าพเจ้าโดยหวังจะฆ่าข้าพเจ้าให้ตาย

       มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งติดตามไปด้วย  แต่ตามไม่ทันข้าพเจ้าเขาก็เลยกลับ  ต่อมาเมื่อเขากลับใจแล้วภายหลังเขาได้มาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า  “ ผมนี่เองเป็นคนติดตามท่านอาจารย์ไป  หวังจะฆ่าท่านอาจารย์ให้ตายที่กลางทางแต่ติดตามไม่ทัน “

       ข้าพเจ้าก็ถามว่า  “จะฆ่าเพราะอะไร "

       เขาตอบว่า  “ จะฆ่า  เพราะผู้กำกับสั่งทางวิทยุให้ผมติดตามฆ่าทานอาจารย์ “

เมื่อข้าพเจ้าได้ลงมาจากภูวัว  มาพักที่ภูกระแต  อำเภอบึงกาฬ  โดยมากับพระครูทองพูล  ในตอนกลางคืน  มีเจ้าหน้าที่  4  คน  เป็นทั้งตำรวจและทหารได้ลงมาหาข้าพเจ้าและบอกว่า ที่พวกเขามานี้  เพราะไดรับคำสั่งจากผู้กำกับ  ให้มาสืบข่าวเรื่องข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าคอมมิวนิสต์พวกเขามีความสงสัยว่า  ข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์จริงไหม

       ข้าพเจ้าจึงถามเขาว่า  “ คอมมิวนิสต์เป็นอย่างไร “

       เขาก็บอกว่า  “ พวกคอมมิวนิสต์  เป็นพวกไม่มีศาสนา  ไม่นับถือทุกศาสนา  ไม่ให้มีคนทุกข์  ไม่ให้มีคนมีให้มีเสมอกัน  ส่วนสมบัติไมให้มีกรรมสิทธิ์ของตน  ให้มีแต่ของส่วนกลาง “

       แล้วข้าพเจ้าก็ย้อนถามเขาว่า “ คอมมิวนิสต์เขานุ่งอย่างไรเขากินอย่างไร  ลูกเมียมีไหม “

       เขาตอบว่า  “ลูกเมียมีครับ  กินอาหารธรรมดา  เขาใส่เสื้อ  นุ่งกางเกงเหมือนชาวบ้านธรรมดา "

        "  เขากินอาหารวันหนึ่งกี่มื้อ  "

        " สามมื้อ  วันหนึ่งสามหน "

        " เขามีโกนหัวไหม "

       " ไม่มี  "

       " อ้อ " ข้าพเจ้าเลยตอบเขาว่า  " เมื่อคอมมิวนิสต์มีลูกมีเมียได้  นุ่งเสื้อนุ่งกางเกง  กินอาหาร  3  มื้อ  ศีรษะไม่โล้น  มีศาสตราอาวุธประจำมือ  อย่างนี้และอาตมาลูกเมียไม่มี  กินข้าวหนเดียว  โกนศีรษะโล้น  ห่มผ้ากาสาวพัสตร์  ไม่มีศาสตราวุธ....จะหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร  ข้าพเจ้าพูดกับเจ้าหน้าที่ในขณะนั้นถ้าคอมมิวนิสต์ไม่มีศาสนาไม่นับถือทุกศาสนาแล้ว  แต่อาตมาก็เป็นพระบวชในพระพุทธศาสนาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านี้  ถ้าจะสงสัยว่า  พระธุดงค์กัมมัฏฐาน  ผู้ปฏิบัติอยู่ตามป่าตามเขาเป็นคอมมิวนิสต์แล้วจะหาพระที่ไหนในเมืองไทย  จะเอาพระที่กินข้าวเย็นมีลูกมีเมียนี่หรือ ....  จึงจะถือว่าเป็นพระที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์หากยังสงสัยว่า  พวกอาตมานี้เป็นพระคอมมิวนิสต์แล้วสมเด็จพระสังฆราชยิ่งเป็นคอมมิวนิสต์ใหญ่  เป็นคอมมิวนิสต์ตัวใหญ่และพระพุทธเจ้าก็เป็นปู่คอมมิวนิสต์เท่านั้น  คำสอนของพระพุทธเจ้าก็แต่ละล้วนกลายเป็นคำสอนของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งนั้นนะซิ  ไม่มีความหมายเลยในพระพุทธศาสนา "

       เขานิ่งเงียบกันไปหมด  แล้วข้าพเจ้าก็เสริมต่อไปว่า  " เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็พวกคุณนี่เอง  พวกรัฐบาลนี่เองเป็นตัวคอมมิวนิสต์ใหญ่  หาอุบายมาล้มล้างศาสนา  โค่นศาสนาทิ้ง  ไม่ต้องสงสัยเลย "

       พอฟังข้าพเจ้าพูดมาถึงเพียงนี้   เจ้าหน้าที่คนหนึ่งก็ร้องอุทานขึ้นว่า  " โธ่....ถ้าท่านอาจารย์พูดเช่นนี้  พวกผมตายหมดไม่มีที่พึ่ง "

       ข้าพเจ้าเลยว่า   " ต้องพูดตามความจริง  เพราะความจริงเป็นอย่างนี้  ตายหรือไม่ตายก็ไม่รู้แหละ  แต่อย่าไปว่าพระธุดงค์กัมมัฏฐานท่านเลย "

       ขอย้อนกล่าวถึงสมัยอยู่ร่วมกับหลวงปู่ท่านนั้นที่ถ้ำจันทน์อีกครั้งหนึ่ง  เพื่อให้ประวัตินี้บริบูรณ์ตามเป็นจริงปรากฏว่า  หลังจากที่ได้สนทนาธรรมเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันแล้ว  พอใกล้เข้าพรรษา  หลวงปู่ท่านก็ได้ลากกลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสำนักเดิมของท่าน  ภายหลังท่านได้พิจารณาธรรมสากัจฉาตามที่ได้สนทนากัน  พระลูกศิษย์ของท่านได้กลับมาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า  ท่านได้ชมว่า   สมัยอยู่ที่ถ้ำจันทน์นั้นดีนัก  ท่านภาวนาได้กำลังมากที่สุด  ถ้าไม่ได้ท่านจวนอยู่ร่วมด้วย  จะเสียเลย  และท่านก็ชมเชยในธรรมสากัจฉาซึ่งกันและกันท่านว่า  ท่านหายสงสัยในธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว

       ข้าพเจ้าฟังแล้วก็พลอยอนุโมทนาสาธุการยินดีกับท่านด้วยแต่ข้าพเจ้าก็ไม่มีคุณธรรมอะไร  ไม่มีภูมิธรรมอะไร  ข้าพเจ้าเป็นเพียงปุถุชนคนมีกิเลสหนาปัญญาหยาบธรรมดา ๆ หินชาติ  หินชนของคนเรา  ไม่มีอะไร  แต่หากว่าได้จำคำสอนของครูบาอาจารย์ที่ได้ศึกษาไว้  และสดับตรับฟังมาตามตำรับตำราและตามครูบาอาจารย์เท่านั้น  จึงสามารถสนทนากับหลวงปู่ได้  ไม่ใช่สมบัติของข้าพเจ้าเลย

       ข้าพเจ้าจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำจันทน์นี้ถึง  4  พรรษาเต็ม  แต่โดยที่ปีแรกที่ออกมาอยู่ถ้ำจันทน์นั้น  เป็นเวลาหลังออกพรรษาที่  16  ใหม่  ๆ ในปี  2501  หลังออกพรรษา  ก็มาอยู่ถ้ำจันทน์แล้วและออกไปจากถ้ำจันทน์ก็เมื่อปลายปี  2505  นับจำนวนปีที่อยู่ที่ถ้ำจันทน์จึงเป็นเวลาถึงเกือบ  5  ปี  ได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของถ้ำจันทน์มาก  ระยะหลังได้มีประชาชนชาวบ้านพากันแตกตื่นเข้าไปตั้งบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก  เพราะเห็นว่าถ้ำจันทน์เป็นที่ทำเลทำมาหากินสะดวกดี  ทำเลดีเหมาะสำหรับจะทำการเพาะปลูกเป็นอย่างดี  น้ำดีดินดี  ที่เคยกลัวเจ้าป่า  เจ้าเขา   ทำนาทำสวนไม่ได้ผลว่าผีห้าม  ผีหวง  ก็ไม่ได้กลัวกันอีก  กลับเล่าลือกันว่าเวลานี้ไม่ว่าจะเพาะปลูกอะไร  ก็อุดมสมบูรณ์ได้ผลดีผู้คนจึงหลั่งไหลกันเข้ามาจับจองที่ดิน  หักร้างถางพงเป็นนา  เป็นไร่  ตั้งบ้านเรือนเป็นปึกแผ่นแน่นหนา

       จากที่เดิม   เมื่อข้าพเจ้าบุกเข้าไปครั้งแรก  กลางดงมีบ้านชาวข่า  2  ครอบครัว  สุดท้ายก็มีประชาชนจากที่ใกล้เคียงและจังหวัดอื่น ๆ อย่างเช่น  ร้อยเอ็ด  นครพนม  อุบลราชธานี  อพยพมาอยู่ด้วยนับเป็นพัน ๆ คน  ข้าพเจ้าได้ให้ตั้งหมู่บ้านกันขึ้นทั้ง  4  ทิศ  ของถ้ำที่ข้าพเจ้าอยู่  เช่น  บ้านคำไผ่  บ้านหนองหมู  บ้านคลองเค็ม  และบ้านโป่งเปือย  เป็นต้นเมื่อมีผู้คนมากขึ้น  แม้ว่าการบิณฑบาตรขบฉันจะสะดวก  แต่ข้าพเจ้าก็เห็นว่า  บ้านเรือนล้นหลาม  มีคนอพยพอยู่อาศัยมาก  มันจะเป็นการคลุกคลี  ไม่ค่อยสงบ  รบกวนต่อการทำสมาธิภาวนาจึงคิดจะโยกย้ายหาที่สงัดวิเวกทำความเพียรต่อไป

       ระยะแรกพอชาวบ้านรู้ข่าว  ก็จะไม่ยอม  ร้องไห้อาลัย  ทั้งเกรงว่าต่อไปการเพาะปลูกจะไม่ได้ผล  ข้าพเจ้าได้ชี้แจงให้เขาเข้าใจความจำเป็นของพระธุดงค์กัมมัฏฐานที่ต้องการความสงัดเงียบ  แสวงหาถ้ำ  หาพลาญหิน  หาซอกเขา  เงื้อมเขาอันสงบสงัด  เป็นที่ทำความเพียร  ส่วนที่เกรงว่า  การทำไร่นาเพาะปลูกจะไม่ได้ผลสมบูรณ์  ขาดแคลนน้ำเพราะฝนฟ้าอาจไม่ตกต้องตามฤดูกาล  ไม่บริบูรณ์อย่างระยะหลังที่ข้าพเจ้าอยู่ด้วยกัน  ข้าพเจ้าก็ขอให้ผู้ที่คงอยู่ช่วยกันตักเตือนซึ่งกันและกันให้ยึดมั่นอยู่ในไตรสรณาคมน์  ต่อคุณพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  อย่าลักขโมยกัน  อย่าประพฤติผิดลูกเมียเขาอย่าพูดเท็จ  อย่าดื่มเครื่องดองของเมาอันจะทำให้เกิดความประมาทให้ขาดสติสัมปชัญญะ  ถ้าชาวบ้านช่วยกันระมัดระวังให้มีศีลกันเป็นปกติวิสัยแล้ว  ไม่ว่าจะอยู่แถบใด  ถิ่นใด  เมืองใด  ประเทศใด  ก็จะพากันมีแต่ความร่มเย็น  ไม่ต้องห่วง  ไม่ต้องสงสัย  

        เมื่อพูดจากันเข้าใจแล้ว  ข้าพเจ้าก็ได้ออกมาจากถ้ำจันทน์


บนศาลาที่ถ้ำจันทร์ (กรกฎาคม 2520 )

ซอกเขาที่เสือเคยคาบลูกหลบไปพักอยู่

ทุกแห่งที่ท่านไปตั้งวัด จะมีลักษณะหินและสะพานเช่นนี้เสมอ

ผ้าขาวชี้ให้ดูจุดที่ขุดแต่งถ้ำ และพบพระโบราณพันกว่าปีฝังอยู่ที่ผนังถ้ำ

โรงต้มน้ำและย้อมจีวร

พระพุทธเจ้า 5 พระองค์

กุฎิที่ท่านเคยพัก ท่านจะนั่งเทศน์บนระเบียงข้างบน
ส่วนชาวบ้านนั่งฟังที่ลานหินข้างล่าง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น