วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

16.พรรษาที่ 9 พ.ศ.2494 ภูสะโกฏ - ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ



พรรษาที่  9  พ.ศ.  2494
ภูสะโกฏ  บ้านหนองเม็ก    นามน

ข้าพเจ้าเห็นว่าที่ภูสะโกฏนี้  เป็นชัยภูมิดี  เป็นป่าอุดมสมบูรณ์  ร่มไม้สงบเยือกเย็น  บริบูรณ์ด้วยถ้ำและเงื้อมหิน  อากาศดี  สงบสงัด  น้ำท่าก็บริบูรณ์  จึงคิดจะจำพรรษาที่นี้  ได้ขอให้ญาติโยมช่วยปรับปรุงเสนาสนะเพื่อจะอยู่จำพรรษาญาติโยมเขาทำให้  2  หลังเพราะมีพระ  2  องค์เท่านั้น  ถ้ำที่พำนักอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ  1  กิโลเมตรการบิณฑบาตจึงไม่ลำบากเหมือนเมื่ออยู่ถ้ำพวง

       ระหว่างพรรษาได้ปรารภความเพียรอย่างหนักการภาวนาดีมาก  จิตรวมเป็นประจำมีนิมิตแปลกว่าพวกเจ้าภูมิ  เจ้าฐานเขามาบอกในนิมิต  ให้ข้าพเจ้าไปเอาพระพุทธรูปที่อยู่ในถ้ำสะโกฏ  7  องค์  เขายกให้ข้าพเจ้าไม่เชื่อ  ไม่สนใจ  จึงไม่ไป  คืนที่  2  เขาก็มาบอกอีก  ข้าพเจ้ายังไม่ไป  คืนที่  3
 เขามาบอกซ้ำและอ้อนวอนให้ไปเอา  ตื่นเช้า  ข้าพเจ้าเลยถามพวกญาติโยมและพระเณรในวัดบ้านดูว่ามีไหม  เคยได้ยินไหม  เณรวัดบ้านบอกว่า  ผมรู้จักถ้ำสะโกฏครับ  ข้าพเจ้าถามเณรว่าพาไปได้ไหมเณรบอกว่า  ได้ครับ  แต่เมื่อถึงแล้วอาจารย์ไปเอาเองนะผมไม่เข้าไปด้วย  ผมกลัวผี

        เณรเลยพาไป  พอถึงถ้ำนั้น  เณรก็ชี้ให้ดูว่า  ถ้ำนี้แหละที่เขาว่ามีพระโบราณ  ข้าพเจ้าเห็นก้อนหินใหญ่ปิดปากถ้ำอยู่  จึงงัดเอาก้อนหินนั้นออก  มองเข้าไปเห็นพระพุทธรูปนอนเรียงอยู่  7  องค์  เป็นพระพุทธรูปทองคำทั้งนั้น  องค์ขนาดนิ้วหัวแม่มือทุกองค์  ข้าพเจ้าจึงเชิญออกมาสักการบูชา  พอออกพรรษาแล้ว  ข้าพเจ้าก็ให้ญาติโยมเอาพระพุทธรูปไว้คืนที่เดิม ไม่ได้ถือเอาติดตัวไปด้วยแต่ปัจจุบันจะอยู่หรือไม่ก็ไม่ทราบ  

       ขณะจำพรรษาที่  9  ที่ภูสะโกฏนี้  เกิดนิมิตว่าพวกเจ้าภูมิเจ้าฐาน  ทางเชียงตุง ( ผีทางเชียงตุง )  ลงมาเยี่ยมข้าพเจ้า  มากันเป็นขบวน  ผีเชียงตุงสั่งผีดงมะอี่ว่าให้รักษาพระองค์นี้ให้ดีอย่าราวี  อย่าเบียดเบียนพระองค์นี้นะ  ผีเชียงตุงสั่งกำชับผีดงมะอี่ให้ดูแลรักษาข้าพเจ้า  ผีดงมะอี่ก็รับคำและว่าจะระวังรักษาข้าพเจ้าไม่ให้มีอันตรายเลย  นี่เป็นปรากฏการณ์ในนิมิต  จะเป็นจริงหรือไม่อย่างไร  ขอท่านผู้ฟังโปรดพิจารณาเอาเองแต่ทว่า  นับตั้งแต่นั้นมาการอยู่ที่ภูสะโกฏนั้นก็สุขสบายดี  ข้าพเจ้าไม่มีเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรเลย

ครั้นออกพรรษาแล้ว   ก็พากันแยกย้ายออกเที่ยววิเวก  ตามสมณวิสัยของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน  มุ่งหน้าไปสู่จังหวัดสกลนคร  เมื่อไปถึงอำเภอสว่างแดนดินได้ข่าวว่าหลวงปู่ขาวมาอยู่จำพรรษา  ที่ถ้ำค้อ  ดงหลุบหวาย  หลุบเทียน  เลยพากันเดินขึ้นไปกราบนมัสการท่าน  ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั้น  1  พรรษาแล้ว  ถ้ำค้ออยู่ไกลหมู่บ้านมากประมาณถึง  300 เส้นหรือ  12  กิโลเมตร  การขบฉันท่านได้อาศัยแม่ชีทำอาหารถวาย  โดยให้ชาวบ้านช่วยกันทยอยส่งเสบียงอาหารขึ้นไปถวายไว้ให้ท่าน  ข้าพเจ้าไปพำนักอยู่ที่ถ้ำค้อกับท่านเป็นเวลาถึง  2  เดือน  เพราะเป็นที่วิเวกดี  มีถ้ำ  ชะเงื้อมเขามาก  

       ท่านพระอาจารย์หลวงปู่ขาวเล่าให้ฟังว่า  เมื่อมาอยู่ครั้งแรกที่ถ้ำค้อนี้  เป็นถ้ำงูใหญ่เห็นเป็นรูลึกลงไปในพื้นเขา  มืดจนมองไม่เห็นว่าลึกสักปานใด  ท่านไปนั่งภาวนาอยู่ปากถ้ำ  วันหนึ่งมีงูเลื้อยออกมาจากปากถ้ำเลื้อยมาใกล้ชิดกับขาของท่านทีเดียว  ท่านลืมตาดู  ท่านว่าทีแรก  ท่านกลัวจนตัวแข็ง  งูนั้นเมื่อเลื้อยมาถึงท่านแล้วก็นิ่งเฉย  เหยียดตัวอยู่อย่างนั้น  ไม่ไปไม่มา  คล้ายกับจะมาเพิ่งพินิจดูอาคันตุกะใหม่แปลกปลอมเข้ามาในถิ่นของเขาให้เต็มตา  เมื่อท่านได้สติ  ก็พิจารณากำหนดความตาย  และแผ่เมตตาให้  ไม่นานงูนั้นก็เลื้อยจากไปตามประสาของสัตว์

       ในบริเวณล้อมรอบถ้ำค้อนั้น  เป็นป่าใหญ่ดงทึบมีสัตว์ป่า  เช่น  เสือ  ช้าง  หมี  กวาง  เก้ง  ท่องเที่ยวกันเป็นแดน  สมัยปัจจุบันนี้เข้าใจว่า  ป่าอาจจะเตียนกันไปหมด  และสัตว์ป่าก็คงจะลดน้อยถอยลงจนแทบไม่เหลือหลอ  

       ข้าพเจ้าอยู่กับหลวงปู่ขาวเป็นเวลาประมาณ  2  เดือน  จึงได้กราบนมัสการลาท่านออกวิเวก  เพราะเห็นว่าที่นั้นถ้าอยู่กันหลายองค์ลำบากเรื่องอาหารขบฉับ  เพราะอยู่ห่างไกลหมู่บ้านมาก  ไม่มีที่บิณฑบาตรข้าพเจ้าได้ลาท่านไปกับท่านอาจารย์คำบุ  ธมฺมธโร  ไปหาที่วิเวกต่อไป

       เรามุ่งหน้าไปออกอำเภอวานรนิวาส  ตั้งใจจะไปดูป่าบริเวณที่เรียกกันว่าดงหม้อทอง  ตำบลบ้านม่วง  ซึ่งได้ข่าวว่ายังเป็นบริเวณที่มีสภาพเป็นป่าอย่างอุดมสมบูรณ์  มีแมกไม้สูงใหญ่  มีสัตว์ป่านานาชนิด  มีถ้ำมีพลาญหินเหมาะเป็นที่ภาวนา

       เมื่อไปถึงชายดงหม้อทองแล้ว  ก็พากันไปอาศัยหมู่บ้านแห่งบ้าน  ซึ่งมีกันอยู่เพียง  3  หลังคาเรือนชาวบ้าน  3  ครอบครัวนี้  ก็เพิ่งอพยพเข้าไปอยู่ใหม่เหมือนกัน  เป็นคนจังหวัดยโสธร  ญาติโยม  3  หลังคาเรือนนี้  เป็นผู้มีศรัทธาดีมาก  เขาช่วยกันปลูกกระต๊อบเป็นเสนาสนะให้ท่านอาจารย์คำบุ  และข้าพเจ้าอยู่กันคนละหลัง

       ตอนนั้นเป็นเดือนมิถุนายน  เดือนเจ็ด

       คืนหนึ่ง  เวลาประมาณตีสาม  ข้าพเจ้ายังนอนหลับอยู่อย่างสนิท  ปกติโดยที่ดงหม้อทองเป็นดงหนาป่าทึบ  มีสัตว์ป่าอุดม  ทั้งฝูงช้าง  เสือ  หมี  เดินท่องเที่ยวกันอย่างเป็นเจ้าของป่า  เราก็มักจะสวนทางกับเจ้าสัตว์พวกนี้เป็นประจำ  แต่ก็เป็นการผ่านกันแต่โดยห่าง ๆ อย่างไรก็ดีคือนั้นปรากฏว่า  มีช้างใหญ่ฝูงหนึ่งออกมาหากินใกล้กับกุฏิพระมาก  เสียงดังสวบสาบใกล้เข้ามาพร้อมกับเสียงกิ่งไม้หักระเนนระนาด  ข้าพเจ้าตกใจตื่นขึ้นด้วยเสียงนั้น

       เห็นฝูงใหญ่ตะคุ่มอยู่  แต่แล้วเจ้าตัวหัวหน้าก็ส่งเสียง  คงจะสั่งบังคับบริวารให้หลีกห่างออกไปจากกุฏิพระเข้าไปในดง  แต่เฉพาะตัวมันเอง....คือเจ้าตัวหัวหน้าใหญ่  แทนที่จะเดินตามบริวารเข้าไปในดงมันกลับเดินตรงเข้ามาที่หน้ากระท่อมข้าพเจ้า  ช้างใหญ่ตัวนั้นมาหยุดยืนอยู่เบื้องหน้าข้าพเจ้า  ห่างประมาณ  6 – 7  เมตรเท่านั้น  แต่ความที่มันทั้งสูงทั้งใหญ่มองดูเหมือนกับกำแพงแผ่นศิลาทึบ จึงดูเหมือนมันมายืนค้ำกระท่อมอยู่ฉะนั้น  มันหยุดยืนนิ่งแล้วก็ร้องแปร๋น ๆ  ส่งเสียงโกญจนาท  คำรามลั่นไปทั้งป่า  แล้วก็แสดงการอาละวาดมีการตีพุ่มไม้บ้าง  เอาเท้าตะกุยดินบ้าง  ต่าง ๆ นานา

       เมื่อเห็นแต่ตัว  ก็แทบไม่ได้สติ  กลัวอยู่แล้วยิ่งได้ยินส่งเสียงขู่คำรามในเวลากลางดึกสงัดเช่นนั้นซ้ำมาอีก  ข้าพเจ้าก็ตกใจแทบสิ้นสติ  ขนพองสยองเกล้าใจหด  ใจหวิว  ใจกลัว  เหงื่อไหลไคลย้อย  ตัวสั่นงันเงกเหมือนผีเข้า  ลุกขึ้นจุดโคมไฟมือไม้สั่น

       ไม้ขีดก็เป็นใจด้วย  ดูไม่ค่อยจะติดได้เสียเลย  พอจุดโคมได้  ข้าพเจ้าก็ถือออกมานอกกระท่อมทั้ง ๆ ที่มือยังสั่นระรัว  เขาว่ากันว่า  ช้างกลัวแสงสว่างแต่มันจะจริงหรือถ้าเผื่อมันเห็นแสงสว่าง  แล้วกลับวิ่งสวนเข้ามาเล่า....?  

       ใจหนึ่งคิดว่า   ถ้าช้างเข้ามา  เราก็จะกระโดดขึ้นต้นไม้  แต่อีกใจหนึ่งก็เอ็ดว่า  เอ...เธอเป็นกัมมัฏฐานจะไปกลัวช้างทำไม  ช้างมันยังไม่กลัวเราเลย  เธอเป็นพระธุดงค์กัมมัฏฐานเป็นผู้เสียสละในชีวิตแล้วไม่ใช่หรือจึงออกธุดงค์กัมมัฏฐาน  ช้างไม่กลัวเราแล้วเราจะไปกลัวช้างทำไม  เราเป็นมนุษย์เป็นสัตว์อันประเสริฐ  แล้วยังเป็นพระที่ถือกันว่าเป็นเพศอันสูงสุด  ช้างมันเป็นสัตว์ช้างยังไม่กลัวเราเลยเราจะชั่วกว่าช้างอีกหรือ  แล้วก็คิดถึงคำที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า  ภิกษุที่เกิด  ความกลัว  ไปอยู่ป่าก็ดี  เรือนว่างก็ดี  ป่าช้าก็ดี  ป่าชัฏก็ดีเมื่อเกิดความกลัว  ขนพองสยองเกล้า  พวกท่านทั้งหลายพึงระลึกถึงเรา  คือ  พระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  พระสังฆคุณเมื่อระลึกถึงเราอย่างนี้  ระลึกถึงพระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ พระสังฆคุณอย่างนี้  ความกลัวขนพองสยองเกล้าก็จักหายไป.....พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้อย่างนี้  เธอลืมหรือยัง

       พอข้าพเจ้านึกเตือนสติตัวเอง  ระลึกถึงพระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  และพระสังฆคุณแล้ว  ความกลัวนั้นก็พลันหายไป  ข้าพเจ้าก็กลับเข้ามานั่งในกลด  กลับมากำหนดพิจารณาถึงความตายว่า  กลัวก็ตาย  ไม่กลัวก็ตาย  ผู้กลัวมันตาย  ผู้ไม่กลัวมันไม่ตาย  พิจารณาไปอย่างนี้  อยู่ที่ไหนมันก็ต้องตาย  ความตายไม่มีใครหลีกเว้นผ่านพ้นไปได้  ไม่ว่าจะตายด้วยประการใดก็แล้วแต่  ท่านจงปลงเสียซึ่งความตาย  อย่าไปหวังชีวิตเลย

       เมื่อกำหนดพิจารณาความตายอย่างนั้นแล้ว  จิตก็ค่อยคลายกลัวลงเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็หายไปหมดไม่มีความกลัวตายเหลืออยู่ในจิตเลย  ช้างก็ไม่กลัวตายก็ไม่กลัว  จิตค่อยสงบเยือกเย็น  เป็นจิตที่สิ้นกลัว  มีแต่ความอาจหาญ  เริงร่า  กล้าผจญกับความตาย  เป็นจิตที่กล้าหาญไม่สะทกสะท้าน  สงบเย็น  กลับนึกถึงช้างที่มาเป็นครูให้เรารู้จักสู้กับความกลัว  กล้าพิจารณาความตาย  มันคงยังยืนสงบนิ่งอยู่ข้างนอกกระมัง  ใจระลึกถึงมันด้วยความรัก  สงสาร

       ข้าพเจ้าเพ่งจิตที่สงบเย็นนั้นแหละ  ไปดูช้างบ้างเห็นช้าง เห็นช้างยืนอยู่ที่เดิม  กระแสจิตที่สงบ  ขณะนั้นคงจะรุนแรงมาก  ช้างจึงตกใจร้องแปร๋นก้องไปทั้งป่าเหมือนคนตีมัน  ฆ่ามัน  แล้ววิ่งหนีเตลิดเข้าป่าไป  รุ่งเช้ายังเห็นต้นไม้หักราบเป็นทางไป  ตั้งแต่วันนั้นมาก็ไม่เห็นฝูงช้างหรือช้างตัวใด  เข้ามาที่หมู่บ้านนั้นอีกเลย

       เมื่อเวลาใกล้จะเข้าพรรษา  ท่านอาจารย์คำบุ  ธมฺมธโร  ก็ลาข้าพเจ้ากลับคืนไปจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ขาว  อนาลโย  คงเหลือข้าพเจ้าอยู่ที่ดอนกระพุง  ชายป่าดงหม้อทอง  ต่อไปตามลำพัง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น