วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

1.ชาติกำเนิด-ปฐมวัย - ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฎฺโฐ



โย  โส  สุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสังฺโฆ
พระสงฆ์สาวกของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นหมู่ใด  เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว

อุชุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ
พระสงฆ์สาวกของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด  เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว

ญายปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ
พระสงฆ์สาวกของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด  เป็นผู้ปฏิบัติถูกแล้ว

สามีจิปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ
พระสงฆ์สาวกของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด  เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว

ตมหํ  สงฺฆํ  อภิปูชยามิ
ข้าพเจ้าขอบูชาโดยยิ่ง  ซึ่งพระสงฆ์หมู่นั้น

ตมหํ  สงฺฆํ  สิรสา  นมามิ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อม  ซึ่งพระสงฆ์หมู่นั้นด้วยเศียรเกล้า


คำขอขมา

อาจาริเย  ปมาเทน  ทฺวารตเยนํ  กตํ  สพฺพํ  อปราธํ  ขมตุ  โน  ภนฺเต  อจฺจโย  โน  ภนฺเต  อจฺจคมา  ยถาพาเล  ยถามุฬเห  ยถาอกุสเล  เย  มยํ  ภนฺเต  กทาจิ  กรหจิ  ปมาทํ  วา  อาคมฺม  อโยนิโส  มนสิการํ  วา  อาคมฺม  มหาเถเร  อคารวํ  อกริมฺหา  กาเยน  วา  วาจาย  วา  มนสา  วา  สมฺมุขาปิ  ปรมฺมุขาปิ  เตสนฺโน  ภนฺเต  มหาเถโร  อจฺจยํ  อจฺจยโต  ปฏิคฺคณหาตุ  อายตํ  สํวราย
โย  โทโส  โมหจิตฺเตน  มหาเถรสฺมํ  ปกโต  มยา  ขมตุ  โน  โทสํสพฺพปาปํ  วินสฺสตฺ  ฯ

ข้าแต่ท่านพระอาจารย์ผู้เจริญ  โดยความเป็นไปล่วงเกินอันใดได้ถึงทับแล้วซึ่งข้าพเจ้าทั้งหลาย ผู้เป็นคนพาล ผู้เป็นคนหลง เป็นคนไม่ฉลาดด้วยประการไร  จำเดิมแต่เกิดมา อาศัยความประมาท  โดยอุบายไม่แยบคาย  ได้กระทำความไม่เคารพ  ในท่านพระอาจารย์ผู้เป็นพระมหาเถระ  ที่ทรงไว้แล้วซึ่งพระคุณอันน่าเคารพสักการะยิ่ง  ด้วยกายก็ดี  ด้วยวาจาก็ดี  ด้วยใจก็ดี  ต่อหน้าก็ดี  ลับหลังก็ดี  และระลึกได้ก็ดี  ระลึกไม่ได้ก็ดี  ขอท่านพระอาจารย์ได้เมตตาให้อโหสิกรรม  ซึ่งโทษอันเป็นไปล่วงเกินนั้นโดยความเป็นโทษอันล่วงเกินของข้าพเจ้าทั้งหลายนั้น  ข้าพเจ้าทั้งหลายจะสำรวมระวังต่อไป  และเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ

จาก “ คำขอขมา “  ซึ่งพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร ( วัน อุตฺตโม )                    
ได้เรียบเรียงไว้สำหรับงานพระราชทานเพลิงศพ  พระอาจารย์ฝั้น  อาจาโร  เมื่อ  20  มกราคม 


คำขออารักขา

อนึ่ง  ด้วยคุณานุภาพแห่งวิสุทธิธรรม ที่ท่านพระอาจารย์ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้ว  ด้วยขันติวิริยะอันแรงกล้าสามารถยังประโยชน์ตนและประโยชน์อื่นให้เกิดขึ้น  ดังสายชลธารยังพื้นแผ่นปฐมพีให้ชุ่มชื่นและยังพืชพรรณธัญญาชาติทั้งปวงให้งอกงามก็ฉันนั้น  เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ  ของท่านพระอาจารย์ในครั้งนี้  ขออย่าได้เกิดมีอุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้นหรือเหตุร้ายพิบัติต่าง ๆ อย่าได้เกิดมีขึ้นและพายุร้าย  ฝนใหญ่ที่โชกโชนอย่าได้พัดผ่านมา  ขอให้งานครั้งนี้นั้นประสพแต่ความราบรื่นชื่นบานคล่องแคล่วปลอดโปร่งสะดวกสบายทุก ๆ วิถีทาง  สมดังความปรารถนาของข้าพเจ้าทั้งหลายทุกประการ  เทอญ ฯ


จาก “คำขออารักขา”  ซึ่งพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร ( วัน  อุตฺตโม )
ได้เรียบเรียงไว้สำหรับงานพระราชทานเพลิงศพ  พระอาจารย์ฝั้น  อาจาโร
 เมื่อ  20  มกราคม  2521






 อัตตโนประวัติ
พระอาจารย์จวน   กุลเชฏฺโฐ
ชาติกำเนิด – ปฐมวัย


ต้นกำเนิด นายจวน  นรมาส  เชื้อชาติไทย  สัญชาติไทย  เกิดเมื่อวันที่  10  กรกฎาคม  2463  ตรงกับวันเสาร์แรม  10  ค่ำ  เดือน  6  ปีวอก  ณ  บ้านเหล่ามันแกว  บ้านเลขที่  28  หมู่ที่  12  ตำบลดงมะยาง  อำเภออำนาจเจริญ  จังหวัดอุบลราชธานี

โยมบิดาชื่อ  นายสา  นรมาส  โยมมารดาชื่อ  นางแหวะ  สกุลเดิม  วงศ์จันทร์  โยมบิดาเล่าให้ฟังว่า บรรพบุรุษของท่านอพยพมาจากเวียงจันทน์เป็นอุปฮาด  ของเวียงจันทน์  เมื่อมีภัยสงครามเกิดขึ้น  เวียงจันทน์แตก  อุปฮาดผู้เป็นต้นตระกูลก็พาครอบครัวอพยพมา  ครั้งแรกตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลหนองวัวลำภู  ต่อมาก็เคลื่อนย้ายถิ่นฐานบ้านช่องกระทั่งท้ายที่สุดมาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีดังกล่าว

โยมบิดามีอาชีพทำนา  และมีความรู้ทางด้านสมุนไพรมาก  เพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียง  เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยได้อาศัยถือเป็นหมอประจำบ้าน  จึงรักใคร่นับถือเมื่อทางการให้มีการเลือกผู้ใหญ่บ้าน  ก็คะยั้นคะยอจะให้โยมบิดาเป็น  โยมบิดาหนีไปอยู่ในนาเสีย  แต่ก็ยังได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านจนได้  โยมบิดาเป็นผู้ใหญ่บ้านของบ้านเหล่ามันแกวอยู่  8  ปี  มาจนกระทั่งถึงแก่กรรม  ซึ่งเวลานั้นเด็กชายจวนมีอายุได้  16  ปี  แล้ว  จำได้ว่า  ชาวบ้านรักและอาลัยมาก

เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้ว  โยมมารดาก็ปกครองทรัพย์สมบัติ  และเลี้ยงลูกทุกคนมาด้วยความอุตสาหะครอบครัวของเรามีพี่น้องร่วมบิดามารดา  7  คนด้วยกันเป็นหญิง  1  คน  ชาย  6  คน  มีชื่อตามลำดับดังนี้คือ
1. นายเหีย นรมาส ถึงแก่กรรม
2. นายแดง นรมาส
3.  นายโลน นรมาส ถึงแก่กรรม
4.  นางน้อยแสง  หมายสิน ( นรมาส )
5.  นายอ่อนจันทร์  นรมาส
6.  นายจวน คือข้าพเจ้า
7.  นายนวล นรมาส



บ้านเลขที่  28  หมู่ที่  12  บ้านเหล่ามันแกว  ต.ดงมะยาง  อ.อำนาจเจริญ  จ.อุบลราชธานี  เป็นที่ซึ่งเด็กชายจวน  นรมาส  ได้ถือกำเนิดมา  เมื่อ  10 กรกฎาคม  พ.ศ.  2463 (ถ่ายจากด้านหน้า)



           
บ้านเลขที่  28  ถ่ายจากด้านข้าง  จากครัว  ปัจจุบันเป็นที่พักอาศัยของพี่ชายและครอบครัว  ในภาพเป็นที่ชายและครอบครัว



บ้านน้องชายของท่านอาจารย์  อยู่ที่บ้านโคกกลาง  ต.ดงมะยาง  อ.อำนาจเจริญ
                      

   โดยที่เด็กชายจวนเป็นน้องเล็ก  เกือบเป็นคนสุดท้องผิวขาวเหลืองคล้ายมารดา
พี่ ๆ  จึงรักและเอ็นดูมากโดยเฉพาะพี่สาว  จะดูแลน้องชายเล็กเป็นพิเศษครั้งหนึ่งถูกดุ  ว่าซนจะไม่ให้กินข้าว  เด็กชายจวนถือคำดุนั้นเป็นจริง  ก็ไม่กินข้าว  ออกไปเที่ยวต่อในนาเสียพี่สาวต้องลงทุนอ้อนวอน  แต่อ้อนวอนเท่าไร  เมื่อเห็นน้องชายไม่กินข้าวจริง ๆ คนดุเองกลับนั่งร้องไห้สงสารน้อง

เมื่ออายุประมาณ  9 – 10  ปี  เด็กชายจวนได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลบ้านดงมะยาง  ตำบลดงมะยาง   อำเภออำนาจเจริญ  การศึกษาเล่าเรียนของชาวชนบทสมัยนั้นกันดารมาก  ตามต่างจังหวัดมีโรงเรียนน้อยที่สุดไม่เพียงพอกับจำนวนพลเมือง  นักเรียนสมัยนั้นจะเข้าเกณฑ์เรียนหนังสือต้องให้โตประมาณ  คืออายุถึง  9 – 10  ปี  เพราะต้องเดินทางไกล  ลำบากมาก  ไม่มีรถยนต์เหมือนสมัยนี้  เด็กทุกคนต้องเดินด้วยเท้า  ในตำบลหนึ่ง ๆ  มิได้มีโรงเรียนครบทุกหมู่บ้าน  ตำบลหนึ่งมีโรงเรียนเพียง  1  หรือ  2  โรงเรียนเป็นอย่างมากหมู่บ้านใดไม่มีโรงเรียน  เด็กก็ต้องมาเรียนรวมกันในโรงเรียนที่หมู่บ้านใกล้เคียง  ซึ่งต้องเดินเป็นสิบกิโลเมตรไม่เหมือนสมัยนี้  ซึ่งโรงเรียนขยายกว้างขวางออกไปและการคมนาคมก็สะดวก  ที่บ้านเกิดของเด็กชายจวนสมัยนั้นก็เช่นกัน  ตำบลดงมะยางมีโรงเรียนเพียงแห่งเดียว  เฉพาะที่บ้านดงมะยางอันเป็นบ้านตำบลเท่านั้นการไปเรียนหนังสือจึงลำบากมาก  ต้องเดินไปด้วยเท้าทั้งไปและกลับ  ตอนเช้า.... กว่าจะถึงโรงเรียน  และตอนเย็น......กว่าจะกลับถึงบ้าน  ก็เหนื่อย แย่เต็มที  เพราะระยะทางไกลมาก  ต่อมาโรงเรียนได้ขยับขยายเข้ามาใกล้บ้านประมาณ  200  เส้น  โรงเรียนได้มาตั้งอยู่ในวัดบ้านกุดสิน  ตำบลดงมะยาง  อำเภออำนาจเจริญเมื่อเรียนขึ้นชั้นประถมปีที่  3  ปีที่  4  ปีที่  5  และปีที่  6  โรงเรียนได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่วัดเจริญจิต  บ้านโคกกลางติดกับบ้านเกิด  ตำบลดงมะยาง  อำเภออำนาจเจริญซึ่งเด็กชาวจวนได้เรียนอยู่ตลอดมาจนจบออกจากโรงเรียน

เมื่อเด็กชายจวนเข้าศึกษาเล่าเรียนแล้ว  ก็ตั้งอกตั้งใจเรียนไม่เคยขาดการเล่าเรียน  เว้นแต่เจ็บป่วย  หรือช่วยผู้ปกครองทำกิจการงาน  เด็กชายจวนในขณะที่เรียนนับแต่ประถมปีที่  1  ถึงประถมปีที่  6  ซึ่งเป็นประถมบริบูรณ์สำหรับโรงเรียนชนบทในสมัยนั้น  เด็กชายจวนสอบไล่ได้ที่  1  ทุกชั้น ๆ ไม่มีได้ที่  2  เลย  เพราะเป็นผู้ขยันในการเรียนดี  นับแต่ชั้นประถมปีที่  1  จนถึงประถมปีที่  6  สอบไล่ได้คะแนนเอก  คือรางวัลที่  1  เป็นที่  1  ของเพื่อนนักเรียนทุก ๆ ชั้น  ครูบาอาจารย์  ชมเชย  ยกย่องว่าเรียนเก่ง  ความประพฤติ  กิริยามรรยาทเรียบร้อยดีมาก  จนบางครั้งบางสมัยครูยังให้ช่วยสอนนักเรียนด้วยกันเองแทนครู  เคยสอนแทนครูบ่อยครั้งตั้งแต่ชั้นประถมปีที่  1  ปีที่  2  ปีที่  3  ปีที่  4
และปีที่  5  ซึ่งเด็กชายจวนเคยสอนเพื่อนนักเรียนด้วยกัน  นับว่าได้ทำประโยชน์ช่วยสนองคุณครูบาอาจารย์

เมื่อออกจากโรงเรียน  อายุได้  16  ปี  ไปประกอบกิจการงานช่วยผู้ปกครองตามหน้าที่ของลูกชาวนาหมาเต่า * เมื่อบิดามีหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองหมู่บ้าน  เด็กชายจวนก็ช่วยบิดาทำงานในหน้าที่ไปด้วยเช่น  งานสำมะโนครัว  เป็นต้น  บิดาเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่  8  ปี  จึงถึงแก่กรรมดังกล่าวแล้ว  หน้าที่งานสำมะโนครัวของเด็กชายจวนจึงยุติไปด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น