วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

18.พรรษาที่ 11 – 13 พ.ศ.2496 – 2498 จำพรรษาที่ดงหม้อทอง - ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ

พรรษาที่  11 – 13  พ.ศ.  2496 – 2498
จำพรรษาที่ดงหม้อทอง
อำเภอวานรนิวาส

       ตั้งแต่พรรษาที่  11  จนถึงพรรษาที่  13  ข้าพเจ้าจำพรรษาอยู่ที่ดงหม้อทองโดยตลอด  เพราะเป็นที่สงบสงัดดี  สภาพของป่าดงดิบหนาทึบที่เต็มไปด้วยไม้ใหญ่  มีถ้ำ  มีเงื้อมหินเผา  และพลาญหินพร้อมทั้งสัตว์ป่าอันดุร้ายที่จะช่วยกำราบกิเลสให้อ่อนราบลง....เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องช่วยในการภาวนาทั้งนั้นการภาวนาดี  จิตสงบ  รวมเร็ว

       เฉพาะพรรษาที่  11  มีพระ  2  องค์  รวมทั้งข้าพเจ้าและเณร 1 องค์จำพรรษาอยู่ด้วยกัน  โดยที่การคมนาคมลำบาก  เพราะเป็นดงป่าหนาทึบจริง ๆ ข้าพเจ้าจึงชักชวนญาติโยม  ช่วยกันตัดถนน  จากดงหม้อทองมาออกบ้านมาย  บ้านดู่  ใช้เวลา  3  เดือนจึงสำเร็จทำให้รถและเกวียนสามารถเดินได้ตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้

       พอออกพรรษาแล้ว  หลวงปู่ขาว  ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดอรุณรังสีจังหวัดหนองคายแต่งคนให้มาหาข้าพเจ้า  ให้ไปรับท่านออกมาวิเวก  ให้หาสถานที่ที่เหมาะสมก่อนแล้วค่อยไปรับท่านระหว่างนั้นข้าพเจ้ามีเพื่อนพระภิกษุอีกองค์หนึ่ง  แต่ท่านเป็นไข้ระยะแรกดงหม้อทองกันดารมากจะมีพระอยู่มากก็ไม่ได้เพราะมีบ้านบิณฑบาตเพียง  3  หลังคาเรือนเท่านั้นพอดีท่านพระอาจารย์สอน  อุตตรปญฺโญ  ธุดงค์มาถึงข้าพเจ้าจึงชวนให้อยู่เป็นเพื่อน  เพื่อช่วยปรนนิบัติหลวงปู่และช่วยทำเสนาสนะถวายให้หลวงปู่และหมู่พวกที่จะติดตามท่านมา

       ข้าพเจ้าและท่านพระอาจารย์สอนจัดเสนาสนะพร้อมแล้วก็ไปรับหลวงปู่ขาวออกมาวิเวก  ท่านพอใจความสงัดเงียบ  เงื้อมถ้ำและพลาญหินที่ดงหม้อทองมาก  จึงอยู่ต่อไปกระทั่งถึงเวลาเข้าพรรษา

       หลวงปู่  และพระติดตามอีก  7 – 8  องค์  ผ้าขาว  2  คน  และแม่ชีอีก  4 – 5  จึงตกลงอธิษฐานพรรษาอยู่ที่ดงหม้อทองด้วยกันทั้งหมด  อาหารขบฉันก็ได้ชาวบ้านนำมาส่งเป็นเสบียงและอาศัยแม่ชีช่วยทำถวายเป็นหลักมากกว่าการบิณฑบาตเพราะระยะนั้นจำนวนญาติโยมมีน้อยกว่าพระมากนัก

       พรรษาที่  12  พ.ศ.  2497  ซึ่งหลวงปู่ขาวมาจำพรรษาด้วยนี้  ต่างพากันปรารภความพากความเพียรอย่างเต็มความสามารถของตน  ฉันเสร็จ  ต่างองค์ต่างก็แยกกันไปทำความเพียร  ประมาณบ่าย  3  โมง  กวาดตาด ( กวาดลานวัด )  แล้วก็ไปรวมกันสรงน้ำหลวงปู่    เสร็จแล้วต่างสรงน้ำและฉันน้ำร้อนแล้วกลับไปเดินจงกรมต่างองค์ต่างสวดมนต์  ตอนเย็นไปรวมกันที่ศาลาถ้าใครมีปัญหาก็เรียนถามหลวงปู่  บางวันท่านก็เทศน์  บางวันก็ไม่เทศน์  เพียงแต่สนทนาธรรม  แต่สำหรับวันพระนั้นพระเณร ชีมารวมกันฟังธรรมหลวงปู่หมดทุกองค์

       ระหว่างอยู่ดงหม้อทองกับหลวงปู่ขาวนี้  กลางคืนวันหนึ่งได้ลงอุโบสถปรากฏมีพวกเสือเขามากัดกันข้างก้อนหิน  ข้างกุฏิที่พระกำลังลงอุโบสถ  ฟังจากเสียงที่กัดหยอกล้อกันนั้นคงจะมีเสือหลายตัวอยู่  มันกัดกันเล่นกันตั้งแต่พระเริ่มสวดปฏิโมกข์  จนกระทั่งสวดปาฏิโมกข์จบ  มันก็ยังไม่เลิกกันกันร้องหยอกล้อต่อกัน  ต่อเมื่อภายหลังหลวงปู่ท่านคงจะรำคาญจึงตวาดเอ็ดตะโรออกไปมันจึงค่อยสงบลงแต่ก็ครางอู้อี้ต่อไปอีกพักใหญ่

       อีกวันหนึ่ง  ตอนบ่ายเวลาประมาณบ่ายโมง   ข้าพเจ้ากำลังนั่งพักผ่อนอยู่บนกุฏิเห็นช้างป่าโขลงใหญ่พากันยกขบวนเข้ามาหากินในเขตวัด  บ้างก็หักกิ่งไม้ดังสนั่น  บ้างก็ลงกินน้ำในห้วยซึ่งอยู่เบื้องล่างกุฏิของข้าพเจ้า  เนื่องจากข้าพเจ้าและท่านพระอาจารย์สอนได้เลือกชัยภูมิสร้างกุฏิกันเป็นอย่างดี  โดยต่างสร้างกุฏิบนหลังพลาญหินก้อนสูงใหญ่ซึ่งต่างมีขนาดสูงใหญ่ไล่เลี่ยกัน  คือแต่ละก้อนต่างกว้างประมาณกว่าห้าเมตรยาวเกือบยี่สิบเมตรและสูงถึงกว่าสิบห้าเมตรพลาญหินทั้งสองก้อนที่ข้าพเจ้าและท่านพระอาจารย์สอนตั้งกุฏิอยู่  จึงเป็นเหมือนกำแพงแท่งศิลาทึบ  ยาวเหยียดตั้งขนานกันโดยตรงระหว่างกลางมีห้วยหนองน้ำคั่นอยู่  ซึ่งมีสัตว์ป่านานาชนิดชอบลัดเลาะเข้ามาหาอาหารและกินน้ำเป็นประจำเวลานั่งบนกุฏิหรือเดินจงกรมอยู่บนพลาญหิน  จึงสามารถเห็น  เก้ง  กวาง  ช้าง  เสือ  หมูป่า  หรือหมี  เข้ามาเดินท่องไพรอยู่ข้างล่างได้อย่างถนัดตา  สำหรับบ่ายวันนั้นช้างฝูงนั้นคงจะสำราญใจเต็มที่  มันจึงเข้ามาเดินเที่ยวกันอย่างเสรี  เท่าที่เห็นด้วยตา  มันมาอยู่ที่เชิงหินริมห้วยก็สิบกว่าตัวแล้วแต่ที่ยังอยู่ในป่าใกล้ ๆ ก็คงจะมีอีกเป็นจำนวนไม่น้อยเพราะฟังจากเสียงที่มันหักกิ่งไผ่  กิ่งยาง  ทิ้งถอนต้นไม้เล็กก็ดังสนั่นไปทั้งป่า

       อย่างไรก็ดีเสนาสนะในดงหม้อทองนี้  ใช่ว่ากุฏิทุกหลังจะปลอดภัยจากสัตว์ป่าเสมอไปก็หาไม่บางหลังอาจจะอยู่ในชัยภูมิที่ปลอดภัยจากช้าง  แต่ก็อาจจะมีเสือเข้ามาเยี่ยมกรายได้  อย่างเช่น  กุฏิของพระบุญทัน  ท่านกำลังจะออกจากกุฏิมองออกไปเห็นเสือใหญ่ตัวหนึ่งเข้ามานั่งจงโคร่งอยู่ตรงบันไดทางขึ้นกุฏิของท่าน  ท่านต้องรออยู่พักใหญ่  จนเสือจากไปแล้วจึงสามารถออกจากกุฏิได้

คืนหนึ่ง  พระเณรฉันอาหารธาตุขันธ์ไม่ถูกกันก็จะต้องรีบเข้าส้วม  ท่านพระอาจารย์สอนไปไม่ทันเณร  ซึ่งวิ่งถลันเข้าไปจับจองก่อน  ธาตุขันธ์ไม่ยอมรอเวลา  ท่านจึงต้องเลี่ยงเข้าป่าไป  ปรากฏมีเสือกระโดดข้ามศีรษะท่านสอนไปเลย  ท่านว่าท่านรู้สึกเย็นวาบไปทั้งตัว  เสือมันกระโจนเข้าไปทางส้วมที่เณรกำลังอยู่  พอรู้ว่าเสือ  เณรก็กระโจนแผล็ววิ่งออกมาป่าราบเคราะห์ดีที่เจ้าเสือตัวนั้นมันคงผ่านเข้าป่าไปแล้ว  เณรจึงไม่ต้องประจันหน้ากับมัน

กุฏิของหลวงปู่ขาว  อยู่ห่างจากกุฏิของข้าพเจ้าและของท่านพระอาจารย์สอนเข้าไปในแนวป่าอีกด้านหนึ่ง  ตั้งอยู่บนพลาญหินเช่นเดียวกัน  แต่มิได้เป็นหินก้อนโดด ๆ เหมือนเป็นภูเขาลูกย่อม ๆ เช่นของเราด้านหนึ่งของพลาญหินของหลวงปู่ อยู่ติดกับราวป่าผ้าขาวที่ติดตามท่านมา  ปลูกกระต๊อบอยู่ลึกเข้าไปในป่าทางด้านนั้น  ฉะนั้นวันหนึ่งช้างจึงเดินเล่นเลยขึ้นมาบนพลาญหินและต่อไปถึงกระต๊อบของผ้าขาวผู้นั้นมันเอางวงหยิบรองเท้าออกมาเล่นและโยนเข้าป่าไปถอนบันไดกุฏิออกมาและโยนเข้าป่าไปด้วย  มันเอางวงควานหาของเล่นอยู่พักใหญ่  เห็นหมดเครื่องกีดหน้าขวางตาแล้ว  ก็เตรียมลาจากไปแต่ก็ยังอดนึกสนุกไม่ได้มันเอางวงมาดุน – ดุนฝาจนกุฏิแทบโยก ปกติผ้าขาวเจ้าของกระต๊อบนั้นเป็นคนหูหนัก อาจจะไม่ได้ยินเสียงผิดปกติ ระหว่างช้างมันยื่นงวงเข้ามาหยิบรองเท้าโยกบันไดแต่เมื่อถึงคราวฝากกระต๊อบของแกโยกผ้าขาวก็อดที่จะรู้สึกไม่ได้พอเห็นว่าเป็นช้างป่าแกก็กระโจนหนีไปหาหลวงปู่ที่กุฏิทันทีตัวสั่นงันงก พูดไม่ออกไปพักใหญ่เสียเวลาซักไซ้ไล่เลียงกันนานกว่าจะรู้เรื่องและตั้งสติได้

        การที่มีสัตว์ป่าเข้ามาเยี่ยมกรายเราบ่อย ๆ นี้ทำให้บรรดาพระเณรพากันระมัดระวังตัว  ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญความเพียรอย่างขะมักเขม้นมิได้ประมาทเลย

ออกพรรษา  ข้าพเจ้าได้ลาหลวงปู่ออกเดินวิเวกมาทางภูวัว  พอกลับจากภูวัวมาถึงดงหม้อทอง  ก็ไม่ได้พบท่านเพราะหลวงปู่ขาวท่านได้กลับไปวัดป่าแก้วบ้านชุมพลแล้ว  พรรษาที่  13  ข้าพเจ้าคงจำพรรษาที่ดงหม้อทองอีกวาระหนึ่ง  พรรษานี้  มีหลวงปู่คำอ้าย  ผู้เป็นชาวเชียงใหม่และเป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาอยู่ด้วย  ท่านพระอาจารย์มั่นเคยแต่งให้ท่านมากำกับข้าพเจ้าครั้งหนึ่งแล้ว  ระหว่างท่านส่งให้ข้าพเจ้าไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านเหล่ามันแกว  บ้านเดิมของข้าพเจ้าเมื่อพรรษาที่  7

ระหว่างพรรษานี้  คืนหนึ่งได้นิมิตว่ามีภิกษุณีองค์หนึ่งมาเทศน์ให้ฟัง  ก่อนจะเทศน์เมื่อท่านมาปรากฏองค์  รู้สึกว่า  งามมาก ข้าพเจ้าจึงถามว่าท่านเป็นใครท่านก็ตอบว่าเป็นภิกษุณีอรหันต์และบอกชื่อให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเมื่อท่านบอกชื่อแล้วท่านก็ก้มลงกราบข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าตกใจ  จะรีบกราบตอบเพราะทราบว่าท่านเป็นพระอรหันต์  แต่ท่านก็ยกมือห้ามทันที  ทำให้ข้าพเจ้าระลึกได้ถึงพระธรรมวินัยที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า  ภิกษุณีแม้จะเป็นอรหันต์จะต้องกราบภิกษุเสมอ  แม้ภิกษุนั้นจะเพิ่งบวชในวันนั้นก็ตาม...

โอวาทที่ท่านเมตตาเทศน์ให้ข้าพเจ้าฟังนั้น  มีอรรถรส  ดื่มด่ำ  น่าฟังอย่างยิ่ง

       พอออกพรรษาได้ล่ำลากันไปหาที่วิเวกโดยข้าพเจ้าได้เดินทางไปทางภูวัวอีก  ในระยะนี้หลวงปู่ขาวท่านได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านเลื่อม  ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดร  เพราะท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ( จูม  พนฺธุโล )  ได้อาราธนาท่านให้ไปฉลองศรัทธาชาวบ้านเลื่อม  ท่านจึงไปจำพรรษาที่นั่น  เมื่อออกพรรษาแล้วท่านทราบว่า  ข้าพเจ้าธุดงค์ไปที่ภูวัว  ท่านก็แต่งญาติโยมให้มาหาข้าพเจ้าที่ภูวัวให้ข้าพเจ้าไปรับท่านเพื่อจะไปจะพรรษาที่ภูวัวด้วยกัน  ข้าพเจ้าจึงไปรับท่านจากที่อุดรมาเพื่อไปจำพรรษาที่ภูวัว

ท่านพระอาจารย์สอน อุตตรปณฺโญ และท่านพระอาจารย์คำ กาญจนวณฺโณ
ยืนอยู่ตรงจุดที่เคยสร้างศาลาพระทำปฎิโมกข์ และมีเสือมากัดหยอกล้อกันก็ ณ.ที่นี้

สะพานเชื่อมระหว่างสองโขดหิน

ท่านพระอาจารย์สอน ชี้ตรงจุดซึ่งกุฎิหลวงปู่ขาว อนาลโย เคยตั้งอยู่

สภาพกุฎิดงหม้อทอง ท่านนั่งดูโขลงช้างมากินน้ำบนนี้
และบนลานหินทางซ้ายมือ ท่านเอาปี๊บคว่ำนั่งภาวนา

ซอกเขาซึ่งเสือเคยอยู่

แนวทางจงกรมบนหลังโขดหิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น