วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

15.เอากระดูกช้างมาเป็นยาแก้โง่ - ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

ท่านพระอาจารย์สอน อุตตรปัญโญ ได้แขวนกระดูกช้างให้ถ่ายถาพ
เพื่อจำลองเหตุการณ์ระหว่างที่ท่านพระอาจารย์จวน อยู่ ณ.ถ้ำพวง


เอากระดูกช้างมาเป็นยาแก้โง่

อยู่ต่อมา ได้มีพวกญาติโยม  พ่อออก  แม่ออก  สีกาสาว  ขึ้นไปเที่ยวชมถ้ำพวงมากขึ้น  บางคนก็ไปส่งเสบียงอาหาร  ญาติของสามเณรคนหนึ่งเป็นหญิงสาวไปส่งอาหารถวายพระทุกวัน  เขาไม่ได้ส่งแต่อาหาร  หากแต่ส่งสายตามาให้ด้วย  ทำตาหวานหยาดเยิ้ม  สายตาของเขาลิด...ลิด..ลิด  แรก ๆ ก็ไม่รู้สึกอะไร  แต่มองตาหวานทุกวัน ๆ ก็เกิดความรักความยินดีในหญิงนั้นเห็นนัยน์ตาของเขาว่างาม  ว่าสวย  ความจริงเขาอาจจะมีกิริยาอ่อนหวาน  ทำตาหวานเช่นนั้นเองตามประสาหญิงสาว  แต่ตัวเราไปหมายนัยน์ตาของเขาเอง  หลายวันเข้า  จิตก็เกิดยินดีในสายตาของเขา

        เวลาภาวนา  เคยพิจารณากระดูกของข้าพเจ้าเอง  มองเห็นแจ่มชัด  กำหนดลงไปทีไร  ก็เห็นกระดูกของเราชัดแจ้งอยู่ดังนั้นแต่คราวนี้  ภาวนาไป  พิจารณากรรมฐานไป  กลับมองไม่เห็นกระดูกอกของเรา  เห็นแต่สายตาของสีกา  มาซับซาบอยู่ในจิต  เห็นแต่ความงามของรูปร่างหน้าตาของเขาลอยวนเวียนแทนหมด  จิตไม่สงบพยายามแก้ไขอย่างไรก็ไม่เป็นผล  ภาวนาทีไรก็เห็นแต่ตาหวานของเขาทุกที  จิตไปจรดจ่ออยู่แต่สายตาลิด-ลิด ๆ ของเขา

        เผอิญมีโยมผู้ชาย  2  คน  ขึ้นมาสนทนาด้วย  คือ  พ่อออกเล็กและพ่อออกนิลมาเล่าว่า   มีคนมาฆ่าช้างตายอยู่ไม่ไกลนัก  และเวลานี้เขากำลังเผาซากช้างนั้นข้าพเจ้าจึงถามว่ามีกระดูกช้างเหลือบ้างไหม  เขาตอบว่า  มี  จึงบอกเขาว่า  จะขอกระดูกขาช้างสักท่อนหนึ่งจะเอามาทำยาแก้โง่  เขาก็รับคำ  และลาไปเอากระดูกช้างมาให้  ที่ซึ่งช้างตายนั้นอยู่ไม่ไกลจากถ้ำที่ข้าพเจ้าอยู่ห่างกันเพียง  3  เส้น  ดังนั้นประเดี๋ยวเดียวโยมก็แบกกระดูกขาช้างกลับมาท่อนหนึ่ง  ยาวสักศอกหนึ่งได้ข้าพเจ้าจึงเอาฝ้ายมาฟั่นทำเป็นเชือกร้อยกระดูกขาช้างท่อนนั้น  แล้วก็เอาขึ้นมาแขวนคอตนเองไว้  แขวนไว้ตลอดเวลา  เดินจงกรมก็แขวนไว้ที่คอ  นั่งภาวนาก็แขวนไว้ที่คอ  แขวนมันอยู่เช่นนั้น  ไม่ยอมถอดออก  แล้วก็สอนตัวเองว่า “ เนื้อไม่ได้กิน  หนังไม่ได้นั่ง  เอากระดูกมาแขวนคออย่างนี้แหละ  ถ้าเธอภาวนาไม่เห็นร่างกระดูกไม่เห็นกระดูกในตนของตนแล้ว  เราจะไม่ปลด  ไม่เปลือง  ไม่แก้ออกให้  แขวนมันอยู่อย่างนี้  รู้จักไหม  กองกระดูก  กระดูกภายนอก  กระดูกภายในมันก็เหมือนกัน  เราก็เป็นสัตว์หนึ่ง “   

       ข้าพเจ้าเทศน์ให้มันฟัง  มันอยากจิตไม่สงบ  มัวแต่ไปหมายสายตาของเขาอยู่อย่างนั้น

       และก็เกิดอุบายว่า  “ ธรรมดาถ้าควายตัวไหนมันดื้อมันด้าน  ไหบุกรั้วเขา ไปเข้ากินพืชผักในสวนของเขาไม่เชื่อฟังเจ้าของ  เขาก็จะต้องแขวนไม้ไว้ทรมานมันอย่างนี้แหละ  เธอก็เหมือนกัน  จิตมันดื้อ  มันด้าน  ไปหมายสายตาของเขาว่าดี  ว่าสวยอย่างนั้นอย่างนี้  เราจึงต้องเอากระดูกช้างมาแขวนคอ  แก้จิตดื้อด้านของตัวเองบ้าง  เดินจงกรมก็แขวน  นั่งภาวนาก็แขวน  แขวนมันอยู่อย่างนั้น  เว้นเสียแต่นอน  ถ้าเธอไม่แก้ไขตัวเอง  

       ถ้าจิตเธอไม่สงบ  ไม่ถอนจากสายตาของเขา  เราเป็นไม่แก้ให้  

       ข้าพเจ้าให้โอวาท  ทรมานมัน  บางทีเวลาฉันหมากบ้วนน้ำหมากไปถูกกระดูกช้าง  กระดูกก็แดงเหมือนเลือด  ข้าพเจ้าแขวนกระดูกช้างไว้เช่นนั้น  จนกระทั่งจิตสงบ  ไม่มีความรู้สึกในสีกาคนนั้นอีกแล้ว  จึงยอมถอดกระดูกนั้นออกจากคอ

       ระหว่างที่ยังคงเอากระดูกช้างแขวนคอ  เดินจงกรมนั่งภาวนา  นั่นแหละ  วันหนึ่งท่านอาจารย์เพ็ง  เตชะพโลมาเห็นข้าพเจ้าเอากระดูกช้างแขวนคอเดินจงกรมภาวนาท่านก็หัวเราก๊ากใหญ่เลย  คงคิดว่า  ข้าพเจ้ามีสติวิปลาสไปแล้ว  พอรุ่งเช้าลงไปบิณฑบาตท่านพระอาจารย์เพ็งจึงไปกราบเรียนหลวงปู่ขาว  ที่จำพรรษาอยู่ตีนเขาภูเหล็กคือที่หวายสะนอยนั่นเอง  ว่า “ ครูบาจวนเอากระดูกช้างมาแขวนคอ  เดินจงกรมและนั่งภาวนาและก็เคี้ยวหมากบ้วนน้ำหมากลงรดกระดูกช้าง  เป็นสีแดงจ้า  ครูบาจวนทำอย่างนั้น เห็นจะเป็นบ้าไปแล้ว  วิปริตไปเสียแล้ว “

หลวงปู่ขาวได้ฟังดังนั้น  จึงได้นิ่งพิจารณาและตอบว่า  “ ฮ้าย....  ไม่ใช่เป็นคนบ้า  ไม่ใช่คนวิปริตหรอกอันนี้เป็นอุบายของท่านต่างหาก  ท่านคงมีเหตุจำเป็นจึงต้องใช้อุบายนี้  คนบ้าคงจะไม่ทำอย่างนี้  นี่เป็นอุบายสำหรับทรมานของท่านต่างหาก  คงจะเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง  เราควรคอยรอฟังกันไปก่อนอย่าเพิ่งเข้าใจว่าท่านเป็นบ้าเลย

       ครั้นข้าพเจ้าจิตสงบเป็นปกติ  จิตจืดจางจากสายตาหวานของหญิงสาวผู้นั้น  การภาวนาก็ดี  จึงเอากระดูกช้างออกจากคอ  แล้ววันหนึ่งก็ไปกราบนมัสการหลวง  ปู่ขาว   อนาลโย  ท่านก็ทักและถามว่า

        “  ท่านจวน  ทำไมจึงเอากระดูกช้างไปแขวนคอ  เดินจงกรมและนั่งภาวนา?  

       ข้าพเจ้าก็เลยเรียนถวายท่านว่า  “ ขณะนั้นสีกาสาว  ที่บ้านโพนสวาง  เขามาส่งอาหารแทบทุกวัน  เขามาส่งสายตาให้ทำตาหวานใส่  หลายวันเข้า  ก็ไปหมายสายตาของเขา  ทำให้จิตใจไม่สงบ  ฉะนั้นกระผมจึงหาอุบาย  เอากระดูกช้างมาแขวนคอเดินจงกรมและภาวนา  เพื่อทรมานมัน  ตอนก่อนนั้น  กระผมพิจารณากระดูกอกตัวเองเห็นได้ชัดเจน   พอมาคิดถึงสายตาของสีกาสาวเข้า  ทำให้ไม่สามารถพิจารณากระดูกของตัวเองได้  จึงเอากระดูกช้างซึ่งเป็นกระดูกสัตว์เหมือนกัน  มาเป็นสักขีพยานแขวนคอภายนอก  เพื่อน้อมเอากระดูกที่แขวนคอนั้น  เข้าไปสู่กระดูกอกที่แขวนคอภายมนของตน  ว่ากระดูกที่แขวนคออยู่ภายนอกและกระดูกที่แขวนคอยู่ภายใน  ก็เป็นกระดูกสัตว์เหมือนกันทำไมท่านจึงไม่เห็น  ถ้าท่านไม่เห็น  เราก็ไม่แก้ออกให้  นี่แหละท่านไปหมายเอาสายตาของเขา  โบราณท่านว่า..เนื้อไม่ได้กิน  หนังไม่ได้นั่ง  กระดูกแขวนคอ  ต่องแต่ง – ต่องแต่ง  อย่างนี้และกระผมก็ได้อุบายสอนตนอีกว่า  ธรรมดาควายตัวไหนมันห้าวมันคะนอง  มันดื้อ  มันด้าน  มันไปบุกรุก  ทำลายเรือกสวนของคนอื่นเขา  เขาต้องทรมานมันเอาไม้ยาว ๆ มาแขวนคอมัน  เพื่อให้มันละพยศอันร้าย  เมื่อมันละพยศอันร้ายแล้ว  เขาจึงเอาไม้ออกจากคอมัน    

       หลวงปู่ขาวท่านก็เลยย้อนถามว่า  

        “ เมื่อท่านทำเช่นนี้แล้ว  เป็นอย่างไร  ได้ผลไหม  สงบไหม “  

       ข้าพเจ้าจึงเรียนท่านว่า  “ ได้ผลครับ  ได้ผลดี  หายเลย  จิตสงบดีแล้ว  ผมจึงปลดออก  แก้ออกจากคอตนเอง “  

       ท่านหัวเราะใหญ่และชมว่า  “ แหม...อุบายอย่างนี้ชอบกลนัก  ดีมาก  ผมยังคิดไม่ได้เลย  เมื่อท่านเพ็งมาบอกผมว่า  ท่านจวนเป็นบ้า  จิตวิปริต  เอากระดูกช้างแขวนคอเดินจงกรม  และนั่งภาวนาผมก็ยังไม่เชื่อ อุบายอย่างนี้แปลกประหลาดจริง ๆ ดีนัก  ได้ผลดี

       ในขณะที่จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำพวงนี้ชอบมีนิมิตแปลก ๆ เกิดขึ้น  ข้าพเจ้าจะเล่าไว้เพื่อให้ผู้ฟังถือเป็นคติต่อไปคือขณะที่ทำความเพียรภาวนา  บางวันจิตสงบลงบางครั้งเห็นรูปนิมิตภาพภาพโยมมารดาที่มรณภาพไปแล้วก็มี  บางครั้งเมื่อจิตมันสงบ  คือ มันจะรวมแต่ก่อนมันจะรวม  ขาดจากอารมณ์  อยู่ในขณะที่จะรวมแหล่มิรวมแหล่  บางทีได้ยินเสียงเขารำ  เขาร้อง  ซึ่งพอจะจำเสียงเพลงที่ร้องเอื้อนอย่างไพเราะได้.... “ โอ้.... ละหนอ....หวายสะนอย  ก็แม่นหนองดีบุก  อันที่จริงที่หวายสะนอย  เป็นแร่ดีบุกอยู่นั่นเอง

        และบางครั้งได้ยินเสียงแตร  เสียงสังข์ที่เป็นเสียงทิพย์ในขณะจิตจะรวมแหล่หรือในขณะกึ่งกลางการรวมหรือการไม่รวม  ข้าพเจ้าได้กำหนดจิตฟังตามเสียงนั้นและเพลิดเพลินตามเสียงนั้น  เพราะเสียงนั้นเพราะ – เสนาะจริง ๆ แล้วจิตก็ถอนจากการรวม   เมื่อจิตถอนจากการรวมก็มีสติตามเสียงนั้นอยู่  ว่าเป็นเสียงอะไรแน่  พอจิตถอนมาอยู่โดยธรรมดาแล้ว  ปรากฏว่า.......ที่ไหนได้  มันเป็นเสียงน้ำที่ตกจากหิน  และเสียงลมพัดใบไม้ที่มันกระทบกันต่างหากจึงมาได้อุบายมาพิจารณาว่า  อ้อ....เมื่อจิตมันละเอียดลงไป  ถ้าเราไม่มีสติ  กระทบเสียงอะไรเสียงนั้นก็กลายเป็นเสียงที่วิจิตรพิสดารขึ้นไป  กลายเป็นเสียงทิพย์ไป

ต่อมาได้เกิดนิมิตอีก  ปรากฏว่า  ข้าพเจ้านั่งภาวนาอยู่ในกุฏิเล็ก ๆ หลังหนึ่งและมีอัฐิ  คือ  กระดูกอยู่ในหม้อตั้งวางอยู่  ขณะข้าพเจ้ากำลังนั่งเพ่งภาวนาดูอัฐินั้น  ก็มีเด็กคนหนึ่งถือดาบกลม  เลื่อม  คมดาบมีสนิมกินไปทั่ว  เด็กคนนั้นจะเอาดาบเข้ามาแทงแยงขึ้นมาตามช่องกุฏิ  หวังจะทำร้ายข้าพเจ้าแต่แทงเท่าไรก็ไม่ถูกสักที  เด็กจึงประกาศว่า – ถ้าเช่นนั้นจะไปบอกพี่ชายของเขาให้มาฆ่าข้าพเจ้า พี่ชายของเด็กคนนั้นก็ถือดาบเล่มนั้นเงือดเงื้อเข้ามาในกุฏิ  จะแทงข้าพเจ้าให้ตายโดยจะตัดคอเลยข้าพเจ้าจึงถามว่า  ข้าพเจ้ามีความผิดอะไรจึงจะมาฆ่าให้ตาย  เขาก็ไม่ฟัง  ตรงข้ามมาดึง  ผมข้าพเจ้า  ( ข้าพเจ้าในรูปฆราวาส ) และจะเอาดาบมาแล่คอข้าพเจ้าให้ขาด  ข้าพเจ้าก็เลยประกาศว่า  เอ้า....ถ้าเรามีความผิดก็เชิญฆ่าเลย  แต่ถ้าเราไม่มีความผิดฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย  นี่จะเอาดาบมาแล่คอเรา  อย่างไรก็แล่ไม่เข้า  ผู้ถือยึดมั่นในคุณพระรัตนตรัย  ถึงพระรัตนตรัยแล้ว  ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย  

       เขาจับผมข้าพเจ้าแล้วเอาดาบมาแล่คออีกแล่ไปเท่าไร ๆ คมดาบก็ไม่เข้าไประคายผิวคอแม้แต่น้อยทำเท่าไร ๆ ก็ไม่เข้าเมื่อหมดความสามารถ  เขาจึงวางดาบลง  ยกมือไหว้  แล้วประกาศว่า “ ต่อแต่นี้ไปขอเป็นเพื่อนเป็นมิตรกัน  ไม่อิจฉาพยาบาทกันเลย “

       เป็นนิมิตเป็นปรากฏขึ้น  จะเป็นเหตุบังเอิญประการใดก็ไม่ทราบ

       ต่อมาข้าพเจ้านั่งภาวนาอยู่ในกุฏิ  ก่อนสว่างได้เห็นสุนัขตัวหนึ่งมานั่งเฝ้า  ข้าพเจ้าได้พิจารณาไป  พอสว่างก็ออกไปบิณฑบาตร  เจ้าสุนัขตัวที่นั่งเฝ้าอยู่ก็ตรงเข้ามากัดข้าพเจ้า  แต่ไม่เข้า  อีก  3  วันต่อมา  สุนัขตัวนั้นก็เลยตาย  ชาวบ้านก็พูดกันทั่วไปว่า   สุนัขตัวที่กัดครูบาจวนตายแล้ว   จะเป็นเพราะเหตุใดก็ไม่ทราบ  เราไม่ได้เจตนาให้เขาตาย  เขาตายเอง

ระหว่างพรรษาที่  8  ที่จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำพวงนี้มีนิมิตอีกอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะขอนำมาเล่าเพื่อให้ประวัติสมบูรณ์  และเพื่อผู้ฟังจะได้น้อมนำไปพิจารณาเอาเอง

       กล่าวคือ  วันหนึ่งเมื่อฉันจังหันแล้ว  และทำความเพียรโดยเดินจงกรมพอประมาณแล้ว  ถึงเวลาพักผ่อนก็เข้าพักผ่อนตามปกติ  พอนอนไป  ระหว่างหลับบ้างไม่หลับบ้าง  อยู่ในระหว่างครึ่งกลางระหว่างหลับ  และไม่หลับ ปรากฏว่า  ยังลืมตาอยู่  แต่จิตสงบนิ่งไม่ฟุ้งสร้านอะไร  นัยน์ตายังลืมอยู่อย่างชัดแจ้ง  แต่ก็ปรากฏภาพนิมิตมียักษ์ใหญ่ตัวหนึ่งเข้ามาจะขอกินดีของข้าพเจ้า  แกว่า  แกอยากจะกินดีของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้านอนอยู่  ยักษ์ก็เข้ามากดมือ  กดขาของข้าพเจ้าไว้ข้าพเจ้าก็เลยประกาศให้ยักษ์ทราบว่า  ดีของข้าพเจ้าไม่มียักษ์เอ็ดตะโรว่า  ต้องมีซี....คนไม่มีดี  มันไม่มีหรอก  ต้องมีดีกันทุกคน  คือ  ทุกคนต้องมีดีทั้งนั้น

       พอว่าอย่างนั้น  ยักษ์ก็เอามีดคว้านท้อง แหวะอกของข้าพเจ้าออก  ค้นคว้าหาอย่างไร  ก็ไม่พบดีของข้าพเจ้านี่เป็นการปรากฏในจิต

       เมื่อยักษ์ค้นคว้าหาดีไม่เห็น  แกก็เลยออกปากว่าแหม – พระองค์นี้ไม่มีดีเลย  ดีพระองค์นี้ไม่มีแล้ว  แล้วก็ประกบแผลให้ดีดังเดิม  จากนั้นข้าพเจ้าก็ตื่นจากนิมิตนั้น  จึงมาพิจารณาเรื่องราวที่เห็นว่า  ยักษ์มาหาดีของข้าพเจ้า  ได้เอามีดแหวะและควักท้องออก  ควักอกออกชอบค้นหาดี แต่ก็หาดีไม่พบ  ตกลงเลยหนี  ไม่ได้กินดีของข้าพเจ้า  พิจารณาตามนิมิตนี้  อาจคิดได้  2  ประการ  ประการแรก  คิดว่า  คนเรามีดี  2  ชนิด  คือ  ดีมีฝักอย่างหนึ่ง  และดีไม่มีฝักอีกอย่างหนึ่ง ดีไม่มีฝักเป็นดีที่ซาบซ่านอยู่ทั่วไป  ส่วนดีมีฝักนี้  อาจจะอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งของระหว่างตับ  ตามตำราท่านกล่าวว่าพวกดีที่มีฝักนี้ชอบจะเป็นโรคนิ่ว  โรคเบาหวานกันโดยมาก  ส่วนพวกดีที่ไม่มีฝัก  ที่ซาบซ่านอยู่ทั่วสรรพางค์ร่างกายนั้น ไม่ใคร่เป็นโรคนิ่ว  .....อาจจะเป็นอย่างประการนี้ก็ได้

       หรืออีกประการหนึ่ง  นิมิตการที่ยักษ์จะพยายามค้นคว้ากินดีนี้  อาจจะมีความหมายว่า  ยักษ์พยายามค้นคว้าหาดวงจิตวิญญาณของข้าพเจ้า  แต่ดวงจิตดวงวิญญาณของเราในขณะนั้นมันสงบเยือกเย็นยักษ์จึงค้นคว้าหาไม่เห็น  เพราะยักษ์มีดวงจิตดวงวิญญาณอันหยาบช้า  ไม่ละเอียด  จึงไม่เห็นกัน....อย่างนี้ก็อาจเป็นได้

       อย่างไร  ขอให้ท่านผู้ฟังและผู้อ่านทั้งหลายโปรดนำไปพิจารณาเอาเอง  ข้าพเจ้าไม่ใช่หมอ  ไม่ใช่แพทย์

       เมื่อออกพรรษาแล้วเสร็จกิจการงานทางสำนักก็ได้พากันนมัสการล่ำลาหลวงปู่ขาว  อนาลโย  ออกวิเวกไปตามสถานที่ต่าง ๆ โดยข้าพเจ้ากับพรรคพวกอีก 2 องค์  ได้เดินทางจากอำเภอสว่างแดนดิน  ไปในเขตจังหวัดอุดร  หนองคาย  และจังหวัดเลย  ได้ไปในอำเภอหนองบัว  อำเภอผือ  อำเภอเชียงคานและปากชม  ต่อมาได้เข้าไปพักวิเวกอาศัยอยู่กับท่านพระอาจารย์หล้า

       ท่านพระอาจารย์หล้าองค์นี้เป็นพระกัมมัฏฐานที่สำคัญมากรูปหนึ่ง  ท่านอยู่วิเวกองค์เดียว  อาศัยพวกชาวป่า  ชาวดอย  ชาวไร่ 3 ครอบครัวที่อยู่บนหลังภูพาน  ระหว่างอำเภอผือกับอำเภอเชียงคานต่อกัน   แต่ค่อนมาทางเขตของอำเภอผือมากกว่า  ท่านจำพรรษาวิเวกอยู่ที่นั้นหลายปีแล้ว  ประวัติท่านพระอาจารย์หล้า  ตามที่ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง  บอกว่ากำเนิดของท่านเกิดอยู่ที่เวียงจันทน์  ประเทศลาว  เป็นคนลาว  เดิมท่านมีครอบครัว  มีลูกเมีย  แต่ต่อมาลูกเมียของท่านเสียชีวิต  ท่านจึงคิดอยากจะละบ้านเรือนออกบวช  ท่านข้ามมาบวชธรรมยุตในประเทศไทย  ครั้นบวชแล้ว  ก็ได้ติดตาม  ท่านพระอาจารย์เสาร์  กันตสีโล  เมืองอุบลไป  เป็นพระผู้อุปฐากใกล้ชิดท่านพระอาจารย์เสาร์  โดยประจำอุปฐากท่านพระอาจารย์เสาร์อยู่ถึง 9 พรรษา  จนกระทั่งท่านพระอาจารย์เสาร์มรณภาพขณะยังมีชีวิตอยู่  ท่านพระอาจารย์เสาร์ได้ให้โอวาทท่านพระอาจารย์หล้าไว้ว่า

        “ ท่านหล้า  ท่านต้องไปอยู่องค์เดียว  อย่าอยู่ปะปนกับหมู่นะ  ให้ไปหาวิเวกภาวนาอยู่องค์เดียว  นิสัยของท่านต้องอยู่องค์เดียว  ชอบอยู่องค์เดียว “

       ท่านพระอาจารย์หล้าเล่าให้ฟังว่า  เมื่อท่านพระอาจารย์เสาร์  กันตสีโลมรณภาพแล้ว  ท่านจึงหาทางหลบหลีกปลีกตัวจากหมู่คณะ  มาอยู่เฉพาะองค์เดียวในสถานที่ต่าง ๆ แถวอำเภอผือบ้าง  อำเภอหนองบัวบ้าง  และอำเภอท่าบ่อบ้าง

       ระยะที่ข้าพเจ้าไปอาศัยอยู่ในสำนักของท่านนั้นท่านอยู่หลังภูพาน  อาศัยบิณฑบาตจากชาวไร่  3  ครอบครัว  ข้าพเจ้าได้ศึกษาธรรมะของท่าน  ฟังเทศน์ของท่านอยู่ประมาณ  1  เดือน  จึงกราบลาจากท่านไป  ระหว่างที่อยู่ด้วยกัน  ท่านเล่าประวัติช่วงหนึ่งของท่านให้ฟังว่า  ท่านเป็นคนลาวเวียงจันทน์  อยู่ในประเทศลาว  เกิดมาไม่เคยเรียนหนังสือไทยเลย  ข้าพเจ้าเลยถามว่า  ท่านอาจารย์ไม่ได้เรียนหนังสือไทยเลย  ทำไมอ่านได้เขียนได้  ท่านก็เลยบอกว่า  ที่ผมอ่านหนังสือไทยได้  เขียนหนังสือไทยได้นั้น  เพราะเวลาผมนั่งภาวนาไปจิตมันสงบ  ปรากฏภาพนิมิตหนังสือไทยเขียนอยู่ในกระดานดำทุกครั้ง ๆ ผมก็เลยเรียนหนังสือไทยในภาวนานั้นเอง  เรียนจากกระดาษดำในขณะนั่งภาวนานั่นเอง  เรียนทุกวัน ๆ ก็เลยอ่านได้  เขียนได้  เวลานี้ผมอ่านหนังสือไทยคล่อง  เขียนได้  อ่านได้สบาย  ไม่มีติดขัดเลย

พระอาจารย์หล้า เขมมปัตโต


        นี้เป็นประวัติที่ท่านพระอาจารย์หล้าได้เล่าให้ฟังผู้ฟังจะเชื่อหรือไม่เชื่อ  ก็สุดวิสัย  แต่ก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้ภาวนามาแล้วได้ประสบด้วยตัวของท่านเอง

       เมื่อพักผ่อนวิเวกต่อไป  เดินทางไปทางอำเภอท่าบ่อ  จังหวัดหนองคาย  ลงเรือล่องตามแม่น้ำโขงที่อำเภอโพนพิสัยมาขึ้นที่อำเภอบึงกาฬ  มากับหมู่อีก  3  องค์  รวมเป็นพระ  4  องค์  รวมทั้งข้าพเจ้า  มุ่งหน้าจะเดินทางมาภูสิงห์และภูวัว  แต่เมื่อมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็หมดเวลาพอดี  รุ่งเช้าจึงไม่ได้ไปวิเวกที่ภูสิงห์  ภูวัว  ตามที่ตั้งใจไว้กลับเลยผ่านไปทางอำเภอเซกา  อำเภอบ้านแพน  อำเภอท่าบ่อ  ศรีสงคราม  ไปขึ้นรถที่อำเภอกุสุมาลย์  จังหวัดสกลนคร  ผ่านนครพนม  ลงไปเขตจังหวัดอุบลราชธานี

        พักอยู่อุบลราชธานีระยะหนึ่ง  ก็ขึ้นรถไปลงที่บ้านนาผือ  อำเภออำนาจเจริญ  เดินทางมุ่งตรงเข้าไปวิเวกที่ภูเขาแห่งนั้น  ขณะนั้นเป็นเดือนกรกฎาคม  ใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว  ไปพักวิเวกที่ถ้ำพู  บ้านเชียงเครือพักที่ถ้ำพู  7  วัน  ได้เกิดป่วยหนัก  เมื่อหายป่วยแล้วได้พากันออกจากที่นั้น  มุ่งหน้าต่อไปบ้านดงมะอี่  กิ่งอำเภอชานุมาน  สมัยนั้นยังไม่เป็นกิ่งอำเภอยังเป็น  ตำบลชานุมานอยู่ขึ้นกับอำเภอมุกดาหารใกล้จะถึงวันเข้าพรรษาจึงไปถึงภูสะโกฏ  บ้านหนองเม็ก  นามน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น