ภูทอกน้อย ฉิม ภูทอกใหญ่ ภูสิงห์น้อย (ภูกิ่ว) และภูสิงห์ใหญ่
มองจากภูวัว
ระยะแรกไม่มีศิษย์คนใดจำชื่อได้ จำชื่อและที่ตั้งสับสนกันหมด
ท่านสอนให้จำง่ายๆว่า
ภูเขาเหล่านี้ ทอดตัวต่อกันยาวเหมือนขบวนรถไฟ
ภูทอกน้อย คือหัวรถจักร ภูทอกใหญ่ คือตู้การ์ด
ภูสิงห์ใหญ่ คือขบวนรถโดยสาร ส่วนฉิมและภูสิงห์น้อย(ภูกิ่ว)
คือ กุญแจต่อระหว่างรถจักร กับโบกี้รถต่างๆ
เทศน์ที่ภูสิงห์น้อย (ภูกิ่ว ) ระหว่างธุดงค์ 8 กุมภาพันธ์ 22
พรรษาที่ 21 พ.ศ. 2506
จำพรรษาที่ภูสิงห์น้อย ( ภูกิ่ว )
ข้าพเจ้าได้ออกมาจากถ้ำจันทน์แต่ในปี 2505 มุ่งหน้ามายังเขาภูสิงห์ ในเขตอำเภอบึงกาฬ เมื่อมาถึงภูสิงห์แล้ว ได้ขอให้ญาติโยมพาไปตรวจสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเขาลูกย่อม ๆ อยู่ระหว่างเขาภูสิงห์ใหญ่ และภูทอกใหญ่ เรียกกันว่า ภูสิงห์น้อย หรือภูกิ่ว ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะของเขาเพราะอยู่ระหว่างแนวเขาใหญ่ 2 ลูกซึ่งคอดกิ่วมาต่อเชื่อมกัน ภูสิงห์น้อยนี้อยู่ตรงกลาง อันมีลักษณะคอดกิ่วจึงกลายเป็นภูกิ่วอีกชื่อหนึ่ง
ข้าพเจ้าได้ตรวจดูสถานที่แล้วก็เห็นว่า เป็นที่พอจะหลบหลีกปลีกตัวซุกซ่อนวิเวกอยู่ได้ มีน้ำซับตามธรรมชาติ มีน้ำไหลตลอดปี จึงตกลงเลือกเป็นที่วิเวกต่อไป โดยมาตั้งต้นปักกลดอยู่ใต้ต้นไม้
เมื่อแรกมาถึงภูสิงห์น้อยนั้น ปรากฏว่ายังเป็นป่ารกชัฏ ต้องป่ายปีนตัดเถาวัลย์ขึ้นไปบนเขา แต่โดยที่พอมีถ้ำมีเงื้อมหินอันสงัด มีน้ำซับตามธรรมชาติ น้ำดี น้ำสะอาด และน้ำมีรสอร่อยดี ก็เลยพากันปลูกเสนาสนะหลังย่อม ๆ อยู่ชั่วคราวโดยอาศัยญาติโยมจากบ้านนาสะแบงบ้าง บ้านนาคำภูบ้าง มายกกระต๊อบอยู่ปลูกเสนาสนะเป็นหย่อม ๆ พากันอาศัยทำความพากความเพียรอยู่ที่นั้น ปรากฏว่าทำความเพียรดีมาก เพราะเป็นที่สงบสงัด และอากาศปลอดโปร่งดี ร่มไม้ก็ดี ต้นไม้ยูงยางยังอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าก็มีมาก การบิณฑบาตก็ไม่ใกล้ไม่ไกล พอไปพอมา อาหารขบฉันก็พอเป็นไป ไม่ใช่ขาดแคลนแต่ก็ไม่ใช่ร่ำรวย พอเยียวยาชีวิตให้ยืนไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น เมื่อถึงเวลาจะเข้าพรรษาปี 2506 ข้าพเจ้าจึงตกลงใจจำพรรษาที่ภูสิงห์น้อย
กุฎิบนภูสิงห์น้อย
ในพรรษามีพระจำพรรษาด้วยกัน 2 องค์ คือ ข้าพเจ้าหนึ่งและพระอาจารย์สอน อุตตรปัญโญอีกหนึ่งมีเณร 1 องค์ และผ้าขาวเฒ่า 1 คน ซึ่งบัดนี้ก็ได้สิ้นชีวิตแล้ว ไปบิณฑบาตที่บ้านนาคำภู ตำบลโคกก่อง อำเภอบึงกาฬ ระยะทางไม่นับจากที่พักบนเขาลงมายังไม่ราบล่าง ....กว่าจะถึงหมู่บ้านก็ประมาณ 3 กิโลเมตร
ข้าพเจ้าได้เพื่อนสหธรรมมิกดี ต่างองค์ต่างแยกกันอยู่ ขมักเขม้นพากันปรารภความเพียรอย่างยิ่งยวด มิได้มีความนอนใจเลย ต่างค้นคว้าพิจารณากัมมัฏฐานของตน พิจารณากายาคตานุสติ ไม่ให้พลั้งเผลอตลอดกาลพรรษา
ในภูสิงห์น้อยนี้ มีเหตุการณ์แปลกที่ควรบันทึกไว้ คือ วันหนึ่งเวลาใกล้พลบค่ำข้าพเจ้าได้เดินจงกรมอยู่ โดยกำหนดจิตภาวนาบริกรรมไปโดยตลอดเวลานั้นเป็นเวลาใกล้มืดแล้ว จมูกรู้สึกได้กลิ่นเหมือนอย่างหนึ่งไม่ใช่กลิ่นเหม็นสัตว์หรือซากสัตว์ เป็นกลิ่นเหม็นชอบกลอยู่ เดินจงกรมกลับไปกลับมาก็ได้กลิ่นเหม็นอยู่อย่างนั้น ก็เลยตั้งวิตกถามจิตขึ้นดูว่า ....เหม็นอะไรนี่
จิตตอบว่า ..นี่เป็นกลิ่นเปรต เหมือนเปรต
ข้าพเจ้าก็เลยนึกอุทิศส่วนกุศลให้กับเขาขณะที่เดินจงกรมต่อไปกลิ่นนั้นก็เลยหายไป
ตอนเช้าลงสู่โรงฉันพบหน้าท่านพระอาจารย์สอนซักกันคุยกันก็เลยได้ทราบว่าท่านอาจารย์สอนก็ได้กลิ่นเหม็นระหว่างเดินจงกรมเหมือนกัน และเมื่อกำหนดจิตถามก็ได้ความอย่างเดียวกันอุทิศส่วนกุศลให้แล้วก็หายกลิ่นเหม็นนั้นเหมือนกันคืนนั้นข้าพเจ้าก็ได้นิมิตประหลาดเห็นเปรต 2 ตน อยู่บนหน้าผาภูสิงห์น้อยนี้เป็นเปรตผู้หญิงนั่งอยู่ด้วยกัน 2 ตน มีแต่ผ้านุ่ง ไม่มีเสื้อ ไม่มีผ้าปกกายข้างบนเลยเปลือยตลอดผมยาวมีผิวสีดำคล้ำเศร้าหมองข้าพเจ้าก็เลยถามดูว่า
“ ท่านเป็นอะไร ทำไมมาอยู่ที่นี้ “
เปรตหญิง 2 ตนนั้น ก็ตอบว่า “ พวกข้าพเจ้าเป็นเปรต อยู่ที่ภูสิงห์นี้ “
“ เป็นเปรตอยู่ในสภาพนี้ตั้งแต่เมื่อไร “
“ เป็นเปรตมานานแล้ว “
“ เอ..ทำกรรมอะไรไว้ จึงต้องมาตกเป็นเปรต “ ข้าพเจ้าถามในนิมิต
เขาก็ตอบว่า เมื่อครั้งพวกข้าพเจ้าเป็นมนุษย์พวกข้าพเจ้าได้เอาตัวไหม ตัวหม่อน ซึ่งมีฝักรังใหม่อยู่ข้างใน โดยมีตัวอ่อนอยู่ข้างใน เอามาต้มในน้ำร้อนเพื่อจะสาวเอาใยไหมมาทอผ้าพวกข้าพเจ้าทำกันอย่างนี้ด้วยบุพพกรรมอันนี้ คือบาปอันนั้นพอตายจากชาติมนุษย์จึงกลายเป็นเปรตมีแต่ผ้านุ่งผ้าห่มปกกายไม่มีดังนี้
ข้าพเจ้าเลยถามเขาว่า " พวกท่านเมื่อเป็นมนุษย์ชื่อว่าอะไรล่ะ "
" พวกข้าพเจ้า เมื่อเป็นมนุษย์เป็นพี่เป็นน้องกันลูกพ่อเดียวแม่เดียวกัน ผู้พี่ชื่อนางสาวทา ผู้น้องชื่อนางสาวสี...."
ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็ตื่นจากนิมิต ข้าพเจ้ามาพิจารณาว่า การทำลายสัตว์มันเป็นบาปจริง ๆ
ที่ภูสิงห์น้อยนี้ ถ้าใครประมาท ขี้เกียจก็จะทำความเพียรไม่ได้ บางทีเห็นผีหัวขาดมีแต่ตัวกับคอ ไม่มีหัว เณร ผ้าขาว เดินจงกรมกลางคืน บางครั้งบางวัน ก็จะเห็นเงาคนเดินจงกรมเคียงไปด้วย แต่ไม่มีหัวเป็นเงาของผีหัวขาด บางคราวถ้าเกียจคร้านไม่ลุกขึ้นบำเพ็ญความเพียร ก็จะมีผู้มาดึงขาบ้าง ทุบกุฏิบ้าง เป็นการเร่งเตือนมิให้ประมาท เณรและผ้าขาวจะโดนกันอยู่เป็นประจำ
ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้ากำลังนั่งทำสมาธิอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่ง ได้ยินเสียงปืนดังเปรี้ยง ๆ 2 นัด อยู่ห่าง ๆ ไม่นานก็เห็นกวาง 2 ตัว วิ่งกระหืดกระหอบมาหยุดยืนทำตาอ่อนละห้อยอยู่ข้างหน้าถ้ำเบื้องหน้าข้าพเจ้า คล้าย ๆ จะมาขอฝากเนื้อฝากตัวหลบภัยให้ช่วยเหลือ ต่อจากนั้นสักประเดี๋ยวก็ได้ยินเสียงปืนระเบิดดังลั่น ไม่ห่างจากที่ข้าพเจ้านั่งอยู่นัก และสักอึดใจต่อมาก็ได้ยินเสียงร้องคราญครางขอความช่วยเหลือ “ โอย...ช่วยด้วย ...ช่วยด้วย “ ข้าพเจ้าจึงลุกขึ้นไปดู ก็เห็นชายคนหนึ่ง ถูกปืนนอนร้องอยู่มีเพื่อนอีกสามคนช่วยประคองอยู่ข้าง ๆ ในมือ เนื้อตัวและเสื้อผ้ามีเลือดอาบแดงฉานถามได้ความว่า พวกเขามาล่าสัตว์ เข้ามาในเขตวัด เห็นกวาง 2 ตัว ผัวเมีย ก็เอาปืนยิงทั้งคู่ แต่ปรากฏว่าพลาดทั้งสองนัด เขาไล่ตามมา เห็นกวางทั้งสองมาหยุดอยู่ตรงหน้าถ้ำ เขาตามมาทันจึงยกปืนยิงมันอีกแต่ปืนยิงไม่ออก สับถึง 2 ครั้ง ครั้งที่สามยิงได้ แต่กลับปืนแตก กระท้อนมาถูกผู้ยิงเอง ตามมือและเนื้อตัว เป็นแผลเหวอะหวะหมด
ข้าพเจ้าไปดูใกล้ ๆ ปรากฏว่า นิ้วมือของชายนั้นขาดไปสามนิ้ว ฝ่ามือทะลุเป็นแผลเหวอะหวะ เลือดโชกพร้อมทั้งแก้มข้างขวาก็มีแผลทะลุใหญ่มาก จึงช่วยเช็ดแผลให้จนเลือดหยุดและก็เตือนให้เขานึกถึงบาปบุญคุณโทษในการที่ตั้งใจจะทำลายชีวิตผู้อื่นโดยเฉพาะในเขตวัด ซึ่งถือว่าเป็นเขตร่มเย็นอาศัยได้ สัตว์ย่อมเข้ามาพึ่งพิงด้วยคิดว่ามีความปลอดภัยชีวิตทุกชีวิตย่อมกลัวตาย พวกเขาทำอะไรลงไปย่อมเป็นกงเกวียนกรรมเกวียน สักวันหนึ่งก็อาจจะต้องมาสนอง... อย่างที่เขากำลังประสพด้วยตนเองนี้ เขาคิดจะฆ่ากวางแต่เขาเองกลับถูกกรรมอันนั้นตอบสนองให้เจ็บปวดอยู่นี้ต่อจากนี้ไปอย่าคิดฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอีกเลย
ข้าพเจ้าให้เขาปฏิญาณรับศีล 5 แล้วก็ให้เขากลับบ้านและเขาก็พูดเล่าลือกันต่อไป ไม่ให้ไปล่วงเกินสัตว์ในเขตวัด อาจจะมีอันตราย...ความจริงข้าพเจ้าก็ไม่ได้ทำอะไร อาจจะเป็นเหตุบังเอิญแต่ก็เป็นการดีอย่างหนึ่ง คือ ทำให้สัตว์ทั้งหมดอยู่ด้วยความสงบสุขขึ้น
พูดถึงเรื่องปืนแตกนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ถ้ำจันทน์วันนั้นข้าพเจ้าออกไปบิณฑบาตรและได้ยินเสียง โอ๊ยเรียกให้ช่วย ก็ปรากฏว่า มีชายคนหนึ่งถูกปืนของตัวเองลั่นใส่ตัวปากกระบอกแตก ข้าพเจ้าช่วยเหลือเยียวยาเขาและต่อมาเขาก็มาขอขมาข้าพเจ้า ได้ความว่า เขามองเห็นสีเหลืองของจีวรข้าพเจ้ารำไรในหมู่ไม้ เขานึกว่าเป็นกวาง เป็นเก้ง ก็กดปืนยิงเปรี้ยงเข้าให้ บังเอิญปืนกลับแตกลั่นถูกตัวเอง บาดเจ็บดังกล่าวเขาว่าเขาผิดพลาด 2 กระทง กระทงแรก คือ มายิงสัตว์ในเขตวัด กระทงสอง มาล่วงเกินยิงข้าพเจ้าผู้เป็นพระภิกษุเขาจึงได้รับผลของกรรมนั้น
คราวนั้นก็เช่นเดียวกับครั้งนี้ ข้าพเจ้าก็ได้สอนให้เขารู้จักบาปบุญคุณโทษของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ให้นึกถึงกรรม ผลของกรรม ซึ่งจะติดตามตัวเราเหมือนรอยเกวียนที่ติดตามเท้าโคฉะนั้น
ระหว่างปีนั้น กลางพรรษา ฝนตกชุกมากน้ำท่วมทางบิณฑบาตรหมด ไปบิณฑบาตรไม่ได้ ชาวบ้านก็มาส่งอาหารไม่ได้ เหมือนถูกปล่อยเกาะน้ำท่วมเจิ่งไปหมด เณรต้องต้มข้าวสาลีที่ปลูกในวัด ต้มข้าวสาลีและผักป่าอาศัยฉันไปวันหนึ่ง ๆ จนกว่าน้ำจะแห้งก็เป็นเดือน ๆ ทีเดียว นับเป็นการผจญภัยอย่างหนึ่ง
ในพรรษาที่อยู่ภูสิงห์น้อยนี้ ได้พากันเร่งบำเพ็ญภาวนากัมมัฏฐานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตามความสามารถของตน ๆ ไม่เป็นผู้ที่ย่อท้อต่อการทำความพากเพียร พิจารณาร่างกายของตน กายาคตาคติไม่ให้จิตรวม ไม่ให้จิตลงพัก พิจารณาไปพอสมควรก็สงบ สงบพอสมควรก็พิจารณาค้นดูในร่างกาย พิจารณาทวนขึ้นและตามลง เป็นปฏิโลมและอนุโลม อุทธํปาทตลา อโธ เกสมตฺถกา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมาเบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไปและด้านกลางสถานโดยรอบค้นดูในร่างกายให้รู้เห็นตามเป็นจริงให้จิตมันอ่อนมันน้อมยอมหันมาเชื่อต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าเพราะสัจจธรรมในร่างกายของเรามีทุกขุมขน ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะสัจจะ แปลว่า ของจริง ร่างกายนี้จะน้อมไปสู่สัจจธรรมของจริงของร่างกาย...เห็นสัจจะ...จริงไปหมด
เช่น เราจะน้อมพิจารณาเป็นของไม่สวยไม่งามเป็นของสกปรกโสโครกเป็นของปฏิกูลพึงรังเกียจ มันก็เป็นจริง เห็นจริง เห็นสัจจะของจริง เห็นในร่างกายของเรานี้เป็นของไม่สวย ไม่งาม จริง
หรือ จะน้อมพิจารณาให้เห็นเป็นธาตุทั้ง 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มันก็เป็นสัจจะจริงเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม จริงทีเดียว
หรือ จะน้อมพิจารณาให้เห็นเป็นซากศพ ซากผี....อย่างนี้มันก็เป็นจริง เพราะมันเหม็นมันเน่า มันสกปรก ตายแล้วก็ผุพัง ละเอียดลงสู่สภาพเดิมคือดินน้ำลมไฟต่างหาก
หรือ จะน้อมพิจารณาให้เห็นว่า มันไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา ให้น้อม ให้รู้ ให้เห็นสัจจะตามความเป็นจริง น้อมพิจารณาดูสังขารตามนี้ให้เห็นเป็นทุกข์...ความคิดเป็นทุกข์จริง ความแก่เป็นทุกข์จริง ความเจ็บเป็นทุกข์จริง ความตายเป็นทุกข์จริง ความโศกความเศร้า ความร้องไห้ร่ำไรรำพันเป็นทุกข์จริง ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นทุกข์จริง น้อมไปตามนี้......น้อมไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ท่านรู้ ท่านเห็นตามความเป็นจริงตามสัจจธรรมที่พระพุทธเจ้าเห็น ที่พระอริยเจ้าเห็นนั้น.....ไม่ยอมที่จะหยุดการพิจารณา พิจารณาจนจิตนั้น ยอมรู้ ยอมเห็น....นั้น เชื่อมั่นว่า สัจจธรรมของจริงมีจริง
จิตยอมเชื่อและเห็นชัดว่า ความเกิดเป็นทุกข์จริง ความแก่เป็นทุกข์จริง ความเจ็บเป็นทุกข์จริง ความตายเป็นทุกข์จริง ความโศก ความเศร้า เป็นทุกข์จริง ความร้องไห้ ร่ำไรรำพัน เป็นทุกข์จริง ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นทุกข์จริง ความเสียใจคับแค้นใจ เป็นทุกข์จริง
น้อมเข้าจนมันรู้ มันเห็น... อย่างนี้ สัจจธรรมประสพสิ่งที่ไม่ชอบเป็นทุกข์จริง พลัดพรากจากสิ่งที่รักใคร่ ชอบพอเป็นทุกข์จริง ไม่สมความรักความปราถนา ไม่สมประสงค์ก็เป็นทุกข์จริง
น้อมเข้ามาพิจารณาขันธ์ 5 ที่ประกอบด้วยอุปาทานคือ ความยึดมั่น ถือมั่น ว่าขันธ์เป็นเรา เราเป็นขันธ์ ขันธ์เป็นตนของเรา ก็พิจาณาเราเป็นทุกข์จริง
ตลอดพรรษาที่อยู่ภูสิงห์น้อย ได้ทำประโยคพยายามพากเพียรโดยไม่ท้อถอย พิจารณาแผ่นดินภายใน อชฌตติกา กล่าวคือ อัตตภาพร่างกายนี้อย่างไม่ลดละ มิให้จิตรวมลง เพราะถ้าจิตรวมลงถึงอัปปนาสมาธิหรือฐีติแล้ว มันพิจารณาอะไรไม่ได้ มันไม่รู้ไม่เห็นอะไรเพราะเป็นจิตที่ละเอียดวางอารมณ์วางธาตุ วางขันธ์ เดินวิปัสสนาไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงไม่ให้จิตรวม ให้จิตสงบพอดีพองาม พอเป็นพื้นฐานของวิปัสสนา ให้เป็นเอกคตารมณ์ มีอารมณ์อันเดียวเจาะจงบ่งเฉพาะสัจจธรรมของจริงอันเดียวเท่านั้น
ในพรรษานี้ การทำความพากเพียรสะดวกมากนักเพราะไม่มีการงานอะไร มีแต่ตั้งหน้าทำความพากเพียรพิจารณากัมมัฏฐานเท่านั้นเพราะเป็นสถานที่ ๆ สงบสงัด หลีกเร้นจากผู้คน วิเวกดีมาก
ถ้าจะเปรียบกับสถานที่ต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้วที่ภูสิงห์น้อยนี้ก็นับเป็นที่สัปปายะที่สุดแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนาของข้าพเจ้า คือ ที่ดงหม้อทองจิตรวมง่าย แต่ปัญญาไม่แก่กล้าที่ถ้ำจันทน์จิตรวมดีเช่นกัน ได้คิดค้นในกายเรื่อยมา กระจ่างมาเป็นลำดับ ๆ พอมาถึงภูสิงห์น้อยปัญญากำลังที่สะสมมาก็ได้ใช้เต็มที่ในครั้งนี้ ข้าพเจ้าเร่งทำความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ เพราะคิดว่าจิตพักมาพอเพียงแล้ว คอยระวังรักษามิให้จิตพักใช้อุบายปัญญาทุกอย่าง เหมือนมักมวยไทยต้องใช้อาวุธในกายทุกอย่างที่มี...ทั้งศอก ทั้งเข่าทั้งเท้า ทั้งกำปั้น อาศัยแยบคายอุบายปัญญาทุกประการที่เกิดขึ้น เพื่อจะพยายามน้อคเอ๊าท์คู่ต่อสู้คือกิเลสให้ล้มคว่ำลงให้ได้
เมื่อออกพรรษา ปวารณาแล้ว ท่านพระอาจารย์สอนก็ออกไปแสวงหาที่วิเวกแห่งอื่น ตามสมณวิสัยของฝ่ายกัมมัฏฐาน ส่วนข้าพเจ้าญาติโยมทางบ้านดอนเสียด ถ้ำพระ ถ้ำบูชา ภูวัว ได้มาอาราธนานิมนต์ ให้ไปโปรดพวกเขา จำพรรษาต่อไปกับเขา โดยให้ไปเลือกสถานที่ซึ่งเหมาะควรจะตั้งเป็นสำนักสงฆ์โปรดญาติโยมในถิ่นนั้น ข้าพเจ้าและเณรก็เลยไปตรวจดู ถ้ำพระและถ้ำบูชาตามคำนิมนต์แล้วก็ตกลงยับยั้งพักอยู่ที่ถ้ำบูชา ทั้ง ๆ ที่ถ้ำบูชาเองก็อยู่ห่างจากหมู่บ้านถึง 10 กิโลเมตร ไม่มีทางจะไปบิณฑบาตรเลย
สมัยนั้นถ้ำพระอยู่ห่างจากหมู่บ้านมากยิ่งกว่าถ้ำบูชา ไม่สะดวกในการบิณฑบาตร หมู่บ้านอยู่ไกลมีแต่ป่าดงพงทึบ เพราะสมัยที่ท่านพระอาจารย์ฟั่นอาจาโร อยู่บำเพ็ญภาวนาและสร้างพระกับท่านพระอาจารย์ทองสุข สุจิตโตนั้น ท่านไม่ได้ลงบิณฑบาตท่านอาศัยญาติโยมทางบ้านนาตะไก้บ้าง บ้านโสกก่ามบ้าง บ้านดอนเสียดบ้าง ลำเลียงอาหาร ข้าวสุกข้าวสารอาหารผักเนื้อ ข้าวปลาอาหารไปสะสมไว้ให้เณร หรือ ผ้าขาว หรือญาติโยมไปทำปิยะจังหันถวายท่านเพราะลงบิณฑบาตรไม่ได้ ไม่มีที่บิณฑบาตรข้าพเจ้าไปตรวจดูแล้ว เห็นว่าไม่มีบ้าน ไม่มีที่บิณฑบาตรลำบาก ก็เลยตกลงเลือกถ้ำบูชา เพราะอย่างไร ถ้ำบูชาก็ยังเป็นสถานที่พอที่จะอาศัยได้บ้าง เนื่องจากใกล้หมู่บ้านมากกว่าถ้ำพระ
แต่ถึงกระนั้น ทางบิณฑบาตรก็ลำบากมากเหมือนกัน ด้วยต้องไปบิณฑบาตรถึง 10 กิโลเมตรที่หมู่ บ้านดอนเสียด ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุด สำหรับทางเดิน แม้จะเป็นเพียงทางเดินป่าอันเป็นปกติธรรมดาของชาวป่าก็ไม่มี ต้องบุกป่าฝ่าดงดอนไปตามทางสัตว์นั่นเอง โดยที่หนทางไกลมาถึง10 กิโลเมตรและต้องบุกป่าฝ่าเขา กว่าจะถึงหมู่บ้านก็กินเวลา 2 ชั่วโมงกว่า หรือ 3 ชั่วโมงทีเดียว ดังนั้นระยะแรก ๆ ที่อยู่บนหลังถ้ำบูชากับเณรรวม 2 องค์นั้น ยังลงบิณฑบาตรไม่ได้ พวกชาวบ้านเขาต้องนำเสบียงอาหารลำเลียงมาส่ง 7 วันครั้งหนึ่ง เช่น ข้าว กะปิ พริก ปลาร้า เกลือ แล้วก็อาศัยเณรหุงต้ม มีพริก มีปลาร้าคลุกเข้ากันแล้วก็เก็บผักป่าตามธรรมชาติมีพวก หัวข่า หัวขิง ผักหนาม เห็ด ยอดผัก ยอดหวายในป่าเหล่านี้ ตามแต่จะหาได้ มาต้ม มาแกง พอเยียวยาอัตตภาพประทังชีวิตไปชั่ววันหนึ่ง ๆ เท่านั้น
เมื่อญาติโยมเขาเสร็จกิจในการงานของเขา คือเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าก็เลยพาญาติโยมตัดทางจากบ้านดอนเสียดขึ้นภูวัว ไปถ้ำบูชา ช่วยกันบุกเบิกทำทางอยู่ 3 เดือน จึงสำเร็จมีความสะดวกในการเดินทางไปมา รถและเกวียนพอเดินได้และเป็นเส้นทางคมนาคมตลอดมาตราบเท่าทุกวันนี้แต่กระนั้นสำหรับการบิณฑบาตร ก็ยังต้องแบ่งกันคนละครึ่งทางกับชาวบ้าน คือ ชาวบ้านครึ่งหนึ่งโดยจัดสร้างแคร่มีที่มุงเล็ก ๆ สำหรับเป็นที่บิณฑบาตรชาวบ้านเดินทางขึ้นมาจากบ้านครึ่งทางมารอใส่บาตรและให้พระลงจากเขามาอีกครึ่งทาง มารับบาตรที่นั้น
เรียกว่า เป็นการพบกันครึ่งทาง ตามสำนวนสมัยใหม่ ก็พอจะได้
อนุโมทนาผู้เผยแพร่วัตรปฏิบัติ ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ ดิฉันได้เดินทางขึ้นไปภูทอกเมื่อ 6 ตค.59 อยากทราบประวัติท่านผู้สร้างทางเดินมหัศจรรย์ที่เราไม่เดยพบเห็นมาก่อน จึงทราบว่าจิตของพระอรหันต์ มีปัญญายิ่งใหญ่จากการฝึกตนด้วยหลักธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอน้อมคารวะ
ตอบลบ