วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

25.พรรษาที่ 26 พ.ศ.2511 จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย - ประวัติท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ



พรรษาที่  26  พ.ศ.  2511
จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ขาว  อนาลโย
ที่วัดถ้ำกลองเพล  อุดรธานี

พรรษาที่  26  นี้  ข้าพเจ้าได้กลับมาอยู่จำพรรษาร่วมกับหลวงปู่ขาว  อีกวาระหนึ่ง  ตอนนี้ท่านได้จากวัดป่าแก้ว  บ้านชุมพล  มาอยู่ที่วัดถ้ำกลองเพลแล้วได้อยู่ปฏิบัติท่าน  ฟังธรรมเทศนา  รับการอบรมจากท่านโดยใกล้ชิด  ในระหว่างกลางพรรษาได้มีการทำบุญฉลองอายุของหลวงปู่

       ออกพรรษา  เสร็จกิจการงานทางถ้ำกลองเพลแล้ว  ข้าพเจ้าก็นมัสการลาหลวงปู่  กลับไปวิเวกที่ภูวัวอีก  ด้วยได้ทราบว่า  อันตรายจากผู้ก่อการร้ายเบาบางลงแล้ว

       ข้าพเจ้าได้วิเวกอยู่ที่ภูวัวอยู่ที่ภูวัว  1  เดือน  คืนวันหนึ่งขณะกำลังนั่งสมาธิบำเพ็ญความเพียรอยู่นั้น  ได้เกิดนิมิตขึ้นมาว่า

       ได้มีปราสาท  2  หลัง  หลังหนึ่งเล็ก  อีกหลังหนึ่งใหญ่โตมาก  ปราสาททั้งสองหลังนี้สวยงามวิจิตรพิสดารมาก  สถานที่ตั้งอยู่คือ  ทางด้านเขาภูทอกน้อยและเขาภูทอกใหญ่  ซึ่งเวลามองจากเขาภูวัว  บริเวณหลังถ้ำบูชาจะเห็นปรากฏชัดอยู่ทุกวัน  ในนิมิตนั้นปรากฏว่า  ข้าพเจ้าได้เหาะขึ้นไปบนปราสาทนั้น  แต่พอขึ้นไป ๆ จะเข้าไปในปราสาทนั้น  บังเอิญประตูทางเข้าปิดอยู่  ทำให้ไม่สามารถจะเข้าไปในปราสาทได้  จึงได้ตั้งอธิษฐานว่า  หากบุญบารมีแรงกล้าขอให้ประตูเปิดออกเข้าไปได้  ทันใดนั้นประตูปราสาทหลังเล็กก็เปิดออก  ข้าพเจ้าจึงเข้าไปในปราสาทนั้นปรากฏว่าห้องหอภายในวิจิตรพิสดารงดงามยิ่งนัก  เป็นที่น่าเพลิดเพลินเจริญใจเป็นอย่างยิ่ง  เห็นหญิงมีรูปสวย  4  คนเฝ้าอยู่ในปราสาทนั้น  และจากที่ยืนอยู่ในปราสาทหลังเล็กจะมองไปเห็นปราสาทหลังใหญ่ได้อย่างเด่นชัด  หญิง  4  คนนั้น  ได้นิมนต์ข้าพเจ้าให้อยู่ร่วมด้วย  ข้าพเจ้าไม่ตกลง  เพราะเป็นพระจะอยู่รวมผู้หญิงไม่ได้  ข้าพเจ้าจึงได้ลงจากปราสาทนั้นไป

       พอจิตถอนออกแล้ว  นิมิตนั้นยังจำติดตาได้อย่างเด่นชัดพร้อมทั้งจำทางขึ้นลงได้อย่างแม่นยำ

       เพื่อพิสูจน์ตามนิมิตนั้น  ข้าพเจ้าเดินทางออกจากภูวัวไปยังภูทอกน้อย  ซึ่งยังไม่เคยได้ขึ้นเขาลูกนี้เลยสักครั้งเดียว  พอไปถึงก็ได้เดินทางขึ้นไปบนเขาตามทางในนิมิตนั้นทุกประการ  ได้สำรวจดูเขาชั้นต่าง ๆ ที่เห็นเป็นโตรก เป็นซอก  เป็นถ้ำ  เป็นหินผา  อันสูงชัน  ก็เห็นว่าเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมที่จะบูรณะให้เป็นสถานที่รมณียสถานอันรื่นรมย์  ให้พระเณรได้บำเพ็ญพรตภาวนาต่อไปได้  จึงตกลงใจเข้าบูรณะและตั้งเป็นวัด  ได้แรงนิมนต์ของชาวบ้านนาคำแคน  บ้านนาต้อง  อาราธนาให้อยู่โปรดเป็นหลักยึดเหนี่ยวแก่พวกเขาอีกแรงหนึ่งด้วย

ข้าพเจ้าเริ่มมาอยู่ที่ภูทอกนี้  ตั้งแต่เดือนมกราคม  พ.ศ.  2512  มาอยู่ครั้งแรกมากับท่านพระครูศิริธรรมวัฒน์  เจ้าอาวาสวัดสามัคคีอุปถัมภ์  อำเภอบึงกาฬ  ในปัจจุบัน  กับผ้าขาวน้อยคนหนึ่งมาอยู่ตอนแรกอาศัยถ้ำตีนเขา  ที่เป็นโรงฉันต่อโรงครัวสมัยนี้  บริเวณโดยรอบเป็นป่าทึบ  รกชัฏ  มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์  มีช้าง มีเสือ  มีหมี  มีงูใหญ่เลื้อยไปมาอยู่ตามถ้ำ  อากาศทึบมาก

เบื้องต้น ภูทอกยังไม่มีแอ่งเก็บน้ำเช่นที่เห็นในปัจจุบันนี้  สมัยนั้นต้องอดน้ำอาศัยน้ำฝนที่ยังคงขังค้างอยู่ตามอ่างหิน  เมื่อหมดน้ำในอ่างหิน  ก็ต้องพากันสะพายกระบอกไม้ไผ่ไปเอาน้ำในทุ่งนา   ไกลประมาณ  2-3  กิโลเมตรทุกวัน ๆ ส่วนอาหารขบฉัน  อาศัยบิณฑบาตรจากชาวบ้านนาคำแคนซึ่งอพยพไปอยู่ใหม่ ๆ ประมาณสัก  10  หลังคาเรือนการขบฉันอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า  ขาดแคลนมากตามมีตามได้  พอรักษาอัตตภาพชีวิตไปชั่ววันหนึ่ง ๆ เท่านั้น   พอย่างเข้าหน้าแล้ง  ข้าพเจ้าก็ขอให้ญาติโยมช่วยถากถางบริเวณนั้น  ที่รกชัฏทึบ  ให้เตียนพอที่จะให้มีอากาศเข้าไปได้บ้าง  และให้ชาวบ้านช่วยกันสร้างทำนบกั้นน้ำ  เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้  ต่อไปเห็นว่าการอยู่ถ้ำจะไม่ปลอดภัย  เพราะอากาศมันทึบเวลาฝนตกเลยขึ้นมาปลูกกระต๊อบอยู่ชั่วคราวที่โขดหินตีนเขาชั้น  2  เป็นไม้ทุบเปลือก  พื้นปูด้วยฟาก  หลังคามุงแฝก  เวลาปีนขึ้นภูทอก  ขึ้นตามรากไม้  ตามเถาวัลย์ทีเดียว

24.พรรษาที่ 22–25 พ.ศ.2507– 2510 จำพรรษาที่ถ้ำบูชา - ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ


บนภูวัว ภุมิประเทศอันงดงาม


พรรษาที่  22 – 25  พ.ศ.  2507 – 2510
จำพรรษาที่ถ้ำบูชา  ตาดสะอาม  ภูวัว

       แม้ระยะที่มาอยู่ถ้ำบูชา  บนหลังตาดสะอามตอนต้น ๆ จะรู้สึกลำบากมากเพราะเสนาสนะที่อยู่อาศัยไม่มี  ต้องอาศัยถ้ำ  อาศัยร่มไม้โดยตลอด.....เวลาอยู่รุกขมูลหรือร่มไม้  ฝนตกหนัก  พายุแรง  เพราะเป็นที่แจ้ง  เวิ้งว้าง  กลดมุ้งจะถูกพัดกระเจิง ถ้าเก็บอัฐบริขารไม่ทัน  ก็เปียกหมด   ตัวเราก็โชกไปทั้งตัว....เวลาอยู่ถ้ำ  อาศัยกันลมได้  แต่บางครั้งฝนตกกระหน่ำก็สาดเข้าไปในถ้ำเปียกหมดเช่นกัน  แต่ความลำบากทางกายเรานี้ก็มิได้ทำให้ย่อท้อ  การบำเพ็ญภาวนาสะดวกสบาย  เป็นที่สัปปายะมากอีกแห่งหนึ่งและพวกชาวบ้าน  ญาติโยม  ก็มีศรัทธาดี  ถึงวันพระจะขึ้นมาฟังธรรมกันอย่างไม่เห็นแก่ความลำบาก  น่าเห็นใจและอนุโมทนาในความเสียสละตั้งใจจริงของเขาดังนั้นข้าพเจ้าจึงตกลงใจอยู่จำพรรษาโปรดพวกเขาและได้จำพรรษาอยู่ถึง  4  พรรษาด้วยกัน  ตั้งแต่ พ.ศ.  2507  ตลอดไปจนถึงพ.ศ.  2510





       พรรษาแรกมีพระ  5  องค์  เณร  2  องค์  เท่านั้นต่างองค์ต่างแยกย้ายกันหาที่วิเวกตามถ้ำ  ตามร่มไม้ตามที่ถูกจริตนิสัยของตน  ไม่ข้องแวะกัน  มาพบกันเฉพาะเวลาฉันเท่านั้น  ปรารภความเพียรกันนอย่างไม่ประมาทได้สร้างโรงครัว  ศาลาโรงฉันข้างล่าง  และชวนพระเณร  ทำบันไดขึ้นหน้าผาขึ้นบนหลังตาดสะอามเพราะข้างบนนั้นเป็นชัยภูมิที่ดี  เหมาะแก่เป็นที่วิเวกรุกขมูล

       ถ้ำบูชานี้  แต่ก่อนมีวัตถุโบราณมีพระพุทธรูปโบราณชาวบ้านไปค้นพบ  ก็จะนำไปออกขายบ่อย ๆ มีข่าว  เล่าลือกันว่า  แม้พระพุทธรูปทองคำก็ยังหลงเหลืออยู่ในถ้ำในเขตภูวัวนี้เพราะพวกพราน  พวกชาวบ้านป่าสมัยโบราณได้เคยหลงทางเข้าไปพบเห็นกันมาแล้วแต่ไม่มีใครกล้านำออกมา  ด้วยเกรงต่ออำนาจเทพารักษ์ที่บำรุงรักษาสถานที่เหล่านั้น  จึงเพียรโจษขานเล่าให้ลูกหลานฟังต่อ ๆ กันมา  พวกญาติโยมสมัยนี้ก็อยากจะได้เห็น  ได้กราบบูชา  จึงมารบเร้าข้าพเจ้า  พวกเขาเองช่วยกันค้นหากันเท่าไรจนเต็มสติปัญญาแล้วไม่เห็นพบ ขอให้พระ  ให้เณร  ช่วยหาด้วยก็ไม่พบ

       วันหนึ่งระหว่างข้าพเจ้าภาวนา  ได้นิมิตไปว่ากำลังค้นหาพระแต่ไม่เห็นปรากฏไปเห็นยักษ์ตนหนึ่งเป็นยักษ์ผู้หญิงรูปร่างสูงใหญ่มาก  ตัวดำสนิทผมยาวรุงรัง  มีแต่ผ้านุ่งเปลือยกายท่อนบนตลอดอกยานใหญ่.....ใหญ่จริง ๆ ท้องก็อ้วนใหญ่  ยืนตระหง่านอยู่ที่น้ำตกสะอาม  ข้าพเจ้าเห็นยักษ์ก็เดินเข้าไปถาม

       “ ท่านมายืนอยู่ที่นี่ทำไม “

       เขาตอบว่า  ข้าพเจ้าเป็นยักษ์  อยู่ที่น้ำตกสะอามนี่  ที่อยู่ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่

       "ทำไมจึงเป็นยักษ์มาอยู่ที่นี่ "

       " เพราะแต่ก่อนเคยทำบาป "

       " เคยทำบาปอะไร " ข้าพเจ้าซัก

       เขาเลยตอบว่า " ตั้งแต่ชาติก่อน  นานมาแล้ว " ชาติไหนไม่ทราบ  ข้าพเจ้าไม่มีญาณระลึกชาติได้..... "  ชาตินั้น  ข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์  ข้าพเจ้าเป็นภรรยาของพระคุณเจ้า  ข้าพเจ้าเป็นผู้ทุกจริต  ประพฤติผิดมิจฉากาม  มีจิตในนอกกรีตนอกรอย  ไม่ซื่อสัตย์ต่อสามี  คือ พระคุณเจ้า  เป็นคนเล่นชู้ไปคบชายอื่นนอกจากสามีเป็นคนเกเรและเมื่อเวลาสามีจับทุจริตได้ก็เลยล่อลวงสามี  ปกปิดไว้ว่า  ไม่ได้ทำ  ไม่ได้ล่วงประเวณีด้วยบาปอกุศลกรรมอันนั้น  ทำให้ข้าพเจ้าต้องมาเกิดเป็นยักษ์อยู่  ณ  ที่นี้ "

       ข้าพเจ้านิ่งฟังด้วยความสลดสังเวชใจในบุพพกรรมเก่าของสัตว์โลก  เวลานั้นมัวแต่นึกสลดใจ  เลยเผลอไปไม่ทันคิดจะถามว่าเขาต้องใช้กรรมมาเกิดเป็นยักษ์นานมาเท่าใดแล้วได้แต่คิดถามเรื่องที่ญาติโยมรบเร้า

       " ที่นี่ – ที่ถ้ำสะอามนี้  เขาว่ามีพระพุทธรูปโบราณอยู่ใช่ไหม มีใช่ไหม ? "

         เขาบอกว่า  “ มี – มีอยู่ “

       "  ท่านรู้จักไหมที่อยู่ของพระพุทธรูป ? "

        เขาบอกว่า " รู้จัก "

       "  ถ้างั้นช่วยบอกได้ไหม "

         เขาสั่นหน้า " ไม่บอก "

       "  ทำไมไม่บอก  "

       " เพราะข้าพเจ้าเกลียดชังท่าน "

      "  เกลียดชังเราทำไม  "

       " เกลียดชังเพราะท่านละข้าพเจ้า  หย่าจากข้าพเจ้าไปในครั้งนั้น "  เขาบอก " พระพุทธรูปมีอยู่  แต่ไม่ให้เห็นหรอก "

        ความจริงจะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ  แต่ในนิมิตครั้งนั้น  ยักษ์ตนนั้นได้บอกข้าพเจ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าตื่นขึ้นพิจารณาถึงนิมิตด้วยความสลดสังเวชใจ  เลยแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลไปให้เขาตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ปรากฏนิมิตเห็นเขาอีกเลยเขาจะพ้นทุกข์ไปแล้วหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ

       สำหรับเรื่องพระพุทธรูปทองคำนั้นข้าพเจ้าเลยบอกญาติโยมที่กำลังวุ่นวายไม่เป็นอันทำอะไรนอกจากคอยไปค้นที่ถ้ำโน้น  คอยมาค้นที่ถ้ำนี้ว่าอย่าไปหาเลย  ไม่เห็นหรอกเขาไม่ให้เห็น

       เขาเชื่อกันหรือไม่ก็ไม่ทราบ  แต่ถึงจะหากันแทบล้มประดาตายกันอย่างไรก็ตาม  ก็หาไม่เห็นจริง ๆ

       นี่เป็นเหตุการณ์ระหว่างพรรษาที่อยู่ตาดสะอามถ้ำบูชา  จะจริงไม่จริงอย่างไร  ก็เป็นนิมิตฝันต่างหากมาเล่าสู่กันฟัง  เพื่อแก้ง่วงเหงาหาวนอนเท่านั้น  ผู้ฟังจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม  ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจอะไรไปบังคับให้เชื่อให้เห็นได้

        ในปี  2508  มีเหตุบังเอิญเกิดขึ้นที่ภูสิงห์น้อย  ถ้าข้าพเจ้าไม่เล่าประวัติก็อาจจะไม่สมบูรจึงขอเล่าถึงเรื่องเหตุบังเอิญที่ภูสิงห์น้อยไว้ด้วย  ณ  ที่นี้

        คือระหว่าง  พ.ศ.  2507  ต่อ  พ.ศ.  2508  ท่านพระอาจารย์เพ็ง   เตชะพโล  ซึงเคยจำพรรษาอยู่กับข้าพเจ้าหลายพรรษา  แต่ต่อมาท่านได้ไปตั้งสำนักที่ภูลังกา  และได้ไปมรณภาพที่นั่นเมื่อปี  2521  ที่ผ่านมานั้น  ท่านได้วิเวกไปที่ภูสิงห์น้อย  ชอบใจอากาศและภูมิประเทศอันสงบร่มเย็น  ไม่พลุกพล่านที่นั้น  ก็กะว่าจะอยู่จำพรรษาที่ภูสิงห์น้อย  ท่านได้อยู่ไปจนถึงเวลาจวนจะเข้าพรรษาปี  2508  ก็เกิดเรื่องขึ้น  โดยมีข่าวเล่าลือหนาหูว่า  ที่ภูสิงห์ใหญ่นั้น  มีพวกก่อการร้ายส้องสุมกันอยู่ที่นั่น  เนื่องจากว่า  ภูสิงห์น้อย  และภูสิงห์ใหญ่นั้นติดต่อเป็นทิวเขาต่อเนื่องกันฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเขาก็เลยกลัวว่า  พระจะเป็นอันตรายจึงนิมนต์ให้พระลงมาจากภูสิงห์น้อยให้ไปจำพรรษาที่อื่น  

       ท่านพระอาจารย์เพ็งก็เลยจำเป็นต้องลงไปจำพรรษาร่วมอยู่กับข้าพเจ้าที่ถ้ำบูชาภูวัว  เมื่อพระอาจารย์เพ็งลงไปได้ไม่กี่วัน  ประมาณ  4 – 5 วัน  เท่านั้น  พวกเจ้าหน้าที่บ้านเมือง  ก็ขึ้นไปสำรวจที่สำนักสงฆ์ข้างบนเขา  เนื่องจากได้มีสงฆ์มาจำพรรษาอยู่ที่นั้น  มาได้  2  พรรษาแล้ว  เสนาสนะ  กุฏิพระ  หรือกระท่อมพระ  จึงมั่นคงพอประมาณเจ้าหน้าที่เกรงว่ากุฏิพระเหล่านั้นจะเป็นที่อาศัยของพวกก่อการร้าย  พวกเจ้าหน้าที่และพวกลาดตระเวนของบ้านเมืองก็เลยเอาไฟจุดเผากุฏิพระหมดทุกหลัง  แม้โอ่งน้ำก็ทุบทิ้ง  แม้โอ่งน้ำก็ทุบทิ้งแม้พืชผลผลหมากรากไม้ที่ปลูกไว้ในวัด  เช่น  มะม่วง  ลำไย  มะนาว  มะพร้าว  ตลอดถึง  ต้นกล้วย  ต้นมะละกอที่พวกผ้าขาว  ชาวบ้านช่วยกันปลูกไว้เป็นกลุ่ม  เป็นกอพวกสวนครัว  อย่างพริก  มะเขือ  ตะไคร้  เหล่านี้เขาก็ทำลายหมด  ตัดฟันทิ้งหมดไม่มีเหลือแม้แต่บ่อน้ำที่ขุดไว้  ลอกไว้  เขาก็ถมและทำลายอีกด้วย

        กุฏิพระที่เผาทิ้งนั้น  เผากันหมด  ทำลายกันหมดแบบไม่ให้เหลือซากเลย  แม้เครื่องบริขารของพระที่เก็บเอาไปไม่ทันหมดเพราะต้องรีบร้อนไป  เช่น  พวก  ผ้าไตรและหนังสือสวดมนต์  หนังสือธรรมตลอดถึงพระพุทธรูปก็ถูกไฟเผาหมดในครั้งนั้นด้วยแล้วก็ทราบว่าจากพวกชาวบ้านว่า  พวกทหารปลายบ้านเรานี้เองมาเผา

       เรื่องนี้ข้าพเจ้าก็ไม่ได้เอาเรื่องอะไร  ปล่อยให้เป็นไปตามหน้าที่ของเขาแล้วก็แล้วกันไป  เพราะบาปก็จะตกแก่ผู้ทำ  กรรมแก่ผู้ก่อขึ้นต่างหาก  เราไม่มีเรื่องอย่าไปก่อความเดือดร้อนและวุ่นวายให้แก่ใคร ๆ

        การมาจำพรรษาที่ถ้ำบูชา  ภูวัวนี้  ดังได้กล่าวแล้วว่า  ข้าพเจ้าออกมาแต่เมื่อออกพรรษาของปี  2506  อยู่วิเวกตามถ้ำตามเงื้อมเขา  และร่มไม้พอดีพอสมควรแล้ว  จึงเริ่มทำเสนาสนะ  ยกแคร่สร้างกระท่อม  กุฏิเป็นที่อาศัย  มีโรงครัว  โรงฉัน   เพิ่มขึ้นเป็นลำดับพระเณรก็มาอยู่จำพรรษาเพิ่มขึ้น  โดยเห็นเป็นที่สงัดเงียบอยู่ในป่าดงพงลึก  เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนากรรมฐาน  ไม่เป็นที่คลุกคลี  พลุกพล่าน  ถึงกาลอันควรพวกศรัทธาญาติโยมก็จะมาฟังเทศน์ รับการอบรม  ส่วนเวลาปกติธรรมดาพระเณรก็มีเวลาเพื่อการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญความเพียร  ตามโอกาสวาสนาของตน  มีความสงบสันติกันมาโดยตลอด  แต่มาปี  พ.ศ.  2508  และปี  พ.ศ.  2509  ที่ภูวัวก็ชักจะมีอันตรายเกิดขึ้นเสียแล้ว  คือในปีพรรษา  2509  นี้เอง  เป็นปีที่น้ำท่วมล้นแม่น้ำโขง  ได้มีการทิ้งระเบิดลงมาที่ภูวัว  6  ลูก

       คืนนั้นมีฝนตกหนัก  ฟ้าคะนองและลมแรงมากไม่มีใครได้ยินเสียงลูกระเบิดแต่อย่างใด   ไม่รู้ว่ามีเครื่องบินมาทิ้งระเบิด  อยู่ต่อมา  3  วันให้หลังโยมขึ้นไปถวายจังหัน  ฤดูนั้นเป็นฤดูที่ฝนกำลังเริ่มชุก  คือ  เป็นเดือนมิถุนายน เดือน  7  เห็ดกำลังชุก  เขาถวายจังหันแล้วก็ออกไปหาเห็ด  เก็บเห็ด  ก็เลยไปเห็นลูกระเบิดเข้า  แล้วมาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบ  ข้าพเจ้าและพระเณรเลยไปตรวจดู  พบลูกระเบิดตกอยู่ในห้วย  ไม่ห่างจากถ้ำบูชาและโรงฉันเท่าใดนัก  พบครั้งแรกเป็นลูกระเบิดเพลิง  1  ลูก  ระเบิดแล้ว  ส่วนอีก  3  ลูก  เป็นลูกระเบิดทำลายขนาดใหญ่ยังไม่ระเบิด  ข้าพเจ้าวัดโดยรอบ  ได้เมตรยี่สิบ ( 1.20 เมตร )  วัดตามส่วนยาวได้เมตรยี่สิบ (1.20 เมตร )  เช่นกัน  บางลูกก็จมอยู่ในน้ำ  บางลูกก็อยู่บนบก  จึงให้คนไปแจ้งกำนันผู้ใหญ่บ้านให้รายงานไปที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเขารายงานไปจนถึงทางทหารที่อุดร  ให้ฝรั่งทหารอเมริกันผู้มาทิ้งระเบิดทราบ  วันหลังก็พบอีก  2  ลูก  เป็นลูกระเบิดทำลาย  ขนาดเดียวกันและยังไม่ระเบิดเหมือนกัน  ทางวัดก็ได้รายงานไปตามลำดับเช่นเดียวกัน

       ผลสุดท้ายทางทหารที่อุดรและฝรั่งทหารอเมริกันก็เดินทางมาสำรวจดู  เขาเอาเฮลิคอปเตอร์มาลงบนลานพลาญหินใหญ่บนหลังถ้ำบูชา  นอนพักกันอยู่  2  คืน  จึงได้จัดการนำเอาลูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิดเหล่านั้นขึ้นมาทำลายได้หมดเวลาจะให้ระเบิดทำลาย  เขาต้องให้พระเณรหลบไปในถ้ำนอนราบกับพื้น  ข้าพเจ้าไม่ได้ไต่ถามว่า  เขามาโยน  มาปลดทิ้งระเบิดกันทำไม  แต่ได้ยินพวกข้าราชการพูดกันว่า  ธรรมดาเมื่อเครื่องบินอเมริกันไปทิ้งระเบิดที่เวียดนามเหนือ  ถ้ามีลูกระเบิดเหลือติดเครื่องบินอยู่  ก็จะต้องสลัดทิ้งตามป่าเขาให้หมดมิฉะนั้นจะมีอันตรายเวลานำเครื่องบินลงสู่สนามบินที่ตั้งฐานทัพ  เขาคงจะคิดว่า  ป่าแถวภูวัวเป็นที่ ๆ ไม่มีผู้คนอาศัยก็ได้  จึงได้สลัดลูกระเบิดลง  ส่วนที่ลูกระเบิดทำลายทั้ง  5 ลูก  ไม่แตกระเบิด  เมื่อตกลงมาถึงพื้นดิน  เพราะเหตุใดนั้น  ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบเหมือนกัน  อาจจะเป็นเพราะอำนาจคุณพระรัตนตรัยคุ้มครองก็ได้

หลังจากนั้น  ก็ได้รับคำเตือนกันเนือง ๆ  ว่าที่ภูวัวไม่เป็นที่ปลอดภัย  ควรจะอพยพโยกย้ายหนีไปจำพรรษาที่อื่น  แต่พระเณรก็ยังคงปฏิบัติสมณธรรมไปตามสมณเพศวิสัย  เร่งความเพียรกันตามสติปัญญาความสามารถของแต่ละคน  จนกระทั่งถึงปลายปี  2511  ข้าพเจ้าก็ได้รับหนังสือจากเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย  ว่าให้พระที่อยู่ถ้ำบูชา  ภูวัว  โยกย้ายหนีจากภูวัว  เพราะเวลานี้บ้านเมืองเกิดความฉุกเฉิน  กลัวจะเป็นอันตรายแก่พระเจ้า  พระสงฆ์  ฉะนั้นจึงขอนิมนต์ให้พวกท่านหนีจากถ้ำบูชา  อย่าอยู่  ให้ลงไปจำพรรษาที่แห่งอื่นแล้วก็ลงนาม  เจ้าคณะ  จังหวัดหนองคาย  สมัยนั้นเป็นท่านเจ้าคุณเทพบัณฑิต

         ข้าพเจ้าพร้อมหมู่คณะและแม่ชี  ก็เลยลงจากถ้ำบูชาในเดือนกรกฎาคม  เป็นเวลาต้นเดือน  ใกล้จะเข้าพรรษาฝนกำลังเริ่มตกชุก  น้ำท่วม  ทางไม่สะดวก  ต้องพากันเดินบุกน้ำ  บุกโคลน  บุกตามลงมาจากเขาลูกนี้  ด้วยความยากลำบาก  มุ่งหน้าไปจำพรรษากับหลวงปู่ขาวที่ถ้ำกลองเพล

ระหว่างอยู่ที่ถ้ำบูชานี้  มีเรื่องแปลกอีกเรื่องหนึ่งที่เกือบลืมเล่าไป  คือวันธรรมสวนะ  ได้มีการสวดปาฏิโมกข์กันบนพลาญหินในตอนกลางคืนกระต่ายป่าที่อยู่ในบริเวณนั้น  ก็เต้นเข้ามาฟังด้วย  แต่แรกมันก็อยู่ห่างหน่อย แต่แล้วก็ค่อยเขยิบเข้ามาจนใกล้  แล้วก็นั่งนิ่งอยู่  อีกตัวหนึ่งก็เต้นตามเข้ามานั่งด้วยเช่นเดียวกัน  ทั้งสองตัวต่างหลับตาพริ้มอยู่โดยสงบมันนั่งฟังปาฎิโมกข์จนจบแล้ว  จึงกระโดดหายเข้าไปในป่าน่าอัศจรรย์ในความช่าง “ รู้ “ ของสัตว์ป่าเหล่านี้ยิ่งนัก

ถ้ำพระ ภูวัว

ก้อนหินที่ท่านพระอาจารย์ฝั้นเรียกงบน้ำอ้อย

พระพุทธรูปที่ท่านพระอาจารย์ฝั้นสร้าง ถ้ำพระ


วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

23.พรรษาที่ 21 พ.ศ.2506 จำพรรษาที่ภูสิงห์น้อย - ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ

ภูทอกน้อย ฉิม ภูทอกใหญ่ ภูสิงห์น้อย (ภูกิ่ว) และภูสิงห์ใหญ่ 
มองจากภูวัว
ระยะแรกไม่มีศิษย์คนใดจำชื่อได้ จำชื่อและที่ตั้งสับสนกันหมด
ท่านสอนให้จำง่ายๆว่า
ภูเขาเหล่านี้ ทอดตัวต่อกันยาวเหมือนขบวนรถไฟ
ภูทอกน้อย คือหัวรถจักร ภูทอกใหญ่ คือตู้การ์ด
ภูสิงห์ใหญ่ คือขบวนรถโดยสาร ส่วนฉิมและภูสิงห์น้อย(ภูกิ่ว)
คือ กุญแจต่อระหว่างรถจักร กับโบกี้รถต่างๆ


เทศน์ที่ภูสิงห์น้อย (ภูกิ่ว ) ระหว่างธุดงค์ 8 กุมภาพันธ์ 22


พรรษาที่  21  พ.ศ.  2506
จำพรรษาที่ภูสิงห์น้อย ( ภูกิ่ว )

       ข้าพเจ้าได้ออกมาจากถ้ำจันทน์แต่ในปี  2505  มุ่งหน้ามายังเขาภูสิงห์  ในเขตอำเภอบึงกาฬ  เมื่อมาถึงภูสิงห์แล้ว  ได้ขอให้ญาติโยมพาไปตรวจสถานที่แห่งหนึ่ง  ซึ่งเป็นเขาลูกย่อม ๆ อยู่ระหว่างเขาภูสิงห์ใหญ่  และภูทอกใหญ่  เรียกกันว่า  ภูสิงห์น้อย หรือภูกิ่ว  ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะของเขาเพราะอยู่ระหว่างแนวเขาใหญ่  2  ลูกซึ่งคอดกิ่วมาต่อเชื่อมกัน  ภูสิงห์น้อยนี้อยู่ตรงกลาง  อันมีลักษณะคอดกิ่วจึงกลายเป็นภูกิ่วอีกชื่อหนึ่ง

       ข้าพเจ้าได้ตรวจดูสถานที่แล้วก็เห็นว่า  เป็นที่พอจะหลบหลีกปลีกตัวซุกซ่อนวิเวกอยู่ได้  มีน้ำซับตามธรรมชาติ  มีน้ำไหลตลอดปี  จึงตกลงเลือกเป็นที่วิเวกต่อไป  โดยมาตั้งต้นปักกลดอยู่ใต้ต้นไม้

       เมื่อแรกมาถึงภูสิงห์น้อยนั้น  ปรากฏว่ายังเป็นป่ารกชัฏ  ต้องป่ายปีนตัดเถาวัลย์ขึ้นไปบนเขา  แต่โดยที่พอมีถ้ำมีเงื้อมหินอันสงัด  มีน้ำซับตามธรรมชาติ  น้ำดี  น้ำสะอาด  และน้ำมีรสอร่อยดี  ก็เลยพากันปลูกเสนาสนะหลังย่อม ๆ อยู่ชั่วคราวโดยอาศัยญาติโยมจากบ้านนาสะแบงบ้าง  บ้านนาคำภูบ้าง  มายกกระต๊อบอยู่ปลูกเสนาสนะเป็นหย่อม ๆ  พากันอาศัยทำความพากความเพียรอยู่ที่นั้น  ปรากฏว่าทำความเพียรดีมาก  เพราะเป็นที่สงบสงัด  และอากาศปลอดโปร่งดี  ร่มไม้ก็ดี  ต้นไม้ยูงยางยังอุดมสมบูรณ์  สัตว์ป่าก็มีมาก  การบิณฑบาตก็ไม่ใกล้ไม่ไกล  พอไปพอมา  อาหารขบฉันก็พอเป็นไป  ไม่ใช่ขาดแคลนแต่ก็ไม่ใช่ร่ำรวย  พอเยียวยาชีวิตให้ยืนไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น  เมื่อถึงเวลาจะเข้าพรรษาปี  2506  ข้าพเจ้าจึงตกลงใจจำพรรษาที่ภูสิงห์น้อย


กุฎิบนภูสิงห์น้อย


ในพรรษามีพระจำพรรษาด้วยกัน  2  องค์  คือ ข้าพเจ้าหนึ่งและพระอาจารย์สอน  อุตตรปัญโญอีกหนึ่งมีเณร  1  องค์  และผ้าขาวเฒ่า  1  คน  ซึ่งบัดนี้ก็ได้สิ้นชีวิตแล้ว  ไปบิณฑบาตที่บ้านนาคำภู  ตำบลโคกก่อง  อำเภอบึงกาฬ  ระยะทางไม่นับจากที่พักบนเขาลงมายังไม่ราบล่าง  ....กว่าจะถึงหมู่บ้านก็ประมาณ  3  กิโลเมตร

       ข้าพเจ้าได้เพื่อนสหธรรมมิกดี  ต่างองค์ต่างแยกกันอยู่  ขมักเขม้นพากันปรารภความเพียรอย่างยิ่งยวด  มิได้มีความนอนใจเลย  ต่างค้นคว้าพิจารณากัมมัฏฐานของตน  พิจารณากายาคตานุสติ  ไม่ให้พลั้งเผลอตลอดกาลพรรษา

       ในภูสิงห์น้อยนี้  มีเหตุการณ์แปลกที่ควรบันทึกไว้  คือ  วันหนึ่งเวลาใกล้พลบค่ำข้าพเจ้าได้เดินจงกรมอยู่  โดยกำหนดจิตภาวนาบริกรรมไปโดยตลอดเวลานั้นเป็นเวลาใกล้มืดแล้ว  จมูกรู้สึกได้กลิ่นเหมือนอย่างหนึ่งไม่ใช่กลิ่นเหม็นสัตว์หรือซากสัตว์  เป็นกลิ่นเหม็นชอบกลอยู่  เดินจงกรมกลับไปกลับมาก็ได้กลิ่นเหม็นอยู่อย่างนั้น  ก็เลยตั้งวิตกถามจิตขึ้นดูว่า ....เหม็นอะไรนี่

       จิตตอบว่า ..นี่เป็นกลิ่นเปรต  เหมือนเปรต

       ข้าพเจ้าก็เลยนึกอุทิศส่วนกุศลให้กับเขาขณะที่เดินจงกรมต่อไปกลิ่นนั้นก็เลยหายไป

       ตอนเช้าลงสู่โรงฉันพบหน้าท่านพระอาจารย์สอนซักกันคุยกันก็เลยได้ทราบว่าท่านอาจารย์สอนก็ได้กลิ่นเหม็นระหว่างเดินจงกรมเหมือนกัน  และเมื่อกำหนดจิตถามก็ได้ความอย่างเดียวกันอุทิศส่วนกุศลให้แล้วก็หายกลิ่นเหม็นนั้นเหมือนกันคืนนั้นข้าพเจ้าก็ได้นิมิตประหลาดเห็นเปรต  2  ตน  อยู่บนหน้าผาภูสิงห์น้อยนี้เป็นเปรตผู้หญิงนั่งอยู่ด้วยกัน  2  ตน  มีแต่ผ้านุ่ง  ไม่มีเสื้อ  ไม่มีผ้าปกกายข้างบนเลยเปลือยตลอดผมยาวมีผิวสีดำคล้ำเศร้าหมองข้าพเจ้าก็เลยถามดูว่า

       “  ท่านเป็นอะไร   ทำไมมาอยู่ที่นี้ “

       เปรตหญิง  2  ตนนั้น  ก็ตอบว่า  “ พวกข้าพเจ้าเป็นเปรต  อยู่ที่ภูสิงห์นี้ “

       “ เป็นเปรตอยู่ในสภาพนี้ตั้งแต่เมื่อไร “

       “ เป็นเปรตมานานแล้ว “

       “ เอ..ทำกรรมอะไรไว้  จึงต้องมาตกเป็นเปรต “ ข้าพเจ้าถามในนิมิต

       เขาก็ตอบว่า  เมื่อครั้งพวกข้าพเจ้าเป็นมนุษย์พวกข้าพเจ้าได้เอาตัวไหม  ตัวหม่อน  ซึ่งมีฝักรังใหม่อยู่ข้างใน  โดยมีตัวอ่อนอยู่ข้างใน  เอามาต้มในน้ำร้อนเพื่อจะสาวเอาใยไหมมาทอผ้าพวกข้าพเจ้าทำกันอย่างนี้ด้วยบุพพกรรมอันนี้  คือบาปอันนั้นพอตายจากชาติมนุษย์จึงกลายเป็นเปรตมีแต่ผ้านุ่งผ้าห่มปกกายไม่มีดังนี้

       ข้าพเจ้าเลยถามเขาว่า  " พวกท่านเมื่อเป็นมนุษย์ชื่อว่าอะไรล่ะ  "

       " พวกข้าพเจ้า  เมื่อเป็นมนุษย์เป็นพี่เป็นน้องกันลูกพ่อเดียวแม่เดียวกัน  ผู้พี่ชื่อนางสาวทา  ผู้น้องชื่อนางสาวสี...."

ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็ตื่นจากนิมิต  ข้าพเจ้ามาพิจารณาว่า  การทำลายสัตว์มันเป็นบาปจริง ๆ

       ที่ภูสิงห์น้อยนี้  ถ้าใครประมาท  ขี้เกียจก็จะทำความเพียรไม่ได้  บางทีเห็นผีหัวขาดมีแต่ตัวกับคอ  ไม่มีหัว  เณร  ผ้าขาว  เดินจงกรมกลางคืน  บางครั้งบางวัน  ก็จะเห็นเงาคนเดินจงกรมเคียงไปด้วย  แต่ไม่มีหัวเป็นเงาของผีหัวขาด  บางคราวถ้าเกียจคร้านไม่ลุกขึ้นบำเพ็ญความเพียร  ก็จะมีผู้มาดึงขาบ้าง  ทุบกุฏิบ้าง  เป็นการเร่งเตือนมิให้ประมาท  เณรและผ้าขาวจะโดนกันอยู่เป็นประจำ

       ครั้งหนึ่ง  ข้าพเจ้ากำลังนั่งทำสมาธิอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่ง  ได้ยินเสียงปืนดังเปรี้ยง ๆ  2  นัด  อยู่ห่าง ๆ ไม่นานก็เห็นกวาง  2  ตัว  วิ่งกระหืดกระหอบมาหยุดยืนทำตาอ่อนละห้อยอยู่ข้างหน้าถ้ำเบื้องหน้าข้าพเจ้า  คล้าย ๆ จะมาขอฝากเนื้อฝากตัวหลบภัยให้ช่วยเหลือ  ต่อจากนั้นสักประเดี๋ยวก็ได้ยินเสียงปืนระเบิดดังลั่น  ไม่ห่างจากที่ข้าพเจ้านั่งอยู่นัก  และสักอึดใจต่อมาก็ได้ยินเสียงร้องคราญครางขอความช่วยเหลือ  “ โอย...ช่วยด้วย  ...ช่วยด้วย “  ข้าพเจ้าจึงลุกขึ้นไปดู  ก็เห็นชายคนหนึ่ง  ถูกปืนนอนร้องอยู่มีเพื่อนอีกสามคนช่วยประคองอยู่ข้าง ๆ ในมือ  เนื้อตัวและเสื้อผ้ามีเลือดอาบแดงฉานถามได้ความว่า  พวกเขามาล่าสัตว์  เข้ามาในเขตวัด  เห็นกวาง  2  ตัว  ผัวเมีย  ก็เอาปืนยิงทั้งคู่  แต่ปรากฏว่าพลาดทั้งสองนัด  เขาไล่ตามมา  เห็นกวางทั้งสองมาหยุดอยู่ตรงหน้าถ้ำ  เขาตามมาทันจึงยกปืนยิงมันอีกแต่ปืนยิงไม่ออก  สับถึง  2  ครั้ง  ครั้งที่สามยิงได้ แต่กลับปืนแตก  กระท้อนมาถูกผู้ยิงเอง  ตามมือและเนื้อตัว  เป็นแผลเหวอะหวะหมด

       ข้าพเจ้าไปดูใกล้ ๆ ปรากฏว่า นิ้วมือของชายนั้นขาดไปสามนิ้ว  ฝ่ามือทะลุเป็นแผลเหวอะหวะ  เลือดโชกพร้อมทั้งแก้มข้างขวาก็มีแผลทะลุใหญ่มาก  จึงช่วยเช็ดแผลให้จนเลือดหยุดและก็เตือนให้เขานึกถึงบาปบุญคุณโทษในการที่ตั้งใจจะทำลายชีวิตผู้อื่นโดยเฉพาะในเขตวัด  ซึ่งถือว่าเป็นเขตร่มเย็นอาศัยได้  สัตว์ย่อมเข้ามาพึ่งพิงด้วยคิดว่ามีความปลอดภัยชีวิตทุกชีวิตย่อมกลัวตาย  พวกเขาทำอะไรลงไปย่อมเป็นกงเกวียนกรรมเกวียน  สักวันหนึ่งก็อาจจะต้องมาสนอง... อย่างที่เขากำลังประสพด้วยตนเองนี้ เขาคิดจะฆ่ากวางแต่เขาเองกลับถูกกรรมอันนั้นตอบสนองให้เจ็บปวดอยู่นี้ต่อจากนี้ไปอย่าคิดฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอีกเลย

       ข้าพเจ้าให้เขาปฏิญาณรับศีล  5  แล้วก็ให้เขากลับบ้านและเขาก็พูดเล่าลือกันต่อไป  ไม่ให้ไปล่วงเกินสัตว์ในเขตวัด  อาจจะมีอันตราย...ความจริงข้าพเจ้าก็ไม่ได้ทำอะไร  อาจจะเป็นเหตุบังเอิญแต่ก็เป็นการดีอย่างหนึ่ง  คือ  ทำให้สัตว์ทั้งหมดอยู่ด้วยความสงบสุขขึ้น

       พูดถึงเรื่องปืนแตกนี้  มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ถ้ำจันทน์วันนั้นข้าพเจ้าออกไปบิณฑบาตรและได้ยินเสียง  โอ๊ยเรียกให้ช่วย  ก็ปรากฏว่า  มีชายคนหนึ่งถูกปืนของตัวเองลั่นใส่ตัวปากกระบอกแตก  ข้าพเจ้าช่วยเหลือเยียวยาเขาและต่อมาเขาก็มาขอขมาข้าพเจ้า   ได้ความว่า  เขามองเห็นสีเหลืองของจีวรข้าพเจ้ารำไรในหมู่ไม้  เขานึกว่าเป็นกวาง  เป็นเก้ง  ก็กดปืนยิงเปรี้ยงเข้าให้  บังเอิญปืนกลับแตกลั่นถูกตัวเอง  บาดเจ็บดังกล่าวเขาว่าเขาผิดพลาด  2  กระทง  กระทงแรก  คือ  มายิงสัตว์ในเขตวัด  กระทงสอง  มาล่วงเกินยิงข้าพเจ้าผู้เป็นพระภิกษุเขาจึงได้รับผลของกรรมนั้น

       คราวนั้นก็เช่นเดียวกับครั้งนี้  ข้าพเจ้าก็ได้สอนให้เขารู้จักบาปบุญคุณโทษของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ให้นึกถึงกรรม  ผลของกรรม  ซึ่งจะติดตามตัวเราเหมือนรอยเกวียนที่ติดตามเท้าโคฉะนั้น

ระหว่างปีนั้น  กลางพรรษา  ฝนตกชุกมากน้ำท่วมทางบิณฑบาตรหมด  ไปบิณฑบาตรไม่ได้  ชาวบ้านก็มาส่งอาหารไม่ได้  เหมือนถูกปล่อยเกาะน้ำท่วมเจิ่งไปหมด  เณรต้องต้มข้าวสาลีที่ปลูกในวัด  ต้มข้าวสาลีและผักป่าอาศัยฉันไปวันหนึ่ง ๆ จนกว่าน้ำจะแห้งก็เป็นเดือน ๆ ทีเดียว  นับเป็นการผจญภัยอย่างหนึ่ง

       ในพรรษาที่อยู่ภูสิงห์น้อยนี้  ได้พากันเร่งบำเพ็ญภาวนากัมมัฏฐานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย  ตามความสามารถของตน ๆ   ไม่เป็นผู้ที่ย่อท้อต่อการทำความพากเพียร  พิจารณาร่างกายของตน  กายาคตาคติไม่ให้จิตรวม  ไม่ให้จิตลงพัก  พิจารณาไปพอสมควรก็สงบ  สงบพอสมควรก็พิจารณาค้นดูในร่างกาย  พิจารณาทวนขึ้นและตามลง  เป็นปฏิโลมและอนุโลม  อุทธํปาทตลา  อโธ  เกสมตฺถกา  เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมาเบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไปและด้านกลางสถานโดยรอบค้นดูในร่างกายให้รู้เห็นตามเป็นจริงให้จิตมันอ่อนมันน้อมยอมหันมาเชื่อต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าเพราะสัจจธรรมในร่างกายของเรามีทุกขุมขน  ทุกสิ่งทุกอย่าง  เพราะสัจจะ  แปลว่า  ของจริง  ร่างกายนี้จะน้อมไปสู่สัจจธรรมของจริงของร่างกาย...เห็นสัจจะ...จริงไปหมด

       เช่น  เราจะน้อมพิจารณาเป็นของไม่สวยไม่งามเป็นของสกปรกโสโครกเป็นของปฏิกูลพึงรังเกียจ  มันก็เป็นจริง  เห็นจริง  เห็นสัจจะของจริง  เห็นในร่างกายของเรานี้เป็นของไม่สวย  ไม่งาม  จริง

       หรือ จะน้อมพิจารณาให้เห็นเป็นธาตุทั้ง 4 คือ  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุไฟ  ธาตุลม  มันก็เป็นสัจจะจริงเป็นดิน  เป็นน้ำ  เป็นไฟ  เป็นลม  จริงทีเดียว

       หรือ จะน้อมพิจารณาให้เห็นเป็นซากศพ  ซากผี....อย่างนี้มันก็เป็นจริง  เพราะมันเหม็นมันเน่า  มันสกปรก  ตายแล้วก็ผุพัง  ละเอียดลงสู่สภาพเดิมคือดินน้ำลมไฟต่างหาก

       หรือ จะน้อมพิจารณาให้เห็นว่า  มันไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล  ไม่ใช่ตัวตนเราเขา  ให้น้อม  ให้รู้  ให้เห็นสัจจะตามความเป็นจริง  น้อมพิจารณาดูสังขารตามนี้ให้เห็นเป็นทุกข์...ความคิดเป็นทุกข์จริง  ความแก่เป็นทุกข์จริง  ความเจ็บเป็นทุกข์จริง  ความตายเป็นทุกข์จริง  ความโศกความเศร้า  ความร้องไห้ร่ำไรรำพันเป็นทุกข์จริง  ความไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ  เป็นทุกข์จริง  น้อมไปตามนี้......น้อมไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า  ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น  ท่านรู้  ท่านเห็นตามความเป็นจริงตามสัจจธรรมที่พระพุทธเจ้าเห็น  ที่พระอริยเจ้าเห็นนั้น.....ไม่ยอมที่จะหยุดการพิจารณา  พิจารณาจนจิตนั้น  ยอมรู้  ยอมเห็น....นั้น  เชื่อมั่นว่า  สัจจธรรมของจริงมีจริง

       จิตยอมเชื่อและเห็นชัดว่า  ความเกิดเป็นทุกข์จริง  ความแก่เป็นทุกข์จริง  ความเจ็บเป็นทุกข์จริง ความตายเป็นทุกข์จริง  ความโศก  ความเศร้า  เป็นทุกข์จริง  ความร้องไห้  ร่ำไรรำพัน  เป็นทุกข์จริง  ความไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ  เป็นทุกข์จริง  ความเสียใจคับแค้นใจ   เป็นทุกข์จริง

       น้อมเข้าจนมันรู้  มันเห็น...  อย่างนี้  สัจจธรรมประสพสิ่งที่ไม่ชอบเป็นทุกข์จริง  พลัดพรากจากสิ่งที่รักใคร่  ชอบพอเป็นทุกข์จริง  ไม่สมความรักความปราถนา  ไม่สมประสงค์ก็เป็นทุกข์จริง

        น้อมเข้ามาพิจารณาขันธ์ 5  ที่ประกอบด้วยอุปาทานคือ  ความยึดมั่น  ถือมั่น  ว่าขันธ์เป็นเรา  เราเป็นขันธ์  ขันธ์เป็นตนของเรา  ก็พิจาณาเราเป็นทุกข์จริง

ตลอดพรรษาที่อยู่ภูสิงห์น้อย  ได้ทำประโยคพยายามพากเพียรโดยไม่ท้อถอย  พิจารณาแผ่นดินภายใน  อชฌตติกา  กล่าวคือ  อัตตภาพร่างกายนี้อย่างไม่ลดละ  มิให้จิตรวมลง  เพราะถ้าจิตรวมลงถึงอัปปนาสมาธิหรือฐีติแล้ว มันพิจารณาอะไรไม่ได้  มันไม่รู้ไม่เห็นอะไรเพราะเป็นจิตที่ละเอียดวางอารมณ์วางธาตุ  วางขันธ์  เดินวิปัสสนาไม่ได้  ข้าพเจ้าจึงไม่ให้จิตรวม  ให้จิตสงบพอดีพองาม  พอเป็นพื้นฐานของวิปัสสนา  ให้เป็นเอกคตารมณ์  มีอารมณ์อันเดียวเจาะจงบ่งเฉพาะสัจจธรรมของจริงอันเดียวเท่านั้น

ในพรรษานี้  การทำความพากเพียรสะดวกมากนักเพราะไม่มีการงานอะไร  มีแต่ตั้งหน้าทำความพากเพียรพิจารณากัมมัฏฐานเท่านั้นเพราะเป็นสถานที่ ๆ  สงบสงัด  หลีกเร้นจากผู้คน  วิเวกดีมาก

       ถ้าจะเปรียบกับสถานที่ต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้วที่ภูสิงห์น้อยนี้ก็นับเป็นที่สัปปายะที่สุดแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนาของข้าพเจ้า  คือ  ที่ดงหม้อทองจิตรวมง่าย  แต่ปัญญาไม่แก่กล้าที่ถ้ำจันทน์จิตรวมดีเช่นกัน  ได้คิดค้นในกายเรื่อยมา  กระจ่างมาเป็นลำดับ ๆ พอมาถึงภูสิงห์น้อยปัญญากำลังที่สะสมมาก็ได้ใช้เต็มที่ในครั้งนี้  ข้าพเจ้าเร่งทำความเพียรอย่างอุกฤษฎ์  เพราะคิดว่าจิตพักมาพอเพียงแล้ว  คอยระวังรักษามิให้จิตพักใช้อุบายปัญญาทุกอย่าง  เหมือนมักมวยไทยต้องใช้อาวุธในกายทุกอย่างที่มี...ทั้งศอก  ทั้งเข่าทั้งเท้า  ทั้งกำปั้น  อาศัยแยบคายอุบายปัญญาทุกประการที่เกิดขึ้น  เพื่อจะพยายามน้อคเอ๊าท์คู่ต่อสู้คือกิเลสให้ล้มคว่ำลงให้ได้

       เมื่อออกพรรษา   ปวารณาแล้ว  ท่านพระอาจารย์สอนก็ออกไปแสวงหาที่วิเวกแห่งอื่น  ตามสมณวิสัยของฝ่ายกัมมัฏฐาน  ส่วนข้าพเจ้าญาติโยมทางบ้านดอนเสียด  ถ้ำพระ  ถ้ำบูชา  ภูวัว  ได้มาอาราธนานิมนต์  ให้ไปโปรดพวกเขา  จำพรรษาต่อไปกับเขา  โดยให้ไปเลือกสถานที่ซึ่งเหมาะควรจะตั้งเป็นสำนักสงฆ์โปรดญาติโยมในถิ่นนั้น  ข้าพเจ้าและเณรก็เลยไปตรวจดู  ถ้ำพระและถ้ำบูชาตามคำนิมนต์แล้วก็ตกลงยับยั้งพักอยู่ที่ถ้ำบูชา  ทั้ง ๆ ที่ถ้ำบูชาเองก็อยู่ห่างจากหมู่บ้านถึง  10  กิโลเมตร  ไม่มีทางจะไปบิณฑบาตรเลย

       สมัยนั้นถ้ำพระอยู่ห่างจากหมู่บ้านมากยิ่งกว่าถ้ำบูชา  ไม่สะดวกในการบิณฑบาตร   หมู่บ้านอยู่ไกลมีแต่ป่าดงพงทึบ  เพราะสมัยที่ท่านพระอาจารย์ฟั่นอาจาโร  อยู่บำเพ็ญภาวนาและสร้างพระกับท่านพระอาจารย์ทองสุข  สุจิตโตนั้น  ท่านไม่ได้ลงบิณฑบาตท่านอาศัยญาติโยมทางบ้านนาตะไก้บ้าง  บ้านโสกก่ามบ้าง  บ้านดอนเสียดบ้าง  ลำเลียงอาหาร  ข้าวสุกข้าวสารอาหารผักเนื้อ  ข้าวปลาอาหารไปสะสมไว้ให้เณร  หรือ  ผ้าขาว  หรือญาติโยมไปทำปิยะจังหันถวายท่านเพราะลงบิณฑบาตรไม่ได้  ไม่มีที่บิณฑบาตรข้าพเจ้าไปตรวจดูแล้ว  เห็นว่าไม่มีบ้าน  ไม่มีที่บิณฑบาตรลำบาก  ก็เลยตกลงเลือกถ้ำบูชา  เพราะอย่างไร  ถ้ำบูชาก็ยังเป็นสถานที่พอที่จะอาศัยได้บ้าง  เนื่องจากใกล้หมู่บ้านมากกว่าถ้ำพระ

       แต่ถึงกระนั้น  ทางบิณฑบาตรก็ลำบากมากเหมือนกัน  ด้วยต้องไปบิณฑบาตรถึง  10  กิโลเมตรที่หมู่  บ้านดอนเสียด  ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุด  สำหรับทางเดิน  แม้จะเป็นเพียงทางเดินป่าอันเป็นปกติธรรมดาของชาวป่าก็ไม่มี  ต้องบุกป่าฝ่าดงดอนไปตามทางสัตว์นั่นเอง  โดยที่หนทางไกลมาถึง10  กิโลเมตรและต้องบุกป่าฝ่าเขา  กว่าจะถึงหมู่บ้านก็กินเวลา  2  ชั่วโมงกว่า  หรือ  3  ชั่วโมงทีเดียว  ดังนั้นระยะแรก ๆ ที่อยู่บนหลังถ้ำบูชากับเณรรวม  2  องค์นั้น  ยังลงบิณฑบาตรไม่ได้  พวกชาวบ้านเขาต้องนำเสบียงอาหารลำเลียงมาส่ง  7  วันครั้งหนึ่ง  เช่น  ข้าว  กะปิ  พริก  ปลาร้า  เกลือ  แล้วก็อาศัยเณรหุงต้ม  มีพริก  มีปลาร้าคลุกเข้ากันแล้วก็เก็บผักป่าตามธรรมชาติมีพวก  หัวข่า  หัวขิง  ผักหนาม  เห็ด  ยอดผัก  ยอดหวายในป่าเหล่านี้  ตามแต่จะหาได้  มาต้ม  มาแกง  พอเยียวยาอัตตภาพประทังชีวิตไปชั่ววันหนึ่ง ๆ เท่านั้น

       เมื่อญาติโยมเขาเสร็จกิจในการงานของเขา  คือเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว  ข้าพเจ้าก็เลยพาญาติโยมตัดทางจากบ้านดอนเสียดขึ้นภูวัว  ไปถ้ำบูชา  ช่วยกันบุกเบิกทำทางอยู่  3  เดือน  จึงสำเร็จมีความสะดวกในการเดินทางไปมา  รถและเกวียนพอเดินได้และเป็นเส้นทางคมนาคมตลอดมาตราบเท่าทุกวันนี้แต่กระนั้นสำหรับการบิณฑบาตร  ก็ยังต้องแบ่งกันคนละครึ่งทางกับชาวบ้าน  คือ  ชาวบ้านครึ่งหนึ่งโดยจัดสร้างแคร่มีที่มุงเล็ก ๆ   สำหรับเป็นที่บิณฑบาตรชาวบ้านเดินทางขึ้นมาจากบ้านครึ่งทางมารอใส่บาตรและให้พระลงจากเขามาอีกครึ่งทาง  มารับบาตรที่นั้น

       เรียกว่า  เป็นการพบกันครึ่งทาง  ตามสำนวนสมัยใหม่  ก็พอจะได้

วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

22.พรรษาที่ 18–20 พ.ศ.2503–2505 จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์ - ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ





พรรษาที่  18 – 20  พ.ศ.  2503 – 2505
จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์ ( ต่อ )

       ต่อมาเมื่อใกล้จะเข้าพรรษา  มีเณรองค์หนึ่งและพ่อขาวเฒ่าคนหนึ่งซึ่งเป็นญาติของข้าพเจ้าและแม่ชีแก่คนหนึ่งมาอยู่ด้วย  ก่อนจะเข้าพรรษา  7  วัน  โยมอุปฐากซึ่งมีทั้งหมดด้วยกัน  2  ครอบครัวได้มานิมนต์ข้าพเจ้าไม่ให้จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำจันทน์  เพราะเขาเห็นว่าพวกเขาเป็นคนจน  ไม่มีข้าวกิน  กลัวจะเลี้ยงพระ  เลี้ยงเณรไม่ไหว  กลัวพระเณรจะอดข้าวตาย  เขาดำริอย่างนี้จึงมาพร้อมกันทั้ง  2  ครอบครัว  โดยแต่งหัวหน้าครอบครัวมาพูดนิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่อื่นไม่ให้จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์

       ข้าพเจ้าเลยบอกโยมทั้งสองนั้นว่า  เดี๋ยว.....วันนี้ก็จวนจะหมดเวลาแล้ว  พรุ่งนี้จึงค่อยพิจารณากัน  ขอปรึกษาเณรและผ้าขาวก่อน

       แล้วชาวบ้านทั้ง 2 คน  เขาก็ลากกลับบ้านตกพลบค่ำเวลากลางคืนข้าพเจ้าก็ประชุม  เณร  ผ้าขาวและแม่ชีว่า  ศรัทธาที่เขาอุปฐากพวกเราเขานิมนต์ให้พวกเราหนีไปจำพรรษาที่อื่น   เพราะเขาไม่มีข้าวให้พวกเราฉัน  เขากลัวพวกเราจะอดตาย  เขาอยากให้ไปอยู่ที่อื่นซึ่งคงจะอุดมสมบูรณ์กว่า  พวกเราจะว่าอย่างไร

       แม่ชีแก่ได้ยินดังนั้น  ก็พูขึ้นว่า  “ เออ...ดี  เขานิมนต์ให้หนี  ก็หนีซิ  เขาไม่มีข้าวให้กิน  เราจะอยู่ทำไม “  แม่ชีแก่ว่า  “ ตั้งแต่เขาไม่นิมนต์ก็ว่าจะหนีอยู่แล้ว  ที่นี่อดอยากแท้ ๆ

       เมื่อข้าพเจ้าถามเณร เณรก็ว่าจะไปถามผ้าขาวเฒ่าผ้าขาวเฒ่าก็ว่าจะไปทั้งนั้น  ข้าพเจ้าเลยถามว่า  จะไปวันไหน  เขาก็ว่า  จะไปวันพรุ่งนี้

       - จะไปจำพรรษาที่ไหน

       - จะไปจำพรรษาที่บ้านขี้เหล็ก ดงหม้อทอง...เขาว่า

       ข้าพเจ้าจึงว่า “เออ...พากันไปเสีย “

       ยายชีแก่จึงย้อนถามข้าพเจ้าว่า...อ้าว  อาจารย์ไม่ไปหรือ

       ข้าพเจ้าตอบว่า  สำหรับอาตมาไม่ไปแล้ว  เพราะอาตมาตั้งใจว่าจะจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำจันทน์นี้

       ยายชีแก่ว่า  “ จำพรรษาอย่างไร  เขาไม่มีข้าวให้กิน  จะกินอะไร

       ข้าพเจ้าตอบแม่ชีว่า  “ ไม่มีข้าวก็ไม่กิน  กินแต่น้ำก็ได้  เพราะว่าข้าวก็ได้เคยกินมาแล้วตั้งแต่กันเกิดจนถึงวันนี้  เมื่อกินข้าวอยู่  มันภาวนาไม่เป็น  ทีนี้  มันไม่มีข้าวกิน  ก็ไม่กินมัน  อดอยู่อย่างนั้น  กินน้ำแทนเอาก็ได้กินใบเม่าก็ได้ “  

       แม่ชีถามว่า  ใครจะเอาใบเม่ามาถวาย “

       ข้าพเจ้าบอกว่า   ถ้าไม่มีใบเม่า  ก็กินน้ำ  จะขอจำพรรษาที่นี้  ไม่ไปไหนแล้ว  ถึงจะอดข้าวไม่กินก็ยอมตาย  ในพรรษานี้จะไม่ถอยหลัง  จะประกอบแต่ความพากเพียร  คุณงามความดีเท่านั้น  จะขอตายอยู่ในคุณงามความดี  ไม่ไปเป็นเด็ดขาด  พวกเณร  แม่ขาวพ่อขาวจะไปก็ไปเถอะ  ไม่ต้องห่วงอาตมา  อาตมาไม่ไป  จะตายก็ตายเถอะ  ตายในขณะทำความพากความเพียร  จะได้เป็นเกียรติประวัติสืบต่อไปว่า  พระธุดงค์กัมมัฏฐานเป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยว  ไม่มีข้าว  ไม่มีอาหารกินก็ยอมอดข้าว  อดอาหาร  อุตส่าห์จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์ทำความพากเพียรจนตายเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่วงศ์ปฏิบัติต่อไป  เราไม่ไปแล้ว

เมื่อข้าพเจ้าประกาศเด็ดขาดเช่นนั้น  เณร  ผ้าขาวแม่ชี  ก็เลยว่า  “ ถ้าอาจารย์ไม่ไป  อาจารย์ตายก็ตายด้วย “

       รุ่งขึ้นตอนเช้าข่าสองคนนั้นได้ร้องไห้มาถวายจังหัน  ก็ถามว่า  โยมร้องไห้ทำไม  ตอบว่า  ร้องไห้เพราะเสียใจ  เมื่อคืนนี้ผมนอนไม่หลับตลอดคืนเลย  ที่นิมนต์อาจารย์หนี  ไม่ให้จำพรรษา  ผมไม่สบายใจเลยได้รับความเดือดร้อนตลอดคืน  พวกผมขอนิมนต์อาจารย์ใหม่  ขออภัยจากอาจารย์ด้วย  อย่าให้เป็นบาปเป็นกรรมต่อไป  พวกผมขอนิมนต์อาจารย์ให้จำพรรษาอยู่ที่นี่โปรดพวกผมด้วย  ถ้าหากไม่มีข้าวกิน  พวกผมจะยอมตายก่อนอาจารย์  ไม่ให้อาจารย์ตายเลย  ควายของผมมีอยู่  2  ตัว  ผมจะขายควายนี่แหละ  ซื้อข้าวเลี้ยงอาจารย์ให้ตลอดพรรษา

ข้าพเจ้าได้ฟังก็อนุโมนาในศรัทธาของเขา  แม้เขาจะเป็นคนจนยากแค้นแสนสาหัสเพียงใดแต่จิตก็ฝักใฝ่ใคร่ต่อการทำบุญ  ยอมสละแทบจะสมบัติเครื่องมือทำกินทั้งหมดที่มี  เพื่อบำเพ็ญทาน  น่าสรรเสริญในจิตใจของเขายิ่งนัก  จึงบอกปลอบใจเขาว่าไม่เป็นไรหรอกโยม  อย่าลำบากถึงกับต้องขายควายเลยทุกสิ่งทุกอย่างก็คงจะเป็นไปเอง  ดีไปเอง  ไม่ต้องกังวล

       อนุโมทนาและให้กำลังใจเขาแล้ว  โยมสองคนก็มีสีหน้าชื่นขึ้นทันที  ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจและลากลับบ้านไป

       ตกลงเลยอยู่จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์  ทำความพากเพียรด้วยกันทั้งหมด  ไม่ได้หนีไปไหน  ทำความเพียรกันด้วยความสะดวกสบายทีเดียว  เพราะเป็นที่สงบวิเวกดีมากสัตว์ป่าก็มาก  ภาวนาจิตรวมลงอย่างรวดเร็วถึงฐาน

ต่อมาข่าวที่ว่า  มีพระมาอดข้าวอดน้ำ  ชาวบ้านมานิมนตร์ให้หนีไม่ให้อยู่จำพรรษาด้วยอดอยากไม่มีข้าวจะใส่บาตรให้กิน  ก็ไม่ยอมไปนี้ได้แพร่ไปถึงชาวบ้านรอบ ๆนอกด้วย  ชาวบ้านเหล่านั้นเขาก็มาสืบดูเห็นว่าถ้ำจันทน์กันดารมากจริง  พวกหมู่บ้านไกล ๆ  โดยรอบนอก  เช่น  ที่บ้านมายก็เลยแต่งกันให้ส่งอาหาร  7  วันต่อครั้ง  7  วันต่อครั้งและข่าวนี้ได้แพร่ต่อไปถึง  อำเภอกาฬ  เวลานั้นคุณหมอประพักตร์โสฬสจินดา  เป็นหัวหน้าหมออนามัยประจำอยู่บึงกาฬทราบเรื่อง  ก็ส่งคนไปสืบดูบ้างเห็นว่าถ้ำจันทน์อยู่ลึกถึงกลางป่าและกันดารมาก  จึงรวบรวมกันช่วยส่งอาหารมาให้ฉันที่ถ้ำจันทน์ทุก  7  วันต่อครั้งด้วย  การเดินทางแม้จะลำบากมาก  ด้วยไม่มีรถ  ต้องหาบหามบุกป่ากันมาเป็นวัน ๆ จึงถึง  แต่ก็เพียรพยายามกันมานับว่ามีศรัทธาอันแรงกล้า  น่าอนุโมทนายิ่ง

คุณหมอประพักตร์ โสฬสจินดา (คนยืนขวาสุด)


       ในพรรษานั้น  จึงแทนที่จะอดอยากการขบฉันกลับค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ดี  ไม่อด  ไม่อยาก  ไม่ขาด  ไม่หิว  สะดวกสบาย  ให้โอกาสพระเณร  ชี  และผ้าขาว  ได้บำเพ็ญภาวนากันอย่างเต็มที่  ความสะดวกสบายและอุดมสมบูรณ์นั้น  คงจะเป็นอานิสงส์ของขันติความอดทนก็เป็นได้

       เมื่อออกพรรษาแล้ว  พวกเณร  ผ้าขาว  และแม่ขาวได้พากันกลับบ้านกันหมดเหลือข้าพเจ้าองค์เดียวต่อมาหลวงปู่เจ้าอาวาสวัดมีชื่อแห่งหนึ่ง  ท่านได้มาอยู่ร่วมด้วยเพราะท่านได้ข่าวว่าที่ถ้ำจันทน์ภาวนาดีท่านจึงมุ่งมาขออยู่ด้วย  โดยบอกว่า  ท่านจะมาทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์

       ระหว่างฤดูแล้ง  ขณะที่อยู่ร่วมกันกับหลวงปู่องค์นี้ถ้ำจันทน์  ตั้งแต่เดือนธันวาคม  จนถึงเดือนกรกฎาคมนั้นได้ปฏิบัติร่วมกัน  และได้สนทนาปราศรัยฝ่ายปฏิบัติธรรม  ทั้งด้านภายนอกและภายในเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นของกันและกัน  หลวงปู่ท่านได้เล่าประวัติความเป็นมาในการภาวนาปฏิบัติธรรมของท่านให้ฟังว่า

       ในสมัยที่ท่านยังอยู่ที่วัดบ้านของท่านนั้น  ท่านได้เข้านิโรธสมาบัติ  กำหนดสามวันบ้างเจ็ดวันบ้างจึงออกจากที่ภาวนา

       ข้าพเจ้าย้อนถามท่านว่า   " วิธีเข้านิโรธนั้น  เข้าอย่างไร "

       ท่านว่า   “เมื่อพิจารณาไปหรือบริกรรมไป  จิตวางอารมณ์  มันรวมอยู่เฉพาะจิตใสบริสุทธิ์หมดจดอยู่อย่างนั้น  มันวางเวทนา  ไม่มีเวทนา  ไม่ปรากฏเวทนาทางกายหรือทางธาตุขันธ์เลย  จิตออกจากธาตุอยู่เฉพาะจิตล้วน ๆ บริสุทธิ์ใสสะอาดอยู่อย่างนั้น  มีความสุขมาก “

       ข้าพเจ้าถามว่า  “ เวลาจิตถอนจากขณะ  เป็นอย่างไร “

       ท่านตอบว่า  “ เวลาจิตถอนจากขณะ  ก็เบากายเบาใจ  ทำให้กายและใจสบายดี  มีความเบิกบานกายและใจชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา “  

       ข้าพเจ้าได้เรียนถามท่านว่า  “ เวลาปกติอยู่ด้วยอะไร “  

       ท่านบอกว่า  “  เวลาปกติ  ก็อยู่ด้วยความสงบ  และมีความปิติยินดีต่อจิตของตนที่รวมลงสู่ภวังค์หรือฐีติจิตนั้น ๆ "

       เมื่อท่านว่าอย่างนั้น  ข้าพเจ้าก็เลยถามว่า   " นิโรธะ แปลว่า   ดับทุกข์  ตัวนี้หรือ  คือ  ตัวดับทุกข์ "

       ท่านก็รับว่า  “ ใช่ – ตัวนี้แหละ  ตัวดับทุกข์  เพราะเวลาเข้าไป  ไม่มีทุกขเวทนาอะไร  ความเจ็บปวดรวดร้าวแม้แต่นิดหน่อยก็ไม่ปรากฏในขณะนั้น “

ท่านอธิบายเรื่องนิโรธเช่นนั้น  ข้าพเจ้าเลยย้อนถามอีกว่า  “เมื่อเป็นเช่นนี้  นิโรธะ  ท่านแปลว่า  ผู้ดับทุกข์คือไม่มีทุกข์  ก็แปลว่า  ดับหมด  ก็เป็นพระนิพพานเท่านั้นตัวนี้หรือคือ  ตัวพระนิพพาน   นิโรธ  นี้หรือ ? "

       ท่านก็ตอบว่า  " ใช่   เป็นนิพพาน "

       ข้าพเจ้าก็เลยยุติเรื่องนี้ไว้ก่อน  ต่อจากนั้นก็ชวนท่านสนทนาแลกเปลี่ยน ความรู้ในทางภาวนาด้านอื่นต่อไป

       ข้าพเจ้าไม่เคยเข้านิโรธชนิดนี้สักครั้งเดียวในสมบัติของข้าพเจ้าก็ไม่มีอะไร  เมื่อสนทนากันแล้วก็เลิกกันไป  และข้าพเจ้าก็เลยลองนำการเข้านิโรธของหลวงปู่ไปพิจารณาดู  วันหนึ่ง  พอพิจารณาไป  จิตก็ค่อยสงบลง  สงบลงจิตหนึ่งเลยพูดขึ้นว่า....นิโรธนี้ยังเป็นสังขารอยู่  ทำไมจึงเป็นสังขาร  - ข้าพเจ้าซักดูเพราะเหตุว่า  นิโรธ  นี้ยังมีการเกิดและการดับ  คือมีการเข้าและการออกไม่ขาดจากเหตุและปัจจัยอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์คือตัวสังโยชน์  ตัวสมุทัย  ตัวตัณหา  ตัวอาสวะ  และตัวกิเลส  เพราะจิตชนิดนี้  ถ้าเข้าไปรวมแล้วก็เหมือนกับว่าไม่มีกิเลส  แต่เมื่อถอนออกมาก็เป็นจิตธรรมดา  เป็นนิโรธที่ไว้ใจไม่ได้


       ข้าพเจ้าจึงมาคำนึงถึงโอวาทที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตตะมหาเถระได้เคยเล่าเรื่องการเข้านิโรธของพระอาจารย์ลูกศิษย์ท่านองค์หนึ่งให้ฟัง  ขณะที่ข้าพเจ้าอยู่จำพรรษาร่วมกับท่านท่านได้ประกาศให้บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายทราบทุก ๆ องค์ว่า  ในสมัยหนึ่ง  ท่านอาจารย์องค์นั้นได้เข้าไปนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น  ท่านได้ถามท่านอาจารย์องค์นั้นว่า

       “  ท่าน.....จากกันไปนาน  การภาวนาเป็นอย่างไรบ้าง  ดีหรือไม่ “

       ท่านอาจารย์องค์นั้นตอบถวายท่านพระอาจารย์มั่นว่า  “ กระผมเข้านิโรธอยู่เสมอ  ๆ

       “ เข้าอย่างไร ? "

       "น้อมจิต  เข้าสู่นิโรธ"  

       ท่านพระอาจารย์มั่น  ย้อนถามว่า  น้อมจิตเข้านิโรธ  น้อมจิตอย่างไร “

       ก็ตอบว่า  “  น้อมจิตเข้านิโรธ  ก็คือ  ทำจิตให้สงบแล้วนิ่งอยู่  โดยไม่ให้จิตนั้นนึกคิดไปอย่างไร  ให้สงบและทรงอยู่อย่างนั้น "

       "แล้วเป็นอย่างไร  เข้าไปแล้วเป็นยังไง"  ท่านพระอาจารย์มั่นซักถาม

       “ มันสบาย  ไม่มีทุกขเวทนา “

       ท่านพระอาจารย์มั่นถามว่า " เวลาถอนเป็นอย่างไร "

       ท่านอาจารย์องค์นั้นตอบว่า   “ เวลาถอนก็สบายทำให้กายและจิตเบา “

       “ กิเลสเป็นอย่างไร “

       " กิเลสก็สงบอยู่เป็นธรรมดา  แต่บางครั้งก็มีกำเริบขึ้น "

       พอถึงตอนนี้  ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้ประกาศเรื่องนิโรธให้บรรดาสานุศิษย์ทราบทั่วกันว่า

       “ นิโรธแบบนี้  นิโรธสมมติ  นิโรธบัญญติ  เพราะเป็นนิโรธที่น้อมเข้าเอง  ไม่มีตัวอย่างว่าพระอริยเจ้าน้อมจิตเข้านิโรธได้  ใครจะไปน้อมจิตเข้าได้  เมื่อจิตยังหยาบอยู่จะไปน้อมจิตเข้าไปสู่นิโรธที่ละเอียดไม่ได้เหมือนกับบุคคลที่ไล่ช้างเข้ารูปู  ใครเล่าจะไล่เข้าได้  รูปูมันรูเล็ก ๆ หรือเหมือนกับบุคคลที่เอาเชือกเส้นใหญ่จะไปแหย่ร้อยเข้ารูเข็ม  มันจะรอยเข้าไปได้ไหม  เพราะนิโรธเป็นของที่ละเอียด  จิตที่ยังหยาบอยู่จะไปน้อมเข้าสู่นิโรธไม่ได้  เป็นแต่นิโรธน้อม  นิโรธสมมติ  นิโรธบัญญติ  นิโรธสังขาร  นิโรธหลง..."

       แล้วท่านก็เลยอธิบาย   เรื่องนิโรธ  ต่อไปว่า

       “ นิโรธะ  แปลว่า  ความดับ  คือ  ดับทุกข์  ดับเหตุ  ดับปัจจัย  ซึ่งเป็นเหตุ  เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ทั้งหลายดับอวิชชา  ดับตัณหานั่นเอง  จึงเรียกว่า  เป็นนิโรธอย่าไปถือเอาว่าจิตที่ไปรวมลงสู่ภวังค์หรือฐีติจิต  จิตเดิม  เป็นนิโรธ  มันใช้ไม่ได้ – ท่านว่า – จิตชนิดนั้นถ้าขาดสติปัญญาพิจารณาทางวิปัสสนาแล้ว  ก็ยังไม่ขาดจากสังโยชน์  ยังมีสังโยชน์ครอบคลุมอยู่  เมื่อถอนออกมาก็เป็นจิตธรรมดา  เมื่อกระทบกับอารมณ์ต่าง ๆ นานเข้า  ก็เป็นจิตที่ฟุ้งซ่านและเสื่อมจากความสงบหรือความรวมชนิดนั้น "

       ท่านพระอาจารย์มั่นได้ประกาศให้ทราบว่า

        “ ผมก็เลยไปพิจารณาดูนิโรธของพระอริยเจ้าดูแล้วได้ความว่า  นิโรธะ  แปลว่า  ความดับ  ดับเหตุ  ดับปัจจัย  ที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งหลาย  คือ  ทำตัณหาให้สิ้นไป  ดับตัณหาโดยไม่ให้เหลือ  ความละตัณหาความวางตัณหา  ความปล่อยตัณหา  ความสละ  สลัดตัด  ขาด  จากตัณหา  นี้  จึงเรียกว่า  " นิโรธ “

       นี่เป็นนิโรธ  ของพระอริยเจ้า ...... ท่านว่า  นี่เป็นนิโรธ  ของพระอริยเจ้า.... ท่านว่า

       นิโรธของพระอริยเจ้านั้นเป็น  “ อกาลิโก “ ความเป็นนิโรธ  การดับทุกข์อยู่ตลอดเวลา  ไม่อ้างกาล  ไม่อ้างเวลา  ไม่เหมือน “ นิโรธ ”  ของพวกฤๅษีไพรภายนอกศาสนา  ส่วนนิโรธของพวกฤาษีไพรภายนอกศาสนานั้น  มีความมุ่งหมายเฉพาะ  อยากแต่จะให้จิตของตนรวมอย่างเดียว  สงบอยู่อย่างเดียว  วางอารมณ์อย่างเดียว  เมื่อจิตถอนจากอารมณ์แล้ว  ก็ไม่นึกน้อมเข้ามาพิจารณาให้รู้เห็นสัจจธรรม  คือให้รู้ทุกข์  รู้เขตให้เกิดทุกข์  ธรรมเป็นที่ดับทุกข์  ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์ยินดีเฉพาะแต่จิตที่สงบหรือรวมอยู่เท่านั้น  ว่าเป็นที่สุดของทุกข์เมื่อจิตถอนก็ยินดี  เอื้อเฟื้อ  อาลัย  ในจิตที่รวมแล้วก็เลยส่งจิตของตนให้ยึดในเรื่องอดีตบ้าง  อนาคตบ้างปัจจุบันบ้าง  ส่วนกิเลส  ตัณหานั้นยังมีอยู่ยังเป็นอาสวะนอนนิ่งอยู่ภายในหัวใจ

       ท่านเลยอธิบายถึงนิโรธของพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าต่อไปว่า

       นิโรธ  คือ  ความดับทุกข์  ของพระอริยเจ้านั้น  ต้องเดินตาม  มัชฌิมปฏิปทา  ทางสายกลาง  คือ  ความเห็นชอบ ดำริชอบ  วาจาชอบ  การงานชอบ  เลี้ยงชีพชอบ  เพียรชอบ  ระลึกชอบ  ตั้งใจไว้ชอบ  นี่จึงจะถึงนิโรธคือความดับทุกข์  ดับเหตุให้เกิดทุกข์  นิโรธของพระอริยเจ้านั้น  เป็นนิโรธอยู่ตลอดกาลเวลา  ไม่อ้างกาล  ไม่อ้างเวลา  ไม่อ้างกาลนั้นจึงจะเข้านิโรธ  กาลนี้จึงจะออกนิโรธ  ไม่เหมือนนิโรธของพวกฤาษีชีไพรภายนอกพระพุทธศาสนา

       นี่เป็นคำสอนของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น  ภูริทัตตะมหาเถระ  ที่ได้แสดงไว้  ข้าพเจ้าจำความนั้นได้

        เมื่ออยู่ร่วมกับหลวงปู่องค์นั้น  ได้สนทนาธรรมะแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นซึ่งกันและกันอย่างเป็นที่พอใจ  อยู่มาวันหนึ่ง  หลวงปู่ท่านก็เข้านิโรธอีก  ท่านเข้าอยู่  3  วัน  แล้วจึงออกบิณฑบาตร  ข้าพเจ้าเรียนถามท่านว่า  เข้านิโรธเป็นอย่างไรบ้าง  

       ท่านก็ตอบว่า  สบายดี  จิตมันรวมดี  ไม่มีความเจ็บปวดใด ๆ ร่างกายจิตใจสบายดี  ข้าพเจ้าถามต่อว่าเวลาถอนจากนิโรธ  เป็นอย่างไร  ท่านตอบว่า  จิตว่าสบาย  ใจก็สบาย  กายก็สบาย  จิตเบา  กายเบา  สบายดี

       อยู่มาข้าพเจ้าได้นิมิตเกี่ยวกับท่านว่า  ในนิมิตของข้าพเจ้านั้น  ปรากฏเห็นหลวงปู่ท่านนั่งอยู่ในกลด ในมุ้ง  นั่งภาวนาหลับตานิ่งอยู่  ข้าพเจ้าก็เลยเข้าไปหาท่านเปิดมุ้งออก  แล้วทักท่านว่า   หลวงพ่อดีแต่นั่งสงบอยู่อย่างเดียว  ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ  เดี๋ยวเป็นง่อย  เป็นโรคเหน็บชา  หรืออัมพาตตาย  ต้องออกไปเดินจงกรมเปลี่ยนอิริยาบถและพิจารณาบ้างซีครับ  ในนิมิตนั้น  พอท่านได้ยินข้าพเจ้าทัก  ท่านก็ลุกจากที่  เปลี่ยนไปเดินจงกรมทันที

ข้าพเจ้าจึงมาพิจารณานิมิตนี้  ได้ความเป็น  2  นัยคือ  นัยหนึ่ง  ถ้าหลวงปู่เกิดป่วยไข้  ไม่สบาย  ก็จะป่วยหนักจนแทบประดาตาย  แต่ไม่ถึงตาย  นัยที่สอง  ถ้าภาวนาก็จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นที่พอใจ  หายสงสัยทีเดียว

       รุ่งเช้าพอออกไปบิณฑบาตรด้วยกัน  ข้าพเจ้าก็เล่าให้ท่านฟังว่า  เมื่อคืนนี้ข้าพเจ้าได้นิมิตถึงหลวงพ่อท่านก็ถามว่า  นิมิตอะไร ข้าพเจ้าก็เล่าว่า  นิมิตได้เห็นหลวงพ่อนั่งภาวนาอยู่ในกลด  หลับตานั่งนิ่งอยู่อย่างเดียว  ผมได้ไปหาท่านและบอกท่านว่า  หลวงพ่ออย่านั่งมาก  สงบมาก   ให้ออกเดินจงกรมบ้างเดี๋ยวจะเป็นโรคเหน็บชา  อัมพาต  ให้ออกเดินจงกรมเสียบ้างให้พิจารณาบ้าง  พอหลวงพ่อได้ยินผมทักดังนั้นหลวงพ่อก็ออกไปเดินจงกรมกับผม

       หลวงปู่ได้ถามว่า  “  ท่านพิจารณานิมิตแล้ว  ได้ความว่าอย่างไร "

       ข้าพเจ้าเลยเรียนท่านว่า  “ พิจารณาได้ความเป็น 2  นัย  นัยแรกถ้าหลวงพ่อป่วย  ก็จะป่วยมาก  แทบประดาตาย  แต่ไม่ตาย  นัยที่สอง  ถ้าหลวงพ่อภาวนาต่อไป  จะได้บรรลุธรรมจนเป็นที่พอใจ  อาจจะถึงที่สุดหายสงสัย "

       หลังจากที่สนทนากันนั้นสามวัน  หลวงปู่ก็มีอาการเจ็บป่วยขึ้น  เมื่อท่านไม่สบายท่านก็เข้านิโรธอีก  เพื่อระงับอาการป่วยนั้นให้หายไป  ท่านเข้าอยู่  3  วัน  จึงออกจากนิโรธเมื่อออกจากนิโรธเมื่อออกจากนิโรธ  อาการเจ็บป่วยก็ยังไม่หาย  ข้าพเจ้าเลยเข้าไปเรียนถามท่านว่า

       “ เป็นอย่างไรบ้างครับ หลวงพ่อ  อาการป่วยไข้ “

       ท่านก็ตอบว่า " เวลาจิตมันรวม  อาการป่วยไข้ก็ไม่มี  อยู่สบาย  แต่เวลาจิตมันถอนออกมาจากการรวมโรคภัยไข้เจ็บก็ยังอยู่อย่างเก่า  ไม่ลดละจากธาตุขันธ์เลย "

       ข้าพเจ้าเรียนถามว่า  " เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะทำอย่างไรล่ะครับ  "

       ท่านตอบว่า  " ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ต้องเข้านิโรธบ่อย ๆ เพื่อดับเวทนา "

       ข้าพเจ้าก็เลยย้อนเตือนสติท่าน   " นิโรธอย่างนี้  ก็เป็นนิโรธหลบหลีเวทนา  ไม่ใช่นิโรธที่พิจารณาดับเวทนาเลยน่ะซีครับ "

       ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันในขณะนั้น

       อยู่มาวันหลัง  ท่านว่า   " เมื่อคืนนี้ผมได้นิมิต  พิจารณาแล้วเห็นว่า  อายุร่างกายเจ็บป่วยคราวนี้  เห็นทีจะดับเสียแล้ว  ชีวิตของผมคงมาถึงเพียงแค่นี้  ผมอาจจะตายในคราวนี้  "

       ข้าพเจ้าเลยย้อนถามท่านว่า  จริงหรือ

       ท่านก็ว่า  จริง

      ข้าพเจ้าจึงอธิบายเรื่องความตายถวายท่านว่า

       ความตายมี  2  ชนิด  คือ  หนึ่ง  ธาตุขันธ์มันตาย  ขาดจากลมหายใจ – สองกิเลสมันตาย  ถามท่านว่า  ท่านหมายเอาความตายแบบไหน  

       ท่านก็บอกว่า  “ตายแบบที่หนึ่ง  ธาตุขันธ์มันตายขาดจากลมหายใจ “

       ถามท่านว่า  “ เหตุไฉนหลวงพ่อจึงทราบ

       “  ทราบซิ  เวลาผมเข้านิโรธสมาบัติ  จิตถอนออกมาพิจารณาชีวิตสังขารของตนเห็นว่าจะดับนี่นา  ท่านตอบตามความเห็นของท่าน

       " แล้วหลวงพ่อ  เคยเชื่อไหม - ? "

       "  เคยเชื่อ " ท่านว่า  “ ผมเคยพิจารณาอย่างนี้  ได้ผลและรู้เห็นตามเป็นจริงมาทุกราย

       เลยย้อนถามท่านอีก   " เวลาหลวงพ่อเข้านิโรธครั้งนี้เป็นอย่างไร "

        " มันสบาย  ......สบาย "  ท่านว่า " ไม่มีทุกข์เวทนาเวลาออกมามีแต่ทุกข์มีแต่ร้อน  ผมไม่อยากออกเลยอยากเข้านิโรธอยู่อย่างนั้นตลอดไป "

ข้าพเจ้าท้วงท่านว่า " นิโรธที่หลวงพ่อเข้านั้น  เป็นนิโรธที่ดับเวทนาไม่ได้  ดับได้แต่เวลามันเข้าไป  แต่เวลาที่มันไปรวมอยู่นั้น  ถ้าพิจารณาโดยละเอียด  มิใช่เป็นการดับแต่เป็นการหลบหลีกไป  ไม่สู้เวทนาต่างหากนิโรธแบบนี้เป็นนิโรธที่ขาดสติขาดปัญญา "  ข้าพเจ้าอธิบายให้ท่านฟัง  แล้วก็ยกนิมิตที่เคยเรียนให้ท่านฟังสมัยไปบิณฑบาตรด้วยกันว่า  “ สำหรับผมนี้  ยังไม่เห็นด้วยว่า  หลวงพ่อจะตายในครั้งนี้  ผมได้กราบเรียนนิมิตให้หลวงพ่อฟังแล้วและได้กราบเรียนการพิจารณานิมิตให้ท่านฟังแล้วเป็น  2  นัย  นัยหนึ่ง  หลวงพ่อป่วยหนักแต่ไม่ถึงแก่ความตาย  นัยที่สอง  ทางด้านภาวนา  หลวงพ่อจะได้บรรลุคุณธรรมสูง  อาจจะสูงสุดด้วย  ที่เคยเรียนถวายเมื่อตอนบิณฑบาตรด้วยกัน  หลวงพ่อจำได้ไหมครับ...? "

       ท่านก็ว่า  จำได้ครับ  

       ข้าพเจ้าจึงว่า  “ ผมว่า  ไม่เป็นไรครับ  ไม่ตาย  แต่หลวงพ่อจะป่วยหนักเท่านั้น  ไม่ตาย  กิเลสมันจะตายต่างหาก  อย่าวิตกวิจารณ์เลยครับ “

       อย่างไรก็ตาม  เห็นหลวงปู่ยังลังเลอยู่  ข้าพเจ้าก็ขอให้ท่านพิจารณาของท่านเองอีกครั้งในคืนวันนี้สนทนากันแล้ว  ข้าพเจ้าก็ลาจากมา  วันหลังเมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเยี่ยมท่านอีก  ท่านก็ว่า – พิจารณาซ้ำแล้ว  ปรากฏผลอย่างเก่าที่บอกไว้  คือถึงที่สุดสังขารแล้ว  แน่นอนทีเดียวต้องตายแน่ ๆ

       เมื่อท่านตัดสินใจว่าจะต้องตายแน่นอน  ก็ได้ขอให้ข้าพเจ้าและชาวบ้านช่วยกันทำหีบศพมาให้ท่าน  และท่านขอให้แจ้งข่าวไปถึงท่านอาจารย์และญาติโยมของท่านที่จังหวัดของท่าน  ให้ทราบด้วยว่า  ท่านได้ปลงชนมายุสังขารแล้ว  ข้าพเจ้าจำต้องส่งข่าวไปตามที่ท่านขอร้อง  เรื่องหีบศพก็เช่นกัน  ข้าพเจ้าไม่อยากจะทำเลยแต่ท่านก็เคี่ยวเข็ญขอร้องอยู่นั่นแล้ว  เกรงใจกันว่า  ท่านเป็นผู้มีอายุ  และเจ็บไข้  ก็จำต้องยอมทำตามคำของท่าน  เมื่อทำเสร็จแล้วเอามาไว้ข้างเคียงท่าน  ให้ท่านดู....ตามใจท่าน  ท่านก็พิจารณาความตายไป  อาการป่วยของท่านก็ค่อยทุเลาลงเรื่อย ๆ จนหายขาด

       ครั้นหายขาดแล้ว  ท่านก็มาพิจารณาเรื่องนิมิตที่ท่านปลงสังขารร่างกายแล้วบ่นพึมพำว่า  สังขารมันว่าจะตาย  ทำไมไม่ตาย  มันเป็นอย่างไร  ทำไมมันหลอกลวง  ญาณเป็นอย่างไรเสื่อมไปแล้วไว้ใจไม่ได้แล้ว  ข้าพเจ้าได้โอกาสจึงเข้าไปสนทนากับท่าน และให้อุบายท่านว่า  อย่างนี้ละ  โบราณท่านว่า  ฟานหรือเก้ง  มันตื่นขี้ของมัน  คือ  เก้งมันขี้แล้วพอขี้มันหลุดออกจากตัว  มันก็ตื่นขี้ของมัน  เข้าใจว่า  มนุษย์ขว้างดินใส่มัน  มันจึงตกใจร้อง  กระโดดโลดเต้นวิ่งหนีไป

       “ หลวงพ่อตื่นนิมิตของหลวงพ่อ  ผมได้เรียนให้ทราบแล้วว่า  ถ้าป่วย  ก็ป่วยหนัก  แต่ก็ไม่ตาย  นี่เป็นฝ่ายป่วยถ้าเป็นฝ่ายภาวนา  ทางด้านธรรมะก็จะบรรลุธรรมอย่างเป็นที่พอใจ  หายสงสัยเพราะในขณะผมนิมิตเห็นหลวงพ่อนั่งในกลดมีแต่ภาวนาอย่างเดียวนี้หมายความว่าหลวงพ่อมีแต่พักความสงบอย่างเดียว  ใช้แต่ความสงบอย่างเดียว  อยู่ด้วยความสงบอย่างเดียว  ชมแต่ความสงบอย่างเดียวแล้วบังคับหรือบริกรรมให้แต่จิตรวมอย่างเดียว  เมื่อจิตรวมก็มัวชมเชย  ยินดีในจิตรวม  เมื่อจิตถอน  ก็ไปยึดถือเอาจิตที่รวมนั้นเป็นอารมณ์  อยู่อย่างนั้น  ไปยึดถือเรื่องอดีต  อนาคต  ไม่เห็นปรากฏว่า จิตของหลวงพ่อตัดสังโยชน์ตอนไหน  แล้วถือว่าจิตรวม  นั้นแลเป็นนิโรธ  ถ้าหลวงทำอย่างนี้  มันก็อยู่ในสังขารนั่นเองมันไม่พ้นไปจากทุกข์  เวลาจิตถอนขึ้นมาก็โดนทุกข์อยู่นั่นแหละ  เพราะละไม่ได้แล้วจะมาปลงสังขาร  ปลงชีวิตว่าจะตายเท่านั้นเอง "

       " ส่วนนิโรธของพระอริยเจ้านั้น  หาเป็นเช่นนั้นไม่  เมื่อจิตของท่านลงสู่ฐีติจิต  ถอนจากฐีติจิตแล้วท่านก็พิจารณา  สาวหาเหตุ  หาปัจจัยของธรรมทั้งหลาย  พิจารณาทุกข์พิจารณาเหตุให้เกิดทุกข์  แล้วมันก็รู้เรื่องกันเท่านั้น  ท่านก็ดับทุกข์  ดับเหตุให้เกิดทุกข์ได้เท่านั้น  นี่เป็นนิโรธของพระอริยเจ้า.....นี่แหละครับ  ผมได้ฟังโอวาทของท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตะเถระ  ขณะที่ได้จำพรรษาร่วมกับท่าน  ท่านได้เล่าเรื่องนิโรธสมาบัติให้ฟัง  โดยเหตุที่มีศิษย์ของท่านองค์หนึ่งเล่าเรื่องเข้านิโรธถวายให้ท่านฟัง "

       แล้วข้าพเจ้าก็เล่าเรื่องนิโรธที่ท่านพระอาจารย์มั่น  สั่งสอนสานุศิษย์ให้หลวงปู่บัวทราบโดยละเอียดและเสริมว่า  

        " ท่านย้ำว่า  นิโรธของพระอริยเจ้านั้น  เป็นนิโรธอยู่ตลอดเวลา  ไม่อ้างกาล  อ้างเวลา  ไม่ใช่กาลนั้นจึงจะเข้านิโรธ กาลนี้จึงจะออกนิโรธ  เป็นความดับทุกข์อยู่ตลอดกาล  ตลอดเวลา  เป็นนิโรธที่ดับสังขาร  ไม่มีสังขารแล้วพ้นจากทุกข์  ท่านพระอาจารย์มั่นท่านว่าจะเรียกนิพพานก็ได้  วิสุทธิธรรมก็ได้  อมตธรรมก็ได้  เป็นธรรมที่ไม่ม้วยมรณ์  คือไม่ตาย  เป็นธรรมที่อยู่เหนือโลก  พ้นโลก  หมดสมมติ  หมดบัญญัติ  หมดกริยา  เป็นอกริยา  ไม่มีการไปการมานี้เรียกว่า  นิโรธ...สมกับที่ว่า  พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่  เห็นอยู่  ปรากฏอยู่  ซึ่งธรรมทั้งหลายแก่พราหมณ์ทั้งหลายผู้มีความเพียรเพ่งอยู่  ด้วยสติปัญญาอันละเอียดเช่นนี้  รู้ว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ  ย่อมรู้เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย  และรู้ความสิ้นไปแห่งเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายนั้น  พราหมณ์ทั้งหลายนั้นย่อมหายจากความสงสัย  ย่อมเป็นผู้มีสติปัญญาสว่างโร่อยู่อย่างนั้น  ย่อมกำจัดมารและเสนามาร  คือ  มาร  และเสนามาร  ได้แก่กิเลสมารย่อมดำรงอยู่ไม่ได้   ดุจพระอาทิตย์ที่อุทัยขึ้นย่อมกำจัดมืดให้อากาศสว่างฉะนั้น  ไม่มีความสงสัยเลย "

        นิโรธะ คือเป็นผู้ดับเหตุ  ดับปัจจัย  ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์  ทำเหตุทำปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งหลายให้สิ้นไป  ดับเหตุ  ดับปัจจัย  ละเหตุ  ละปัจจัย  วางเหตุ  วางปัจจัย  ปล่อยปัจจัย  สละเหตุ  สละปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือ  ตัณหานั้น  พราหมณ์นั้นเป็นผู้มีความเพียรเพ่งอยู่อย่างนี้ด้วยความมีสติ  ด้วยความมีปัญญา  มากำหนดรู้ชัดว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุและปัจจัยแล้วก็ทำเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายที่เป็นตัวสังขาร  เป็นตัววัฏฏเป็นตัวสังขารจักร  ให้เสื่อมไปให้สิ้นไป  ให้หมดไปโดยไม่เหลือนั้นเทียว  ดับเหตุ  ดับปัจจัย  โดยไม่ให้เหลือ  ละเหตุละปัจจัย  โดยไม่ให้เหลือ  วางเหตุวางปัจจัยโดยไม่ให้เหลือ  ปล่อยเหตุ  ปล่อยปัจจัย  โดยไม่ให้เหลือ  สละเหตุ  สละปัจจัย  แห่งธรรมทั้งหลายที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นโดยไม่ให้เหลือนั้น  นั้นเทียว

       นี้เรียกว่า  นิโรธ

       จะไปน้อมจิตเข้าสู่นิโรธนั้น.... ท่านอาจารย์ใหญ่มั่นท่านว่า – จะทำได้อย่างไร  เมื่อไม่มีปัญญารู้ชัด  เหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลายแล้ว  มันก็เป็นนิโรธที่เดาที่สมมติบัญญัติเท่านั้น  ผิดจากหลักสัจจธรรม

       เมื่อได้สนทนาปราศรัยกันไป  เป็นการแลกเปลี่ยนอุบายและความรู้  หูตาปัญญาของกันและกันแล้ว  ต่อแต่นั้น  ท่านหลวงปู่ก็นำไปพิจารณา  ภายหลังได้ทราบข่าวว่า  ท่านก็ได้รู้ดี   เห็นดี  และมีความหายสงสัยในเรื่องธรรมทั้งหลาย

       ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำจันทน์  มีเรื่องประหลาดเกิดขึ้น  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้  กล่าวคือ  มีพวกข้าราชการและพระฝ่ายตรงกันข้าม  พยายามยุแหย่ติฉินนินทาและใส่ร้ายป้ายสีว่า  ข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์หรือเป็นหัวหน้าคอมมิวนิสต์  เป็นพระก่อการร้าย  เมื่อทราบข่าวเช่นนั้น   ประชาชนก็ตื่นเต้นกันไป

       วันหนึ่งข้าพเจ้าออกเดินทางจากถ้ำจันทน์  จะไปวิเวกที่ภูวัว  ได้มีการสั่งการจากอุดรธานี  วิทยุสั่งให้พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาชายแดน  ประจำอำเภอบึงกาฬให้สกัดติดตามข้าพเจ้าโดยหวังจะฆ่าข้าพเจ้าให้ตาย

       มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งติดตามไปด้วย  แต่ตามไม่ทันข้าพเจ้าเขาก็เลยกลับ  ต่อมาเมื่อเขากลับใจแล้วภายหลังเขาได้มาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า  “ ผมนี่เองเป็นคนติดตามท่านอาจารย์ไป  หวังจะฆ่าท่านอาจารย์ให้ตายที่กลางทางแต่ติดตามไม่ทัน “

       ข้าพเจ้าก็ถามว่า  “จะฆ่าเพราะอะไร "

       เขาตอบว่า  “ จะฆ่า  เพราะผู้กำกับสั่งทางวิทยุให้ผมติดตามฆ่าทานอาจารย์ “

เมื่อข้าพเจ้าได้ลงมาจากภูวัว  มาพักที่ภูกระแต  อำเภอบึงกาฬ  โดยมากับพระครูทองพูล  ในตอนกลางคืน  มีเจ้าหน้าที่  4  คน  เป็นทั้งตำรวจและทหารได้ลงมาหาข้าพเจ้าและบอกว่า ที่พวกเขามานี้  เพราะไดรับคำสั่งจากผู้กำกับ  ให้มาสืบข่าวเรื่องข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าคอมมิวนิสต์พวกเขามีความสงสัยว่า  ข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์จริงไหม

       ข้าพเจ้าจึงถามเขาว่า  “ คอมมิวนิสต์เป็นอย่างไร “

       เขาก็บอกว่า  “ พวกคอมมิวนิสต์  เป็นพวกไม่มีศาสนา  ไม่นับถือทุกศาสนา  ไม่ให้มีคนทุกข์  ไม่ให้มีคนมีให้มีเสมอกัน  ส่วนสมบัติไมให้มีกรรมสิทธิ์ของตน  ให้มีแต่ของส่วนกลาง “

       แล้วข้าพเจ้าก็ย้อนถามเขาว่า “ คอมมิวนิสต์เขานุ่งอย่างไรเขากินอย่างไร  ลูกเมียมีไหม “

       เขาตอบว่า  “ลูกเมียมีครับ  กินอาหารธรรมดา  เขาใส่เสื้อ  นุ่งกางเกงเหมือนชาวบ้านธรรมดา "

        "  เขากินอาหารวันหนึ่งกี่มื้อ  "

        " สามมื้อ  วันหนึ่งสามหน "

        " เขามีโกนหัวไหม "

       " ไม่มี  "

       " อ้อ " ข้าพเจ้าเลยตอบเขาว่า  " เมื่อคอมมิวนิสต์มีลูกมีเมียได้  นุ่งเสื้อนุ่งกางเกง  กินอาหาร  3  มื้อ  ศีรษะไม่โล้น  มีศาสตราอาวุธประจำมือ  อย่างนี้และอาตมาลูกเมียไม่มี  กินข้าวหนเดียว  โกนศีรษะโล้น  ห่มผ้ากาสาวพัสตร์  ไม่มีศาสตราวุธ....จะหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร  ข้าพเจ้าพูดกับเจ้าหน้าที่ในขณะนั้นถ้าคอมมิวนิสต์ไม่มีศาสนาไม่นับถือทุกศาสนาแล้ว  แต่อาตมาก็เป็นพระบวชในพระพุทธศาสนาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านี้  ถ้าจะสงสัยว่า  พระธุดงค์กัมมัฏฐาน  ผู้ปฏิบัติอยู่ตามป่าตามเขาเป็นคอมมิวนิสต์แล้วจะหาพระที่ไหนในเมืองไทย  จะเอาพระที่กินข้าวเย็นมีลูกมีเมียนี่หรือ ....  จึงจะถือว่าเป็นพระที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์หากยังสงสัยว่า  พวกอาตมานี้เป็นพระคอมมิวนิสต์แล้วสมเด็จพระสังฆราชยิ่งเป็นคอมมิวนิสต์ใหญ่  เป็นคอมมิวนิสต์ตัวใหญ่และพระพุทธเจ้าก็เป็นปู่คอมมิวนิสต์เท่านั้น  คำสอนของพระพุทธเจ้าก็แต่ละล้วนกลายเป็นคำสอนของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งนั้นนะซิ  ไม่มีความหมายเลยในพระพุทธศาสนา "

       เขานิ่งเงียบกันไปหมด  แล้วข้าพเจ้าก็เสริมต่อไปว่า  " เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็พวกคุณนี่เอง  พวกรัฐบาลนี่เองเป็นตัวคอมมิวนิสต์ใหญ่  หาอุบายมาล้มล้างศาสนา  โค่นศาสนาทิ้ง  ไม่ต้องสงสัยเลย "

       พอฟังข้าพเจ้าพูดมาถึงเพียงนี้   เจ้าหน้าที่คนหนึ่งก็ร้องอุทานขึ้นว่า  " โธ่....ถ้าท่านอาจารย์พูดเช่นนี้  พวกผมตายหมดไม่มีที่พึ่ง "

       ข้าพเจ้าเลยว่า   " ต้องพูดตามความจริง  เพราะความจริงเป็นอย่างนี้  ตายหรือไม่ตายก็ไม่รู้แหละ  แต่อย่าไปว่าพระธุดงค์กัมมัฏฐานท่านเลย "

       ขอย้อนกล่าวถึงสมัยอยู่ร่วมกับหลวงปู่ท่านนั้นที่ถ้ำจันทน์อีกครั้งหนึ่ง  เพื่อให้ประวัตินี้บริบูรณ์ตามเป็นจริงปรากฏว่า  หลังจากที่ได้สนทนาธรรมเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันแล้ว  พอใกล้เข้าพรรษา  หลวงปู่ท่านก็ได้ลากกลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสำนักเดิมของท่าน  ภายหลังท่านได้พิจารณาธรรมสากัจฉาตามที่ได้สนทนากัน  พระลูกศิษย์ของท่านได้กลับมาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า  ท่านได้ชมว่า   สมัยอยู่ที่ถ้ำจันทน์นั้นดีนัก  ท่านภาวนาได้กำลังมากที่สุด  ถ้าไม่ได้ท่านจวนอยู่ร่วมด้วย  จะเสียเลย  และท่านก็ชมเชยในธรรมสากัจฉาซึ่งกันและกันท่านว่า  ท่านหายสงสัยในธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว

       ข้าพเจ้าฟังแล้วก็พลอยอนุโมทนาสาธุการยินดีกับท่านด้วยแต่ข้าพเจ้าก็ไม่มีคุณธรรมอะไร  ไม่มีภูมิธรรมอะไร  ข้าพเจ้าเป็นเพียงปุถุชนคนมีกิเลสหนาปัญญาหยาบธรรมดา ๆ หินชาติ  หินชนของคนเรา  ไม่มีอะไร  แต่หากว่าได้จำคำสอนของครูบาอาจารย์ที่ได้ศึกษาไว้  และสดับตรับฟังมาตามตำรับตำราและตามครูบาอาจารย์เท่านั้น  จึงสามารถสนทนากับหลวงปู่ได้  ไม่ใช่สมบัติของข้าพเจ้าเลย

       ข้าพเจ้าจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำจันทน์นี้ถึง  4  พรรษาเต็ม  แต่โดยที่ปีแรกที่ออกมาอยู่ถ้ำจันทน์นั้น  เป็นเวลาหลังออกพรรษาที่  16  ใหม่  ๆ ในปี  2501  หลังออกพรรษา  ก็มาอยู่ถ้ำจันทน์แล้วและออกไปจากถ้ำจันทน์ก็เมื่อปลายปี  2505  นับจำนวนปีที่อยู่ที่ถ้ำจันทน์จึงเป็นเวลาถึงเกือบ  5  ปี  ได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของถ้ำจันทน์มาก  ระยะหลังได้มีประชาชนชาวบ้านพากันแตกตื่นเข้าไปตั้งบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก  เพราะเห็นว่าถ้ำจันทน์เป็นที่ทำเลทำมาหากินสะดวกดี  ทำเลดีเหมาะสำหรับจะทำการเพาะปลูกเป็นอย่างดี  น้ำดีดินดี  ที่เคยกลัวเจ้าป่า  เจ้าเขา   ทำนาทำสวนไม่ได้ผลว่าผีห้าม  ผีหวง  ก็ไม่ได้กลัวกันอีก  กลับเล่าลือกันว่าเวลานี้ไม่ว่าจะเพาะปลูกอะไร  ก็อุดมสมบูรณ์ได้ผลดีผู้คนจึงหลั่งไหลกันเข้ามาจับจองที่ดิน  หักร้างถางพงเป็นนา  เป็นไร่  ตั้งบ้านเรือนเป็นปึกแผ่นแน่นหนา

       จากที่เดิม   เมื่อข้าพเจ้าบุกเข้าไปครั้งแรก  กลางดงมีบ้านชาวข่า  2  ครอบครัว  สุดท้ายก็มีประชาชนจากที่ใกล้เคียงและจังหวัดอื่น ๆ อย่างเช่น  ร้อยเอ็ด  นครพนม  อุบลราชธานี  อพยพมาอยู่ด้วยนับเป็นพัน ๆ คน  ข้าพเจ้าได้ให้ตั้งหมู่บ้านกันขึ้นทั้ง  4  ทิศ  ของถ้ำที่ข้าพเจ้าอยู่  เช่น  บ้านคำไผ่  บ้านหนองหมู  บ้านคลองเค็ม  และบ้านโป่งเปือย  เป็นต้นเมื่อมีผู้คนมากขึ้น  แม้ว่าการบิณฑบาตรขบฉันจะสะดวก  แต่ข้าพเจ้าก็เห็นว่า  บ้านเรือนล้นหลาม  มีคนอพยพอยู่อาศัยมาก  มันจะเป็นการคลุกคลี  ไม่ค่อยสงบ  รบกวนต่อการทำสมาธิภาวนาจึงคิดจะโยกย้ายหาที่สงัดวิเวกทำความเพียรต่อไป

       ระยะแรกพอชาวบ้านรู้ข่าว  ก็จะไม่ยอม  ร้องไห้อาลัย  ทั้งเกรงว่าต่อไปการเพาะปลูกจะไม่ได้ผล  ข้าพเจ้าได้ชี้แจงให้เขาเข้าใจความจำเป็นของพระธุดงค์กัมมัฏฐานที่ต้องการความสงัดเงียบ  แสวงหาถ้ำ  หาพลาญหิน  หาซอกเขา  เงื้อมเขาอันสงบสงัด  เป็นที่ทำความเพียร  ส่วนที่เกรงว่า  การทำไร่นาเพาะปลูกจะไม่ได้ผลสมบูรณ์  ขาดแคลนน้ำเพราะฝนฟ้าอาจไม่ตกต้องตามฤดูกาล  ไม่บริบูรณ์อย่างระยะหลังที่ข้าพเจ้าอยู่ด้วยกัน  ข้าพเจ้าก็ขอให้ผู้ที่คงอยู่ช่วยกันตักเตือนซึ่งกันและกันให้ยึดมั่นอยู่ในไตรสรณาคมน์  ต่อคุณพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  อย่าลักขโมยกัน  อย่าประพฤติผิดลูกเมียเขาอย่าพูดเท็จ  อย่าดื่มเครื่องดองของเมาอันจะทำให้เกิดความประมาทให้ขาดสติสัมปชัญญะ  ถ้าชาวบ้านช่วยกันระมัดระวังให้มีศีลกันเป็นปกติวิสัยแล้ว  ไม่ว่าจะอยู่แถบใด  ถิ่นใด  เมืองใด  ประเทศใด  ก็จะพากันมีแต่ความร่มเย็น  ไม่ต้องห่วง  ไม่ต้องสงสัย  

        เมื่อพูดจากันเข้าใจแล้ว  ข้าพเจ้าก็ได้ออกมาจากถ้ำจันทน์


บนศาลาที่ถ้ำจันทร์ (กรกฎาคม 2520 )

ซอกเขาที่เสือเคยคาบลูกหลบไปพักอยู่

ทุกแห่งที่ท่านไปตั้งวัด จะมีลักษณะหินและสะพานเช่นนี้เสมอ

ผ้าขาวชี้ให้ดูจุดที่ขุดแต่งถ้ำ และพบพระโบราณพันกว่าปีฝังอยู่ที่ผนังถ้ำ

โรงต้มน้ำและย้อมจีวร

พระพุทธเจ้า 5 พระองค์

กุฎิที่ท่านเคยพัก ท่านจะนั่งเทศน์บนระเบียงข้างบน
ส่วนชาวบ้านนั่งฟังที่ลานหินข้างล่าง


วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

21.พรรษาที่ 17 พ.ศ.2502 จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์ - ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

ถ่ายที่ถ้ำจันทร์ เมื่อปี 2502 กับศิษย์รุ่นแรกๆ


พรรษาที่ 17  พ.ศ.  2502
จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์  ดงศรีชมภู  อ.โพนพิสัย

       พรรษาที่  17  นี้  ข้าพเจ้าจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำจันทน์แต่เพียงองค์เดียว  ระยะมาอยู่แรก ๆ ในขณะเดินจงกรมเวลาพลบค่ำหรือยำรุ่ง  จะได้ยินเสียงเหมือนคนพากันเดินพูดคุยอยู่บนพลาญหินกันเป็นหมู่  เสียงเด็กก็มีเสียงผู้ใหญ่ก็มี  เสียงผู้หญิงก็มากมาย  คล้าย ๆ กับไม่ได้อยู่กลางป่ากลางดงเช่นนั้นแหละ  พอดึกขึ้นหรือสายเข้าเสียงนั้นก็หายไป  บางทีก็ได้ยินเสียงคล้าย ๆ กับม้าวิ่งมาเป็นฝูง  มีเสียงคนพูดจาถกเถียงกัน  เอะอะผ่านหน้าที่ข้าพเจ้านั่งอยู่  บางวันใกล้สว่าง  ได้ยินเสียงเหมือนคนสวดมนตร์ไหว้พระทำวัตร  เพราะที่ถ้ำจันทน์นี้มีวัตถุโบราณเช่น  พระโบราณ  ฝังอยู่ในดินมาก  เวลาขุดรื้อถ้ำให้ราบเรียบพอจะอยู่อาศัยได้ จะพบแขนพระ  เศียรพระ  และองค์พระก็มีส่วนใหญ่แตกเป็นพระเกสรโดยมาก  เป็นสถานที่สำคัญมากรอบบริเวณอุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด  เช่น  หมูป่า  เก้ง  กวาง  นก  ส่วนสัตว์ใหญ่  เช่น  เสือ  ช้าง หมี ก็ยังอุดมสมบูรณ์  เพราะเป็นป่าเป็นดงจริง ๆ งูใหญ่เช่น  งูจงอางก็มากอยู่  พวกช้าง  พวกเสือจะมาเยี่ยมกรายเข้ามาบ่อย ๆ มาจนใกล้ทีเดียว  หาอาหารอยู่ในบริเวณเดียวกับมนุษย์  ต่างฝ่ายต่างอยู่  ต่างฝ่ายต่างหากินอยู่ด้วยกันความสงบสันติดังนี้


       ความจริงที่นั้นเป็นที่อยู่ของพวกสัตว์ป่าเขาต่างหากเป็นบ้านของเขา  เรามนุษย์ต่างหากที่เป็นผู้ล่วงล้ำก้ำเกินเข้าไปในแดนของเขา  จึงต้องเคารพสิทธิของเขา  ถ้ำจันทน์อยู่ห่างจากหมู่บ้านมาก  ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าไปอยู่ต้องอาศัยบิณฑบาตจากพวกชาวข่าดังกล่าวแล้ว  ซึ่งเขาอพยพไปทำนาอยู่ห่างจากถ้ำจันทน์ประมาณ 100  เส้นเดินทางไปตามทางพลาญหิน  ทางช้าง  กว่าจะถึงทางเกียนก็ตั้งหลายเส้นทีเดียว  บางวันระหว่างทางไปบิณฑบาตก็เจอหมู่ช้าง  บางวันก็เจอพวกหมีอยู่กลางทาง  ...ดังนี้แลชีวิตของพระธุดงค์กัมมัฏฐานนี่เสี่ยงต่อความเป็นความตาย  ไม่เห็นแก่ความตาย  ไม่เห็นแก่ชีวิต  เห็นธรรมเป็นของมีคุณค่ามากกว่าชีวิต  เห็นชีวิตเป็นของที่ต่ำ ๆ กว่าธรรม

       การไปบิณฑบาตที่บ้านข่านั้น  โดยมากข้าพเจ้าก็ฉันที่บ้านข่านั้นเองเพราะหนทางไกลมากกว่าจะกลับมาได้ก็จะต้องสายมากทีเดียว  ถ้ำจันทน์เป็นสถานที่ซึ่งสัปปายะในการภาวนาอย่างยิ่ง  อากาศดีมาก  จิตรวมเร็ว  คิดค้นดี  ค้นในกายของเราอย่างไม่ลดละ  สามารถภาวนาบำเพ็ญความเพียรได้อย่างเต็มที่เพราะได้อยู่คนเดียวโดยตลอด

       นี่เป็นเวลาพรรษาที่  17

       หลังจากออกพรรษาแล้ว  ในระหว่างฤดูแล้งที่อยู่ลำพังองค์เดียวที่ถ้ำจันทน์นี้  ได้เกิดอาพาธหนักเป็นไข้ป่า  ไม่มียาฉันเลย  ปล่อยให้ธาตุขันธ์มันเยียวยาตัวเองไปตามธรรมชาติ ตอนบ่ายเป็นไข้จับสั่น  ตอนเย็นพอพลบค่ำไข้ก็หยุดจับ  สามารถลงไปกรองเอาน้ำที่เชิงเขาได้  กว่าจะกลับถึงที่พักก็มือสนิท  เป็นอยู่เช่นนี้ทุกวันถึง  1  เดือน  ไข้ก็เป็นอยู่ไม่หาย  เพราะไม่มียาและอยู่องค์เดียว

       ระหว่างที่ยังเป็นไข้อยู่นี้  วันหนึ่งข้าพเจ้าได้นอนภาวนา   กำหนดจิตอยู่  ขณะจะเคลิ้มหลับแหล่มิหลับแหล่  อยู่ระหว่างกึ่งกลางความหลับและความไม่หลับนั้น  ได้นิมิตภาพว่าโยมบิดาซึ่งสิ้นชีวิตไปแล้ว ตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุ  16  ปี  ได้มาหาโยมบิดานี้  ท่านเป็นหมอพื้นบ้าน  ช่วยรักษาไข้ให้เพื่อนบ้านใกล้เคียง  ชาวบ้านเขานิยมท่านมาก  ปรากฎในนิมิตว่า  โยมบิดาได้สะพายร่วมยามาหาข้าพเจ้าและถามว่า

       “ คุณลูกเป็นอะไร “

       ข้าพเจ้าได้บอกท่านว่า  “  ป่วยเป็นไข้ป่า  ป่วยมาแล้ว  1  เดือน  ยังไม่หาย  ไม่มียาฉัน  “

       โยมบิดาเลยว่า  “  เออ...งั้นจะฝนยาให้กิน  เดี๋ยวก็หาย “

       ว่าอย่างนั้นแล้ว  โยมก็แก้ร่วมยาออกเอาน้ำใส่ขัน  แล้วก็ฝนยาใส่ขันน้ำ  ในขณะที่โยมบิดาฝนยาอยู่นั้น  กลิ่นของยา...หอมน่าฉัน  น่าดื่มจริง ๆ ทีเดียว  รู้สึกว่าสูดแต่กลิ่นก็พอแล้ว  คล้าย ๆ กับว่า  จะมีกำลังเพิ่มขึ้นเลย  เมื่อโยมฝนยาเสร็จแล้วก็ยกมาถวายให้ดื่ม  ข้าพเจ้าฉันจนหมดยาในขันนั้น

       พอฉันเสร็จก็รู้สึกตัวตื่นขึ้นพอดี  นึกว่าตัวได้ฉันยาจริง ๆ เมื่อได้พิจารณาแล้ว  จึงรู้ว่าเป็นเรื่องของนิมิต หรือความฝันต่างหาก  ต่อจากนั้นมาวันใหม่อาการของไข้ก็ลดลงไป  จนหายขาด ไม่มีไข้อีกต่อไปและร่างกายก็มีกำลังขึ้น  ฉันอาหารก็ได้เป็นปกติตั้งแต่นั้นมายังไม่เคยปรากฏการเจ็บป่วยแบบนั้นอีก  จะไปอยู่ที่ไหน  ๆ  รู้สุกว่าอาการไข้ไม่มี  จะเป็นเพราะเหตุอะไรข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ  ถ้าจะว่า  เป็นเพราะได้ฉันยานั้นของโยมบิดาแต่ก็ไม่ได้ฉันจริง ๆ ฉันด้วยนิมิตในความฝันต่างหาก

       เมื่อการเจ็บป่วยได้หายสนิทแล้วก็ระลึกถึงคุณบิดามารดา  ว่าพระคุณของท่านนั้นมีมากมายมหาศาลหาประมาณมิได้  เลยแผ่อุทิศส่วนบุญกุศลที่เคยบำเพ็ญมาตั้งแต่น้อยมาตลอดชีวิต  ขออุทิศให้แก่โยมทั้งสอง  คือบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว  ถ้าหากดวงวิญญาณของท่านจะสิงสถิตอยู่  ณ  ที่แห่งหนตำบลใด  คติใด  กำเนินใด  ภพใด  และชั้นใดขอให้บุญกุศลที่ข้าพเจ้าอุทิศให้นี้  จงไปถึงโยมทั้งสองและให้ท่านได้รับส่วนบุญกุศลนี้  เมื่อได้รับแล้ว  ขอให้โยมทั้งสองได้พ้นจากทุกข์ภัยอันตรายใด ๆ

      นึกอุทิศบุญกุศลดังนี้แล้ว  ต่อจากนั้น  อาการไข้ก็สงบลงโดยเด็ดขาด

ถ้ำจันทร์ เมื่อปี 2505 ญาติโยมต้องหาบอาหารเข้าไปเป็นวันๆ
ผู้ที่ยืนขวาสุด คือคุณประพักตร์ โสฬสจินดา ที่ท่านพระอาจารย์เอ่ยถึงบ่อยๆในประวัติ

20.พรรษาที่ 15–16 พ.ศ.2500 – 2501 กลับไปจำพรรษาที่ดงหม้อทอง - ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ



พรรษาที่  15 – 16 พ.ศ.  2500 – 2501
กลับไปจำพรรษาที่  ดงหม้อทอง

       พรรษาที่   15  ข้าพเจ้าได้กลับมาจำพรรษาที่ดงหม้อทองอีก  ร่วมกับพระอาจารย์สอน  อุตฺตรปญฺโญ  ได้พากันตั้งอธิษฐานไม่นอนอยู่ 2 เดือน  ทำความเพียรกันอย่างเด็ดเดี่ยวบางวันก็พากันเอาปี๊บคว่ำกลางหลังพลาญหิน  ซึ่งอยู่สูงกว่าพื้นดินประมาณ  15  เมตร  แล้วก็เอาอาสนะปูทับบนกันปี๊บ  ภาวนาตากฝนตลอดวันตลอดคืนก็มี  ภาวนาจิตสงบดีปี๊บไม่ล้ม ไม่ง่วง

       บางทีก็ไปนั่งริมหน้าผาชัน  ตลอดคืน  โดยไม่ง่วง  ไม่สับประหงกแต่ประการใด  ถ้าหากง่วงสัปหงกเพียงเล็กน้อย  ก็คงจะตกจากหน้าผาลงข้างล่างแล้ว  เป็นการพยายามสัปรยุทธชิงชัยเอาชนะกิเลสกันอย่างเต็มที่

       ในพรรษา  15  นี้  ข้าพเจ้าเกิดอาพาธหนักเป็นไข้ป่าเอาหมอรักษาฉีดยา  ยากับโรคปะทะกันทำให้เกิดอาเจียนขนานใหญ่  อาหารออกหมด  หมดแรงแทบประดาตายแล้วเกิดธาตุวิปริต  ตามืด  ตามัว  เวียนศีรษะคอนศีรษะแทบไม่ขึ้น  พูดจาไม่รู้เรื่องภาษาเป็นอยู่  9  วันจึงสงบ  ข้าพเจ้าแก้โดยวิธีเอาปี๊บมา  2  ใบตั้งบนหลังพลาญหิน  แล้วใช้กระดานปู  2  แผ่นวางบนปากปี๊บนั่งพิจารณาความตายท่านพระอาจารย์สอนและเณรหลาน  เกรงว่าอาจจะพลาดพลั้งตกหน้าผาไปได้  ท่านก็ผลัดเวรกับเณรหลานมาคอยเฝ้าอยู่หลายคืน  โรคข้าพเจ้าจึงหายขาด

       ออกพรรษาแล้ว  ต่างก็ทยอยกันหาที่วิเวกไปในที่ต่าง ๆ เฉพาะข้าพเจ้าก็กลับไปนมัสการหลวงปู่ขาวฟังเทศน์รับการอบรมจากท่านต่อไปตามเคย

       เมื่อใกล้เข้าพรรษาที่  16  ข้าพเจ้าก็ชวนท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง  เขมาภิรโต  เจ้าอาวาสวัดถ้ำกลองเพลปัจจุบัน  กลับมาจำพรรษาที่ดงหม้อทองอีก  มีพระเณรจำพรรษาอยู่ 4 องค์  พากันปรารภความเพียร  ห้ำหั่นกิเลสกันอย่างเต็มความสามารถแต่ละองค์ต่างก็พยายามสรรหาอุบายที่ถูกกับจริตนิสัยของตนมาพิฆาตฆ่าฟันกิเลสในใจให้สงบราบคาบลง

       พระเณรต่างแยกย้ายกันทำความเพียรอย่างไม่เห็นแก่ชีวิต  ให้กายวิเวก  ให้วาจาวิเวก  ให้จิตวิเวก  ไม่เกี่ยวแก่กัน  ไม่ข้องแวะกัน  ไม่ก่อสร้างใด ๆ ทั้งหมด  อากาศดี  แม้สัตว์ป่าก็คุ้นเคยสนิทชิดเชื้อกับพระดีมาก  ไม่เป็นข้าศึกแก่กันและกัน  เสือ  ช้าง  เดินเข้ามาเยี่ยมกรายตามซอกภูผา  แนวทางจงกรมของพระบ่อย ๆ พระเณรก็ถือว่านี่เป็นเขตวัด  สัตว์ทั้งหลาย  เขาก็คิดว่านี่เป็นเขตป่าต่างฝ่ายต่างอยู่  ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนไป

       บางวัน  พระเณรก็จะภาวนาของท่านไป  งูก็จะเลื้อยผ่านไปหากินตามทางของเขา  ไม่กีดกันขัดขวางกันวันหนึ่งขณะที่พระออกไปบิณฑบาตร  เห็นไก่ป่า  3  ตัวที่ข้างทาง  ปกติวิสัยของไก่ป่านั้นจะมีความปราดเปรียวเกรงกลัวมนุษย์พอพบหน้ามนุษย์มันจะเป็นปร๋อหนีไปทันที  แต่คราวนี้แม่ไก่ทั้งสามตัวพอเห็นหน้าพระมันก็พากันหยุดยืนนิ่งเจ้าตัวหัวหน้าส่งเสียงเป็นสัญญาณให้แก่กัน  แล้วทุกตัวต่างก็ค้อมหัว  ยอบตัวลงต่ำพร้อม ๆ กัน  เหมือนกับจะแสดงอาการคาราวะพระภิกษุสงฆ์ฉะนั้น  ดูแล้วก็ช่างน่ารัก  น่าสงสารมันจริง ๆ มันนิ่งทำความคารวะอยู่เช่นนั้น  จนพระเดินผ่านไป  ชายจีวรข้าพเจ้าแทบจะเช็ดหัวมันแม่ไก่ทั้ง  3  ตัว  ก็ก้มหัวนิ่งอยู่รอจนพระผ่านไปหมดแล้ว  มันจึงออกคุ้ยเขี่ยหาอาหารต่อไป

       ครั้นออกพรรษา  ข้าพเจ้าและท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง  เขมาภิรโต  ก็กลับไปหาหลวงปู่ขาว  มาฟังเทศน์ฟังโอวาทจากท่านระยะหนึ่ง  ข้าพเจ้าก็กราบนมัสการลาท่านออกไปวิเวกทางดงศรีชมภูองค์เดียว  โดยไปลงเรือที่จังหวัดหนองคาย  ล่องแม่น้ำโขง  มาขึ้นเรือที่อำเภอบึงกาฬแล้วเดินทางต่อมาไปถึงหมู่บ้านหนึ่ง  ชื่อบ้านใหม่หนองดินดำ  ก็ขอให้ญาติโยมพาไปสำรวจที่กลางดงศรีชมภู  เขตอำเภอโพนพิสัย

       พบสถานที่แห่งหนึ่ง  มีลักษณะคล้าย ๆ กับซากเมืองเก่า  มีลานหินยาวคล้ายกับถนนคอนกรีตเป็นระยะนับเป็นสิบกิโลเมตร  บางแห่งก็เป็นทรงกลมคล้ายกับสนามม้าในกรุงเทพ  บางแห่งก็เป็นคล้าย ๆ กับปราสาทราชวังสูงหลายชั้นหักพังลงมากองทับถมกันอยู่เป็นโขดหินเป็นหินผา และพลาญหินอันกว้างใหญ่มีโตรถ้ำ  เหวลึกมากมาย  ชาวบ้านเรียกกันว่าถ้ำจันทน์  เพราะบริเวณแห่งนี้เต็มไปด้วยต้นจันทน์นานาพันธุ์  ขนาดต่าง ๆ แน่นไปหมดเป็นดินแดนสงบ  ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่  ข้าพเจ้าเห็นเป็นสถานที่เหมาะควรแก่การบำเพ็ญภาวนา  จึงขอให้ญาติโยมช่วยยกแคร่ปลูกเป็นร้านเล็ก ๆ

       ญาติโยมบอกว่า  จากถ้ำจันทน์นี้ถ้าจะมีบ้านเรือนผู้คนที่ใกล้ที่สุด  ก็จะต้องเดินไปไม่ต่ำกว่า  100 เส้นโดยเป็นบ้านพวกข่า  2  หลังคาเรือนที่อพยพมาทำกินแถวนั้น  ทางไปบิณฑบาตจะต้องเดินไปตามทางด่านหินซึ่งเป็นทางช้างเดิน  และกว่าจะไปถึงทางเกวียนก็จะต้องต่อไปไกลอีก  20  เส้น

       เขาปลูกร้านเสร็จแล้ว  โยมคนหนึ่งออกสำรวจบริเวณโดยใกล้ก็กลับมาตามข้าพเจ้าไปดูและบอกว่า  ห่างจากร้านที่ปลูกเสร็จประมาณไม่ถึงครึ่งเส้นนั้น  เป็นถ้ำเสือแม่ลูกอ่อนมันมานอนที่นี่ทุกวัน  ข้าพเจ้าก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก   เสือก็เป็นสัตว์เราก็เป็นสัตว์เหมือนกัน  อยู่ร่วมกันไม่เป็นไรตกเย็นญาติโยมเขาก็กลับกันหมดเหลือแต่ข้าพเจ้าคนเดียว  พอพลบค่ำเสือมันก็กลับมาจากหากินจริง ๆ ได้ยินเสียงมันมาร้องครางใส่อยู่ใกล้ ๆ บางทีก็ได้ยินเสียงเดินแทบจะเข้ามาชิดกลดแต่ก็ไม่เห็นตัวมัน  มันก็หากินไปตามภาษาของสัตว์ป่า  มนุษย์ก็บำเพ็ญภาวนาไปตามภาษาของเพศบรรพชิต  ข้าพเจ้าไปตั้งร้านแคร่อยู่ใกล้มันมากเกินไป  วันรุ่งขึ้นมันก็คาบลูกพาหลบไปอยู่ตรงซอกเขาอีกแห่งหนึ่ง  ห่างออกไปจากเดิมหน่อยหนึ่ง  แต่ก็ยังได้ยินเสียงมันหยอกล้อกับลูกของมันอยู่ดี

       ระยะแรกมาปักกลดอยู่  ไม่ได้ฉันอาหารถึง 4 วัน  เพราะไม่ทราบจะไปบิณฑบาตที่ไหน  จะไปบิณฑบาตกับพวกข่าก็พูดกันไม่รู้เรื่อง  และเขาก็คงไม่ทราบว่าคนที่นุ่งเหลืองโกนผมนี้คืออะไร  เมื่อถึงวันที่  5   ตอนย่ำรุ่ง  ข้าพเจ้านั่งสมาธิพิจารณาดูว่าใครที่ไหนที่พอจะได้ทำบุญในโอกาสเช่นนี้บ้างก็ทราบได้ว่าเป็นข่า  2  ครอบครัวนี้แหละจึงมุ่งหน้าไปบิณฑบาตที่บ้านข่า2ครอบครัวนั้น  แม่บ้านของครอบครัวดังกล่าว  กำลังนั่งหลามข้ามด้วยกระบอกไม้ไผ่อยู่หน้าบ้านเขามองข้าพเจ้าอย่างงง ๆ แต่เมื่อข้าพเจ้าชี้ตรงข้าวหลามแล้วชี้ที่บาตร  เขาก็เข้าใจ  จากนั้นเขาก็ใส่บาตรให้เป็นประจำ  ได้อาศัยบิณฑบาตรของเขาประทังชีวิตตลอดมา