วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

มณฑปพระธาตุหลวงปู่จวน กุลเชฎโฐ




มณฑปพระธาตุท่านพระอาจารย์จวน  กุลเชฏโฐ  ตั้งอยู่  ณ  จุดศูนย์กลางของเจดีย์ ซึ่งศูนย์กลางของเจดีย์ ซึ่งตรงกับจุดที่เคยตั้งจิตตกาธานบนเมรุที่พระราชทานเพลิงศพของท่าน  เมื่อวันที่  ๑๘ เมษายน  พ.ศ. ๒๕๒๔

ท่านผู้รู้กล่าวกันว่า จุดซึ่งถวายเพลิงพระผู้ทรงศีลวิสุทธิ์หมดสิ้นอาสวกิเลสแล้วนั้น ควรจักต้องสร้างถาวรวัตถุครอบไว้ให้เป็นที่สักการบูชา  เป็นการป้องกันมิให้มีการล่วงเกินเหยียบทับอัฐิธาตุซึ่งอาจจะยังหลงเหลืออยู่ในพื้นดิน อันจะเป็นการบาปแก่ผู้ไม่รู้ ในการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์นี้ จึงได้พยายามระมัดระวังดูแลบริเวณตรงกับจุดถวายเพลิงสรีระร่างของท่าน นี้มาแต่แรกเริ่ม....โดยระหว่างการก่อสร้างก็บอกเล่าให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องทราบเรื่อง  ตั้งจิตขอขมาหากจำเป็นจะต้องล่วงเกินเข้าไปในบริเวณนี้ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะการก่อสร้างและครั้นการก่อสร้างได้เสร็จสมบูรณ์แล้วก็จัดให้เป็นที่ประดิษฐานมณฑปแสดงพระธาตุของท่าน เพื่อให้สาธุชนผู้กราบไหว้บูชาเจดีย์ไม่ล่วงล้ำเข้าไปในบริเวณ ได้เคารพทั้งสถานที่...จุดถวายเพลิง และบูชาพระธาตุของท่านในเวลาเดียวกัน

พระธาตุของท่านพระอาจารย์จวน   กุลเชฏโฐ  ที่จัดนำมาให้สักการะ เพื่อเจริญพุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสตินี้ ได้จัดตั้งบนแท่นแก้วลักษณะ ๘ เหลี่ยม เช่น ลักษณะขององค์มณฑปและลักษณะของเจดีย์ มีดอกบัวแก้วเจียระไนวางคู่ต่างดอกไม้บูชาพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยเศียรเกล้า




พระธาตุนั้นได้แยกตามลักษณะสัณฐานและสีเป็น ๖ กลุ่ม


กลุ่ม ๑  
พระธาตุ – ลักษณะเป็นแก้วใสประดุจเพชรรวมทั้งองค์ที่เป็นผลึกแก้ว แต่ยังไม่ใสดุจเพชรเต็มที่




กลุ่ม ๒          
พระธาตุ – ลักษณะดังเมล็ดข้าวโพด มีสีขาว และสีหม้อใหม่ ลักษณะเป็นเงามัน สมบูรณ์แล้วและบางองค์ที่ยังเป็นสีขาว เทา ผิวยังขรุขระบ้าง แต่รูปลักษณะเห็นชัดว่า เป็นรูปเมล็ดข้าวโพด คงจะเป็นเงา มัน สมบูรณ์ในเวลาไม่นานนัก   




กลุ่ม ๓           
พระธาตุ – ลักษณะสีดำเป็นมันเลื่อมและมีสีเทาแก่ซึ่งคงจะแปรสภาพเป็นสีดำต่อไป




   กลุ่ม ๔            
พระธาตุ – จากเส้นเกศาและเส้นเกศาซึ่งกำลังรวมตัวจะเป็นพระธาตุ




 กลุ่ม ๕           
พระธาตุ – ลักษณะคงสภาพตามรูปของอัฐิและอัฐิที่กำลังแปรสภาพจะเป็นพระธาตุ




 กลุ่ม ๖           
พระธาตุ – ลักษณะและสีนานาชนิด มีทั้ง
- ลักษณะ... กลม รี ยาว ดั่งเมล็ดข้าวโพด เป็นเงามันเลื่อมดั่งมุกดา ใสดุจแก้ว ขุ่นทึบ
- สี....ขาว  เขียวไข่นกการะเวก ดำ เทา เหลืองอำพัน และชมพู เป็นอาทิ

เจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ



รูปลักษณะและการตกแต่ง

องค์เจดีย์  สูง ๓๐ เมตร ตั้งบนเนินดินถมสูง ๗ เมตร รวมมีความสูงจากระดับพื้นดินเดิมถึงยอด ๓๗ เมตร
มีความหมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ หรือ ธรรมเพื่อการตรัสรู้ ๓๗ ประการ


สัญฐาน เป็นรูป ๘ เหลี่ยม ทรงกรวย
ส่วนล่าง เป็นฐาน  หมายถึง  ทาน  ศีล  ภาวนา
กว้าง ๑๐.๕ เมตร
ส่วนกลาง มี ๘ ชั้น แสดงสัญลักษณ์ของ มรรค ๘
ส่วนยอด หมายถึง  นิพพาน

การตกแต่ง

ฐานส่วนล่าง  ประดับหินแกรนิตสีดำและภาพปั้นลายประติมากรรมดินเผาด่านเกวียน ( ลายปั้นเป็นประวัติย่อของท่าน )
ส่วนกลาง ปรับด้วยโมเสคแก้วสีชมพูอมแดง สีเดียวกับสีหินของภูทอก
ส่วนยอด ประดับด้วยโมเสคแก้วเช่นเดียวกันแต่เป็นสีชมพูสว่างเรืองแห่งการหลุดพ้น ไปสู่นิพพาน

การตกแต่ง ผนังตกแต่งด้วยหินอ่อนแก้ว ( Onyx ) เป็นลายยาวดุจม่านแก้ว พื้นเจดีย์ปูด้วยหินแกรนิตแก้วสีดำเหลือบมุก ผนังด้านหลังตอนกลาง เป็นแท่นหินอ่อนแก้ว ที่ประดิษฐานรูปปั้นเหมือนของท่านพระอาจารย์จวน   กุลเชฏโฐ ในท่ายืน  สูง  ๒.๘ เมตร  มีภาพประติมากรรมดินเผาด่านเกวียนเป็นฉากเบื้องหลัง  โดยรอบเป็นตู้แสดงอัฐบริขาร    

มณฑปพระธาตุ ตั้งอยู่ภายในองค์เจดีย์ ณ ตรงจุดศูนย์กลางแห่งเจดีย์ ซึ่งตรงกับจุดที่ตั้งจิตตกาธาน บนเมรุที่ถวายเพลิงเผาสรีระร่างของท่าน เป็นมณฑปรูป ๘ เหลี่ยมทำด้วยหินแกรนนิตสีเทา ไม่ขัดมัน ส่วนยอดปิดทอง

ประตูเจดีย์ บานประตูเป็นไม้ประดู่แผ่นเดียว แกะสลักด้วยลายที่เรียบง่าย ปิดทองและกระจกเพื่อรักษาเนื้อไม้กลางประตูด้านในเป็นรูปนกยูง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงคาถายูงทอง ของ ท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตมหาเถระ  ที่ศิษย์ของท่านทุกองค์ระลึกถึงด้วยความเคารพและสวดสาธยายเป็นประจำ...นะโม วิมุตตานัง  นะโม วิมุตติยา

เหนือซุ้มประตู รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญอักษรย่อพระปรมาภิไธย  “ ภ.ป.ร. “ ประดิษฐานเหนือซุ้มประตูทั้ง ๓ ด้าน

ลานเจดีย์ ลานรอบองค์เจดีย์ เป็นรูป ๘ เหลี่ยม เช่นกัน กว้าง ๓๔ เมตร ปูกระเบื้องแผ่นเรียบ สีเทาอมเขียว ผนังของส่วนยกพื้นรอบลานใช้กรวดล้าง พื้นม้านั่งโดยรอบใช้หินอ่อนแก้ว

เนินดินรอบเจดีย์ จัดทำสวน ลดหลั่นกันลงไปเป็นชั้นตามระดับดิน ลงไปจนถึงบริเวณพื้นดินเดิมรวมทั้งอาณาบริเวณโดยรอบกลายเป็นสวนเจติยาคีรีวันอันสงบร่มรื่น







วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ ประวัติความเป็นมา - สถานที่ควรแก่การปฎิบัติภาวนา


ภูทอก ประวัติความเป็นมา
    ภูทอก ในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว เป็นที่ตั้งของวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) อยู่ในอาณาเขตบ้านคำแคน ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จ.บึงกาฬ ภูทอกมี 2 ลูกคือ ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย ส่วนที่นักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถชมได้คือภูทอกน้อย ส่วนภูทอกใหญ่อยู่ห่างออกไป ยังไม่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวไปชมได้ตามปกติ ในอดีตอาณาบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย ต่อมาพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้เริ่มเข้ามาจัดตั้งเป็นแหล่งบำเพ็ญเพียร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบ เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณะธรรมของภิกษุ-สามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป

    ในเวลาต่อมา ก่อนที่พระอาจารย์จวนจะละสังขาร ได้เล็งเห็นการณ์ไกลที่จะช่วยเหลือชาวบ้านแถวนี้ให้มีรายได้อย่างยั่งยืนและถาวร เป็นการตอบแทนบุญคุณญาติโยมที่มีอุปการะ จึงได้ริเริ่มจัดสร้างสะพานไม้และบันไดขึ้นชมทัศนียภาพรอบ ๆ ภูทอก เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธรักษ์ คือการท่องเที่ยวในเชิงการแสวงบุญหรือธรรมจาริก นักท่องเที่ยวจะได้ประโยชน์จากการเที่ยวชมธรรมชาติคือขุนเขาลำเนาไพรและได้ศึกษาพุทธศาสนา ส่วนชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าและธุรกิจร้านอาหาร (เงินจะสะพัด)
    นี่คือการช่วยเหลือประชาชนในแนวทางของพระอริยะ ส่วนพระที่ช่วยเหลือประชาชนโดยการบอกเลขใบ้หวย เป็นการช่วยเหลือที่ไม่จีรังยั่งยืน


บันไดขึ้นภูทอก

    การขึ้นภูทอกนั้น ท่านพระอาจารย์จวนเริ่มก่อสร้างบันไดไม้สำหรับไต่ขึ้นไปในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม บันไดทั้ง 7 ชั้น แตกต่างกัน ดังนี้
 

ชั้นที่ ๑ เมื่อนักแสวงบุญเดินผ่านประตูสวรรค์เข้าไป แม้จะไม่มีป้ายบอก แต่ก็ถือว่าเข้ามาอยู่ในอาณาบริเวณชั้นที่ 1 แล้ว ชั้นที่หนึ่งนี้นักแสวงบุญจะได้สัมผัสกับต้นไม้ใบหญ้าหลากชนิดนานาพันธุ์

 




ชั้นที่ ๒ เป็นบันไดไม้ยาวทอดรับจากชั้นที่ 1 (ดูภาพประกอบ) เมื่อเดินตามสะพานไม้ไปเรื่อย ๆจะเห็นสถานีวิทยุชุมชนของวัดอยู่ด้านขวามือ ชั้นที่หนึ่งและสองมีทัศนียภาพที่ไม่ต่างกันมากนัก





    ชั้นที่ ๓ เป็นสะพานเวียนรอบเขา สภาพเป็นป่าเขามืดครึ้ม มีโขดหินลานหิน สุดทางชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง (ดูภาพประกอบ) ทางซ้ายมือเป็นทางลัดผ่านชั้น 4 ไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลยซึ่งเป็นทางค่อนข้างชัน ผ่านซอกหินที่มีลักษณะเหมือนอุโมงค์ ส่วนทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4 แล้ววกขึ้นชั้นที่ 5 เป็นทางอ้อม (ขอแนะนำว่าควรขึ้นทางนี้ แล้วลงทางนั้น(ทางลัด))

    ชั้นที่ ๔ เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกัน เรียกว่า “ดงชมพู” ทิศตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดิบ มีแม่น้ำลำธารหลายสายไหลผ่าน มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่ โดยเฉพาะมีฝูงกามาอาศัยอยู่มาก จึงเรียกกันว่า ภูรังกา แล้วเพี้ยนมาเป็นภูลังกาในที่สุด ชั้นที่ 4 นี้ จะเป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีที่พักผ่อนระหว่างทางเป็นระยะๆ






    ชั้นที่ ๕ หรือชั้นกลาง เป็นชั้นที่สำคัญที่สุดแต่ไม่ได้สวยที่สุด (สวยที่สุดคือชั้น 6) มีศาลากลางและกุฏิที่อาศัยของพระ และเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนไว้ด้วย ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ฯลฯ ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 มีที่พักเป็นลานกว้างอยู่ราว 20 แห่ง มีหน้าผาชื่อต่างๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต ฯลฯ ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พุทธวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน และมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 6




    พุทธวิหาร แปลว่า สถานที่พักผ่อนของท่านผู้ตรัสรู้แล้ว เป็นสถานที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่พระอริยหลายองค์มาพักผ่อนและละสังขารที่นี่ มีลักษณะที่แปลกและน่าอัศจรรย์ที่สุด คล้ายกับพระธาตุอินทร์แขวนที่ประเทศพม่า ปัจจุบันมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหาร
    ในอดีตก่อนที่จะมีการสร้างสะพานไม้เชื่อมต่อ บุคคลธรรมดาไม่อาจข้ามมาที่พุทธวิหารได้ เพราะมีหุบเหวขวางกั้น แต่มีบุคคลอยู่ประเภทหนึ่งที่สามารถปรากฎตัวที่พุทธวิหารได้ คือพระอรหันต์และท่านผู้ทรงอภิญญา ท่านเหล่านี้จะมาพักผ่อนที่พุทธวิหารเองโดยการเดินบนอากาศหรือเหาะข้ามมา เพราะต้องการปลีกวิเวกและไม่ให้ใครมารบกวนได้ ดังนั้น หินประหลาดก้อนนี้จึงถูกเรียกว่า พุทธวิหาร ซึ่งแปลว่า สถานที่พักผ่อนของท่านผู้บรรลุแล้ว  
    ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหารแล้วก็ตาม แต่นักแสวงบุญทั่วไปก็ไม่อาจเข้าไปสัมผัสพุทธวิหารใกล้ชิดกว่านี้ได้ เพราะทางวัดปิดประตูไว้ เนื่องจากเทวดาที่รักษาพระบรมสารีริกธาตุทนเหม็นกลิ่นสาบมนุษย์ไม่ไหว ทางวัดจึงอนุญาตให้นักแสวงบุญมาได้แค่ปากประตูเท่านั้น (แค่นี้ก็ดีแล้ว)
    ความอัศจรรย์ของพุทธวิหาร คือ หินก้อนนี้แยกตัวออกมาจากหินก้อนใหญ่แล้ว แต่ไม่ตกลงมา เพราะตั้งอยู่ได้ฉากกับพื้นโลกพอดี ข้อนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่รู้ เพราะไม่ค่อยสังเกต หากอยากเห็นชัด ๆ ให้เดินมาที่ฐานของพุทธวิหาร จะเห็นได้ชัด หรือสังเกตุดูที่ภาพถ่ายก็ได้ การที่พุทธวิหารตั้งอยู่ได้โดยไม่ตกลงมาถือได้ว่า น่าอัศจรรย์พอ ๆ กันกับพระธาตุอินทร์แขวน
    สะพานหิน ยาวทอดตัวออกมาจากภูทอก ยื่นออกมาทางพุทธวิหาร (ดูภาพประกอบ) เมื่อยืนบนสะพานหินจะสามารถมองเห็นภูทอกใหญ่และมองเห็นทัศนียภาพสองฟากฝั่งได้อย่างชัดเจน รวมทั้งสูดอากาศที่บริสุทธิ์ด้วย คล้ายกับอยู่บนสรวงสวรรค์ก็มิปาน
    สะพานไม้ มีความยาวประมาณ 10 เมตร เป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินและพุทธวิหาร เป็นดุจสิ่งที่เชื่อมต่อโลกสวรรค์และแดนนิพพานเข้าด้วยกัน เมื่อยืนอยู่บนสะพานไม้แล้วมองลงไปด้านล่าง จะเห็นแต่ต้นไม้และหุบเหวที่ลึกสุดหยั่ง (คนขวัญอ่อนมิควรมองลงไป) จะทำให้ทราบว่า บุคคลที่สามารถข้ามจากสะพานหินเพื่อไปบำเพ็ญเพียรหรือพักผ่อนที่พุทธวิหารได้ ต้องมิใช่บุคคลธรรมดา
    เมื่อมาถึงชั้นที่ 5 แล้ว ต้องมาที่สะพานหิน สะพานไม้ และข้ามมาที่พุทธวิหารให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่ามาไม่ถึงภูทอก (อย่าลืมถ่ายรูปไว้ด้วย)





    ชั้นที่ ๖ เป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขา มีความยาว 400 เมตร เป็นชั้นที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมทัศนียภาพรอบ ๆ ภูทอกได้ดีที่สุดและสวยที่สุด สิ่งศักดิ์สิทธิ์และน่าชมที่สุดของชั้นนี้คือ ปากทางเข้าเมืองพญานาคซึ่งอยู่หลังพระปางนาคปรก มีจุดให้สังเกตุคือมีรอยสีขาวขูดติดกับหินปูน ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นรอยถลอกที่เกิดจากท้องพญานาคสัมผัสกับหิน และมีบ่อน้ำเล็ก ๆ ขังอยู่เกือบตลอดปี (ดูภาพประกอบ)  
    การถ่ายภาพพุทธวิหารให้ได้ภาพงดงามที่สุด ต้องถ่ายซูมจากชั้นที่ 6





    ชั้นที่ ๗ จากชั้นที่หกขึ้นมาชั้นที่เจ็ด จะมีบันไดไม้พาดขึ้นมา เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านมาแล้วจะเจอทางแยก 2 ทางเพื่อขึ้นไปบนดาดฟ้าชั้น 7 ทางแรกเป็นทางชัน ต้องเกาะเกี่ยวกิ่งและรากไม้โหนตัวขึ้นด้านบน นักท่องเที่ยวจะได้ความสนุกผจญภัยดุจขึ้นเขาคิชฌกูฏ(จันทบุรี) อีกทางหนึ่งเป็นทางอ้อมต้องเดินเวียนไปทางขวามือ แต่จะมาบรรจบกันด้านบน ทางนี้เหมาะสำหรับคนแรงน้อย คนเฒ่า-คนแก่และเด็ก ๆ
    สำหรับชั้นที่เจ็ดบนดาดฟ้านั้นมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นชั้นมหัศจรรย์อีกชั้นหนึ่ง เพราะนักท่องเที่ยวบางคนประทับใจมาก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างใด ๆ มีเพียงป่ากับต้นไม้ ส่วนบางคนไม่ประทับใจเลย บอกว่าไม่เห็นมีอะไร ส่วนพวกนักท่องเที่ยวผู้มีตาทิพย์หรือมีญาณวิเศษก็บอกว่า ต้นไม้บนดาดฟ้าชั้นที่เจ็ดเป็นวิมานของพวกเทวดาเต็มไปหมด ดังนั้น คนที่ไม่มีบุญหรือบุญไม่พอ จะไม่มีโอกาสได้มาถึงชั้นเจ็ดอย่างแน่นอน ถึงเดินมาก็มาไม่ถึง หรืออาจเดินหลงทางหรือหาทางขึ้นไม่เจอก็เคยมี
    นักท่องเที่ยวผู้มาจากแดนไกล เมื่อมีโอกาสแล้ว ควรหาโอกาสปีนมาให้ถึงชั้น 7 จะได้ไม่คาใจ (สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น)

หมายเหตุ
    ชั้น 3 - 6 สามารถเดินเวียนรอบได้ ส่วนชั้นนที่ 5 - 7 เป็นแดนสวรรค์ เป็นที่อยู่ของเทวดาชั้นสูง นักแสวงบุญหรือนักท่องเที่ยวต้องสำรวมระวังกาย วาจา และใจให้มาก ถ้าจะให้ดีกว่านั้นหรือถ้ามาเป็นหมู่คณะ ควรรวมกลุ่มกันสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยให้เหล่าเทพฟังด้วยก็จะดี เป็นการนำบุญมาฝาก
    ภูทอก คือแดนสวรรค์ที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้โดยที่ไม่ต้องรอให้ตายจริง




ข้อควรปฏิบัติก่อนขึ้นเขา

    เนื่องจากวัดไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวหรือแหล่งทัศนาจร หากแต่เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของชาวพุทธเป็นสำคัญ ผู้เข้าเยี่ยมชม-กราบไหว้ควรปฏิบัติตามกฎที่ทางวัดตั้งไว้อย่างเคร่งครัด คือ
    ๑. ห้ามนำสุรา-อาหารไปรับประทานบนยอดเขาโดยเด็ดขาด
    ๒. ห้ามส่งเสียงดังรบกวนพระ-เณรที่กำลังภาวนา
    ๓. ห้ามขีดเขียนสลักข้อความลงบนหิน
    ๔. ห้ามทำลามกอนาจารฉันท์ชู้สาวและควรแต่งกายให้สุภาพ
    (อสุภาพสตรี (แปลว่า สตรีที่แต่งกายไม่สุภาพ) นุ่งน้อย-ห่มน้อย-เสื้อ-กระโปรง-กางเกงสั้น ห้ามขึ้นโดยเด็ดขาด)

สาเหตุที่ห้าม
    ๑. เนื่องจากที่แห่งนี้มีนาค (งู) อาศัยอยู่มาก และงูเหล่านี้ถือศีลงดกินเนื้อสัตว์ หากได้กลิ่นอาหารจะทำให้ตบะแตกแล้วเลื้อยออกมาหาอาหาร จะทำให้นักท่องเที่ยวพบสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์และจะเป็นอันตรายสำหรับภิกษุ-สามเณรที่อยู่ประจำ
    ๒. หากอนุญาตให้นำอาหารไปทานบนภูทอกได้ ไม่ช้าภูทอกก็จะเต็มไปด้วยขยะ ระบบนิเวศน์และทัศนียภาพที่สวยงามจะเสียหาย
    ๓. อสุภาพสตรีที่แต่งกายไม่สุภาพ ทำให้บุรุษเพศหรือภิกษุ-สามเณรเห็นแล้วเกิดความกำหนัดคือเกิดกิเลส แม้มนุษย์ด้วยกันจะไม่รู้ แต่เทพยดาที่นี้จะรู้ ดังนั้นจึงได้ห้ามเด็ดขาด




การเดินทาง
    ภูทอกอยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคายประมาณ 185 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอโพธิ์ชัย อำเภอปากคาด และจังหวัดบึงกาฬ แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล จากอำเภอศรีวิไลมีทางแยกซ้ายผ่านบ้านนาสิงห์ บ้านสันทรายงาม สู่บ้านนาคำแคน ถึงภูทอกเป็นระยะทางอีก 30 กิโลเมตร